สกมช. อว. และกลุ่มที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย ร่วมทำ MOU ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

สกมช. อว. และกลุ่มที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย ร่วมทำ MOU ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

สกมช.ผนึกกำลัง กระทรวง อว. และกลุ่มเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ปั้น นักไซเบอร์ รุ่นใหม่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

10 มิถุนายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดย พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมลงนามใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 4 เครือข่าย ได้แก่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น ๕ อาคารการอุดมศึกษา ๑ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สำหรับบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยกระดับการดูแล การรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งประสานงาน สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายในการผลิตกำลังคนเฉพาะด้านพัฒนาทักษะ รวมทั้งการปฏิบัติตามนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

สกมช. อว. และกลุ่มที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย ร่วมทำ MOU ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ และความเจริญก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน มีการใช้งานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็ก่อให้เกิดช่องโหว่ต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งนี้ แนวทางในการดำเนินการต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ใช้ได้ผลดีคือการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกัน เพราะลักษณะของภัยทางไซเบอร์นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบหรือจำกัดอยู่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่หากสามารถส่งผลกระทบและแพร่กระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องพันธกิจหนึ่งของ สกมช. คือ การแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในประเทศ หน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมการเพื่อจะลงนามบันทึกความร่วมมือ กับประเทศอิสราเอล จีน อินเดีย อังกฤษ และอีกหลายประเทศ รวมถึงหน่วยงานในประเทศเช่น กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามแนวนโนบายของ ฯพณฯ ท่าน นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายไว้ 
 

สกมช. อว. และกลุ่มที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย ร่วมทำ MOU ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย กล่าวถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันอุดมศึกษาไทย ดังนั้นในแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ จึงระบุชัดเจนว่า สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลายองค์กรมีการปรับตัว รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งได้เล็งเห็นความสำคัญของ Digital Transformation มากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคของคนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา เมื่อคนเริ่มหันมาสนใจและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น การดำเนินงานขององค์กรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการปฏิบัติงานสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่จึงต้องเร่งการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้สามารถก้าวสู่ “Digital University” ที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบการศึกษาด้วยการใช้ Digital Transformation ให้เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สถาบัน อุดมศึกษา

รองศาสตราจารย์ ดร.วรา วราวิทย์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการของคณะกรรมการชุดนี้ ในปี ๒๕๖๔ ว่า ได้มีการดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โครงการศึกษาและพัฒนา EA for HE โครงการจัดหาซอฟต์แวร์กลาง โครงการวิเคราะห์ข้อมูล TCAS และโครงการความร่วมมือกับ สกมช.

สกมช. อว. และกลุ่มที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย ร่วมทำ MOU ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตร การให้ความรู้นิสิตนักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกันเพื่อให้มีการดำเนินการเชิงปฏิบัติการที่มีลักษณะบูรณาการ และนโยบายของกระทรวงที่ต้องการให้มีหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนอย่างแท้จริง นำไปสู่การใช้งานจริงสนองนโยบายของประเทศโดยตรง ในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นหลักสูตรแรกที่กำลังจัดทำ เพราะกำลังคนสมรรถนะสูงในด้านนี้ภายในประเทศถือว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนอีกทั้งการเฝ้าระวังและการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะสามารถส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก

พลอากาศตรี อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมทั้งให้ สกมช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติ และประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง อันจะทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ทั้งนี้ เป้าหมายในปีนี้ อว. ทปอ. และ สกมช. จะร่วมกันพัฒนาคณาจารย์ให้พร้อมในการสอนหลักสูตรด้าน Cybersecurity และพัฒนาบัณฑิตผ่านโครงการ Sand Box อย่างน้อยปีละ 1,000 คน เพื่อให้ประเทศมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต่อไป