จากเกาะยูงถึงอ่าวมาหยา "ปิด" เพื่อความยั่งยืน

จากเกาะยูงถึงอ่าวมาหยา "ปิด" เพื่อความยั่งยืน

ความสมดุลระหว่างรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ที่ถูกปล่อยปละมานาน ถึงเวลาแล้วที่ต้อง “ปิด” เพื่ออนาคต

หากนับเฉพาะการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติของไทยแล้ว อุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นที่นิยมและทำรายได้มากกว่าอุทยานแห่งชาติทางบกรวมกันเสียอีก

ปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาอุทยานแห่งชาติราว 5 ล้านคนนั้น มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล 4 ล้านคน เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี ก็ดึงนักท่องเที่ยวไปแล้ว 2 ล้านคน

tourist

แล้วอะไรที่จะเกิดขึ้นตามมา เมื่อนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลไปกระจุกตัวอยู่ไม่กี่แห่ง ไม่ใช่เพียงแค่รายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปีเท่านั้น

ที่ไหนมีคนเยอะเกินพอดี ที่นั่นมักมีความวุ่นวาย และความบุบสลายตามมา

ยกตัวอย่าง เกาะยูง เกาะเล็กๆ ที่มีปะการังน้ำตื้น ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเคยดำน้ำที่เกาะยูงราว 10 ปีก่อน ถึงกับตกใจ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขากลับไปดำน้ำที่เกาะยูงแล้วเห็นปะการังตายราบ เหลือแต่กิ่งหักๆ กับฝุ่นทับถมเหมือนสุสาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกาะยูงเป็นเกาะที่เรือท่องเที่ยวนิยมพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำดูปะการรังน้ำตื้นและให้อาหารปลา โดยนำเรือเข้าหาด ทิ้งสมอลงปะการัง โดยไม่มีการจำกัดบริเวณ

yung

เกาะยูง ซึ่งมีการกั้นทุ่นให้เป็นเขตสงวนห้ามท่องเที่ยว

ก่อนหน้านั้น ดร.ธรณ์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ เขาบอกว่าที่ผ่านมาคือการเสนอแผนทำงานบนกระดาษมาตลอด แต่ไม่มีงบประมาณและโครงการใดๆ เมื่อแผนงานในกระดาษไปไม่ถึงทะเล ทะเลก็โดนย่ำยีอยู่ทุกวัน แต่ไม่ใช่ความผิดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพราะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลงานในพื้นที่ก็มีงานล้นมืออยู่แล้ว การจะทำเรื่องนี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกทิศทาง

เขาค่อยๆ เป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงที่ผลักดันทำโครงการฟื้นฟูขึ้น และโครงการสำคัญก็คือการปิดเกาะยูง โดยร่วมงานกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทำให้ในปี 2559 ทางกรมฯ ได้ปรับเปลี่ยนการจัดการอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี ด้วยการปิดเกาะยูง ซึ่งแต่เดิมมีแนวปะการังสมบูรณ์ โดยให้เป็นเขตหวงห้าม (Strict Nature Reserve Zone) ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ยกเว้นการศึกษาวิจัยที่ต้องได้รับอนุญาตก่อน เพื่อให้เป็นเขตฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ (Recovery Zone) อนุรักษ์ให้แนวปะการังกลับมา

รวมถึง จากการจัดระเบียบเรือในจุดที่กระทบทั้งธรรมชาติและทัศนียภาพการท่องเที่ยว เช่น ทะเลแหวก ที่เมื่อก่อนจอดเรือกันจนมองไม่เห็นความแหวกของทะเล และอื่นๆ

ต่อมาเมื่อมีความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ ก็เกิดการผลักดันการทำงานร่วมกันให้เกิดขึ้นระหว่าง รัฐ และเอกชน ให้เป็นโครงการ “พีพีโมเดล” ขึ้นมา โครงการที่มีแรงส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ

และที่ต้องเป็นที่พีพีก่อน ก็เพราะว่าหมู่เกาะแห่งนี้ “โดนหนัก” จนเกือบจะไร้ความหวัง แต่ตอนนี้ “พีพีกำลังจะเปลี่ยนไป”

จากเกาะยูงถึงอ่าวมาหยา

การปฏิรูปและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลด้วย “พีพีโมเดล” เพื่อในที่สุดแล้วจะหาระบบซึ่งนำไปปรับใช้กับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ กว่าจะมาถึงพีพีโมเดล ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ทดลองโมเดลอื่นๆ มาก่อน เช่น การปิดหมู่เกาะสุรินทร์ ตามมาด้วยการปิดเกาะยูง ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็ให้ความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ในระยะยาว

เกาะยูง_๑๘๐๕๑๔_0002

ภาพเปรียบเทียบการฟื้นฟูของปะการังที่เกาะยูง หลังการปิดเกาะ ภาพโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

แต่เดิมปะการังที่เกาะยูงเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และปลาก็นิสัยเสีย คือเห็นคนก็ชอบว่ายเข้ามาหาเพราะเคยชินกับขนมปังจากนักท่องเที่ยว แต่เมื่อปิดเกาะปะการังก็เติบโตกลับมา 80 เปอร์เซ็นต์ภายใน 2 ปี ซึ่งปลูกปะการังเพิ่มเพียงเล็กน้อย ที่เหลือแค่ปล่อยไว้ ธรรมชาติก็จะทำงานเอง และปลาก็ไม่ว่ายมาหาคนแล้ว กลับมามีพฤติกรรมเดิมตามธรรมชาติ

วัดผลการเติบโตของปะการัง โดยเก็บข้อมูลด้วยภาพถ่ายภาพจากที่สูง (Arial Photo) วัดพื้นที่ปะการังที่ขยายออกไป รวมทั้งภาพถ่ายใต้น้ำ ที่อนุญาตเฉพาะเจ้าหน้าที่ และเพื่อการศึกษาเท่านั้นลงสำรวจ

ภาพเกาะยูงจากคณะประมง ม.เกษตร14_01

ภาพปะการังที่ฟื้นฟูแล้ว ที่เกาะยูงหลังน้ำลด   ภาพโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

การปิดเกาะเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติได้ความร่วมมือจากหลายเรี่ยวแรง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในส่วนของการฟื้นฟูธรรมชาติบนเกาะ เช่น ป่าและพันธุ์พืชนั้น ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนงานด้านฟื้นฟูทรัพยากรใต้ทะเล ดร.ธรณ์ทำงานร่วมกับกรมอุทยาน และบริษัท สิงห์ เอสเตท ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในหมู่เกาะพีพี เพราะการทำธุรกิจต้องเดินคู่ไปกับความยั่งยืน จึงได้ก่อตั้งแผนก Sustainable Development ประกอบไปด้วยคนทำงานที่มีความรู้สายตรงด้านงานอนุรักษ์ สำหรับโครงการนี้ก็เป็นนักธรรมชาติวิทยาทางทะเลที่มีความรู้เกี่ยวกับทะเลและสัตว์น้ำ ทางบริษัทได้สนับสนุนทั้งแรงคนและอุปกรณ์สำหรับสำรวจ ศึกษา เพื่อนำธรรมชาติกลับคืนมา

และความสำเร็จจากการปิดเกาะยูงก็เป็นที่มาสำคัญของการปิดอ่าวมาหยา เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและจัดระบบการท่องเที่ยวใหม่

ควบคุมและจัดการระบบท่องเที่ยวใหม่

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ประกาศปิดอ่าวมาหยา เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน - 30 กันยายน 2561 เพื่อทำการสร้างท่าเทียบเรือที่อ่าวโละซามะ ซึ่งอยู่ด้านหลังอ่าวมาหยา ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตร เพื่อปิดการนำเรือเข้าทางหน้าอ่าวมาหยาอย่างถาวร และเปลี่ยนมาเข้าอ่าวมาหยาจากทางอ่าวโละซามะเท่านั้น

ภูมิประเทศเดิมของอ่าวมาหยามีปะการังน้ำตื้น ตื้นขนาดที่ว่าเดินลงจากหาดเพียง 5 ก้าวก็เจอปะการัง แต่ปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็น เพราะเรือสปีดโบ๊ทและเรือหางยาวเข้ามาส่งนักท่องเที่ยวทุกวัน รบกวนปะการังจนตายและฟื้นกลับมาไม่ทัน ขณะที่ชื่อเสียงและความงดงามของอ่าวมาหยา ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวขึ้นอ่าวมาหยา 3,000 – 4,000 คนต่อวัน กับเรือที่ทิ้งสมอลงบนผืนทรายและปะการังกว่า 200 ลำ

_MG_6777

นักท่องเที่ยวทะลักอ่าวมาหยา

แม้จะมีความพยายามกั้นพื้นที่ด้วยทุ่น แบ่งเป็นโซนอนุรักษ์ โซนจอดเรือ และโซนเล่นน้ำ แต่เรือที่เข้ามาทุกวันก็ไม่ได้ทำให้โซนอนุรักษ์ที่อยู่ใกล้กันฟื้นตัวได้ แถมเครื่องยนต์เรือที่เข้ามาก็ยังปั่นทรายออกไป ทำให้ทรายยุบตัว น้ำลึกอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวเล่นน้ำได้ไม่เต็มที่ และยังมีผลต่อการยึดเกาะของพืชชายฝั่งอีกด้วย การปิดทางเข้าด้านหน้าอ่าวมาหยาถาวรจึงเป็นคำตอบที่จะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบกให้คืนมา

losama

มุมมองไปยังอ่าวโละซามะ

ในระหว่างการสร้างท่าเทียบเรือที่อ่าวโละซามะ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังพัฒนาระบบท่องเที่ยวใหม่ โดยใช้การจองตั๋วล่วงหน้าทางออนไลน์ขึ้นมา นักท่องเที่ยวจะได้ E – Ticket เพื่อใช้สแกนขึ้นเกาะ (ซึ่งจะมีประตูสำหรับสแกนสร้างขึ้นที่ท่าเทียบเรือ) เป็นการนับจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย โดยจะจำกัดจำนวนไม่ให้เกิน 2,000 คนต่อวัน

นอกจากที่อ่าวมาหยาแล้ว ระบบนี้ก็จะทยอยนำไปปรับใช้กับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ สำหรับในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี นั้น แหล่งท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการมักจัดแพกเกจเที่ยวให้ครบนั้น ก็มีอ่าวมาหยา เกาะปอดะ เกาะไม้ไผ่ และทะเลแหวก ซึ่งจะสร้างระบบอี - ทิกเก็ตขึ้นเช่นกัน เพื่อบริหารจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม ผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์ และควบคุมจำนวนคน ไม่ให้รบกวนการท่องเที่ยวเกินไป

DJI_0053

เรือที่เคยเข้าจากหน้าอ่าวมาหยา ต่อไปจะกั้นเขตห้ามเข้า และไปสร้างท่าเทียบเรือด้านหลังแทน

อริยะ เชื้อชม ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุทยานแห่งชาติ อธิบายว่าการที่เราเห็นเรือพานักท่องเที่ยวมาลงที่อ่าวมาหยาพร้อมกันนั้น เป็นเพราะเรือต้องอาศัยจังหวะน้ำขึ้นจึงจะเข้ามาจอดเรือได้ นักท่องเที่ยวจึงแห่เข้ามาพร้อมกัน ทุกๆ เวลาน้ำขึ้น แต่เมื่อท่าเทียบเรือที่อ่าวโละซามะสร้างเสร็จแล้ว ก็สามารถเข้าได้ตลอด ท่าเทียบเรือแห่งนี้เป็นระบบลอยตัว (Floating) จากนอร์เวย์ ที่ไม่ต้องตอกเสาเข็มซึ่งเป็นการรบกวนธรรมชาติ และสร้างแนวกันคลื่น ทำให้เรือเข้ามาเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องคลื่นตีลำเรือ

หลังจากท่าเทียบเรือเสร็จแล้ว ระบบที่พัฒนามาคู่กันก็คาดว่าจะเสร็จตามมาภายใน 1 เดือน และโมเดลนี้ก็จะเริ่มขยายไปทำที่อุทยานแห่งชาติอื่นๆ ปรับรายละเอียดให้เหมาะกับแต่ละแห่ง เริ่มจากอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่สิมิลัน เกาะช้าง และเกาะเสม็ด และอุทยานแห่งชาติทางบก รวม 154 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้ประกาศใช้แล้ว 132 แห่ง ซึ่งหากที่ใด การจองล่วงหน้าไม่เต็ม ก็จะมีจุดขายบัตรเข้าด้านหน้าตามปกติ

สร้างความรู้และความรักท้องทะเล

การจะขอความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลนั้น จะเกิดขึ้นได้ยากหากขาดความรู้ คนไม่รู้เรื่องทะเล ก็อาจไม่มีความรัก ความหวงแหน และความใส่ใจ นอกจากการส่งต่อความรู้ภายในห้องเรียน ภายในครอบครัว และชุมชนแล้ว ศูนย์การเรียนรู้เฉพาะทางก็สำคัญเช่นกัน

36

ตู้ปลาการ์ตูนในศูนย์ข้อมูลสำรวจทางทะเล

ในพื้นที่ของโรงแรมพีพีไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ทนั้น ได้เปิดศูนย์ข้อมูลสำรวจทางทะเล หรือ Marine Discovery Centre ขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชมฟรี นอกจากความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำสำคัญที่พบมากแถบเกาะพีพีแล้ว ยังมีบ่ออนุบาลสัตว์น้ำที่ติดอวนชาวประมงขึ้นมา เพื่อนำมาเลี้ยงดูพักฟื้น แล้วนำไปปล่อยคืนสู่ทะเลเหมือนเดิม เช่น บ่อปลาฉลาม และบ่อปลาการ์ตูน และยังมีความรู้รอบอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี และข้อมูลของโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติอีกด้วย

ไม่ว่าคนในพื้นที่ หรือนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ก็สามารถมาซึมซับความรู้ที่ศูนย์แห่งนี้ได้ เพราะอย่างที่บอก การอนุรักษ์นั้นต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือรอบด้านจริงๆ

รายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติสำคัญแค่ไหน ทรัพยากรซึ่งเป็นทั้งความทรงจำและอนาคตของชาติก็สำคัญยิ่งกว่า