เด็กไทย สุดเจ๋ง ใช้เทคโนโลยีดาต้า อนาลิติกส์ แก้ปัญหาสังคม
ผ่านการแข่งขัน “อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์” (ASEAN Data Science Explorers หรือ ADSE) ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาเซียน ร่วมกับ เอสเอพี
ในขณะที่โลกกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น หนึ่งในทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่จับตามอง คือ ดาต้า อนาลิติกส์ หรือการวิเคราะห์เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึกซึ่งคือหนึ่งในทักษะดิจิทัลที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญ โดยองค์กรต่างๆ ต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านดาต้า อนาลิติกส์ จะสามารถช่วยวิเคราะห์เทรนด์ของตลาดและข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจได้ ยิ่งไปกว่านั้น ดาต้า อนาลิติกส์ ยังถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาสังคม
ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสองคน ได้แก่ นายอัมรินทร์ อุดมผล และนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ จากคณะบริหารธุรกิจ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดาต้า อนาลิติกส์ ผ่าน การแข่งขัน “อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์” (ASEAN Data Science Explorers หรือ ADSE) ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาเซียน ร่วมกับ เอสเอพี โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนในภูมิภาคอาเซียนมาร่วมวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกโดยใช้ซอฟต์แวร์อนาลิติกส์ คลาวด์ ของเอสเอพี เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ 6 เป้าหมาย ได้แก่ (1) สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี (2) การศึกษาที่มีคุณภาพ (3) ความเท่าเทียมทางเพศ (4) การทำงานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (5) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ (6) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งมีเยาวชนกว่า 5,000 คน จาก 175 สถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนได้เข้าร่วมโครงการนี้ และในปีนี้มีจำนวนโครงการที่ถูกส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงสามเท่า และมีทีมนักเรียน 801 คน จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรม เข้าร่วมพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม
นายอัมรินทร์ อุดมผล หรือวิน จากคณะบริหารธุรกิจ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยความรู้สึกว่า “ผมมีความฝันว่าอยากเรียนดาต้า ไซเอนซ์ (data science) มานานแล้วครับ แต่ไม่ค่อยมีคอร์สในเมืองไทยในตอนนั้น จึงหันมาเรียนด้านธุรกิจ แล้วก็ตั้งใจว่าค่อยเรียนต่อไปทางนั้นในภายหลัง ผมได้มาเจอกับโครงการนี้จากเฟสบุ๊คของมูลนิธิอาเซียน ซึ่งบอกว่าเราไม่ต้องกังวลเรื่องทักษะเลยเพราะทางโครงการจะช่วยสอนเอง ผมก็เลยคิดว่ามันเจ๋งดีที่จะให้โอกาสกับตัวเองลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วก็พบว่าผมคิดไม่ผิดเลย เป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง อันดับแรก ผมได้เข้าใจจากโครงการนี้ว่าทำไมคนบางคนถึงเรียกดาต้าว่า the new currency เพราะทักษะด้านดาต้า อนาลิติกส์ มีความสำคัญมากๆ ซึ่งประเทศไหนหรือองค์กรไหนก็สามารถใช้ได้ อยู่ที่ว่าคุณจะมองเห็นโอกาสหรือเปล่า อันดับที่สอง ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของเอสเอพี ในการช่วยระบุปัญหาและแก้ปัญหาสังคม ซึ่งเทคโนโลยีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านธุรกิจเท่านั้น และอันดับสุดท้าย ผมได้เรียนรู้ด้านการเข้าสังคมใหม่ๆ ด้านการทำงานเป็นทีม การพูดคุย และการสร้างทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญในสังคมปัจจุบัน ผมประทับใจมากที่ได้ร่วมโครงการนี้ ที่นี้คือเวทีที่เปิดโอกาสให้ผมได้พูดในสิ่งที่ผมคิดและสิ่งที่ผมอยากทำ และเปิดโลกทัศน์ให้ผมได้มองเห็นอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน”
ทั้งนี้ ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยได้วิเคราะห์ข้อมูลผ่านซอฟต์แวร์ของเอสเอพี และค้บพบสถิติที่น่าสนใจว่าอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาช่วงอายุ 13-17 ปี ในอาเซียน มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความขาดแคลนของบุคลากรทางสุขภาพจิต (ต่ำกว่า 1:100,000) และงบประมาณคืออุปสรรคที่ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จึงเลือกนำเสนอประเด็นด้านสังคมนี้ในเวทีการแข่งขันพร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ไข โดยนายอัมรินทร์กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาทางสังคมที่ค้นพบว่า “สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักของคนในอาเซียนต่อสุขภาพจิตของนักเรียนมัธยมฯ ซึ่งหลายคนอาจมองข้าม และไม่ได้มีการตั้งนโยบายที่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าเยาวชนก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”
ในขณะที่นักศึกษาทีมอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม จากการใช้เทคโนโลยี ดาต้า อนาลิติกส์ ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาชุมชนแออัดให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน การเสริมสร้างทักษะและความรู้ด้านผู้ประกอบการ รวมถึงการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าทางทะเลในภูมิภาค
แล้วดาต้า อนาลิติกส์ จะช่วยสร้างสะพานไปสู่อนาคตของประเทศได้อย่างไร? ในประเด็นนี้ นายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ หรือเจมส์กล่าวว่า “ทักษะด้าน ดาต้า อนาลิติกส์เป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะเราจะสามารถหาข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อหาอินไซต์ที่แสดงถึงปัญหาออกมาได้ จากตรงนี้เราก็จะต้องคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าบุคลากรของประเทศมีทักษะด้านนี้เพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยพัฒนากระบวนการคิดให้เป็นระบบมากขึ้นและมีการวางแผนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่มีในสังคมได้ดีและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”
แม้ว่าในปีนี้โครงการของเยาวชนไทยจะไม่ได้คว้ารางวัลชนะเลิศ แต่สิ่งที่พวกเขาได้มีคุณค่ากว่านั้นมาก “สิ่งที่ผมได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้คือการก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวผมเองและหันมาเรียนรู้ทักษะดิจิตัลใหม่ๆ ผมมองว่าเยาวชนไทยทุกคนควรรู้จักแสดงความคิดเห็น ควรพูดเสียงของตัวเองออกมา โดยใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานรองรับ เราจำเป็นต้องรู้จักการค้นหาข้อมูล การคิดและการวางแผนอย่างเป็นระบบ ความรู้เกี่ยวกับดาต้า อนาลิติกส์ มีความสำคัญกับอนาคตของเราอย่างมาก นี่คือทักษะที่เราจะมองข้ามไม่ได้เลย” นายธีระพงษ์กล่าว
นาง อีเลน ตัน ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า "การศึกษาเป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญของการบูรณาการอาเซียนและแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุนี้โครงการริเริ่มต่างๆ เช่น อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์ จึงช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนมีทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะด้านดิจิทัลที่ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้จากโครงการต่างๆ ที่ส่งเข้ามาร่วมประกวด เป็นที่น่ายินดีที่ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ ความทุ่มเทในการทำงานเป็นทีมเพื่อพัฒนานวัตกรรมอย่างเต็มที่ เพราะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเยาวชนในภูมิภาคนี้ที่ล้วนใส่ใจต่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้นของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่”
นางสาวเวเรน่า เซียว กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า บริษัท เอสเอพี ซิสเต็มส์ แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ โปรดักส์ อิน ดาต้า โปรเซสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ในนามตัวแทนผู้ร่วมจัดการแข่งขัน ADSE กล่าวว่า "สำหรับเอสเอพี นวัตกรรมเป็นมากกว่าเครื่องมือสู่ความเติบโตทางธุรกิจ แต่คือสะพานสู่ความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นของสังคม โดยความร่วมมือของเรากับมูลนิธิอาเซียนในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ส่งผลดีอย่างมากต่อการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม เรารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเสริมทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนซึ่งคืออนาคตของประเทศไทย พร้อมมอบแพลตฟอร์มพื้นฐานที่จะช่วยสร้างประโยชน์ทางสังคมให้ชุมชนที่พวกเขามีส่วนร่วมดูแล เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อนรับเยาวชนหรือบุคคลที่สนใจเข้าร่วมโครงการในปีต่อๆ ปี เพื่อให้ดาต้า อนาลิติกส์เป็นหนึ่งในสะพานที่ทอดสู่อนาคตของประเทศไทยอย่างมั่นคง ทั้งในเชิงรายได้และเชิงคุณค่า”