การเปิดเผยข้อมูล CSR ในรายงานประจำปี

การเปิดเผยข้อมูล CSR ในรายงานประจำปี

ยังมีกระบวนการทำงานใด ที่องค์กรต้องปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคม หันมาให้ความสนใจการพัฒนาการดำเนินงานที่คำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างมีความเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นทิศทางหลักของโลก ที่นานาประเทศให้ความเห็นชอบร่วมกันสำหรับใช้เป็นกรอบการพัฒนาทั้งในในระดับองค์กรจนถึงระดับประเทศ


ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดเผยในเวทีแถลงทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2556 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญในการสร้างรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุน สังคม และประเทศ ผ่านทางสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาความรู้และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในกำกับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


สำหรับในปี 2556 นี้ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ได้กำหนดแผนงานที่สำคัญซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลักการ CSR ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.0 กล่าวคือ การส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ (Corporate Sustainability Reporting)


ซึ่งในปีที่ผ่านมา สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ได้จัดทำและเผยแพร่คู่มือแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามหลักการรายงานสากล GRI (Global Reporting Initiatives) ขึ้น และในปีนี้ มีแผนที่จะจัดอบรมสัมมนาเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนได้รับความรู้ความเข้าใจและสามารถนำหลักการรายงานดังกล่าวไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม


ปัจจุบัน ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญในการเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลมากขึ้น การจัดทำรายงานเปิดเผยข้อมูลตามหลัก GRI จะทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง เกี่ยวกับกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัทในเรื่องดังกล่าวประกอบการตัดสินใจลงทุน


อีกทั้งการจัดทำรายงานดังกล่าว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่องค์กรต่างๆ สามารถใช้ประเมินตนเอง เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้ทราบว่า ยังมีกระบวนการทำงานใดบ้างที่องค์กรต้องปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน


ในช่วงเสวนา "Integrated CSR Reporting" ยังได้มีการชี้แจงแนวทางการเปิดเผยข้อมูล CSR ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และรายงานประจำปี โดยคุณวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน CSR ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี ส่วนบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ใหม่ ก็ให้เปิดเผยข้อมูลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) โดยประกาศนี้คาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป


ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานด้านวิชาการ ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ได้มีการยกร่างกรอบการรายงานข้อมูล CSR ในเล่มรายงานประจำปี (Integrated CSR Reporting Framework) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียน ในการใช้กรอบการรายงานฉบับดังกล่าว เป็นแนวทางสำหรับจัดทำรายงาน CSR ที่สอดคล้องกับหลักการรายงานสากล GRI


โดยมีเนื้อหาที่แนะนำให้รายงานประกอบด้วย 10 หัวข้อ ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม การต่อต้านการทุจริต การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การจัดการสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามเอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (พ.ศ. 2555) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้น


สำหรับท่านที่ต้องการศึกษาและแสดงความคิดเห็นต่อร่างกรอบการรายงานข้อมูล CSR ในเล่มรายงานประจำปีฉบับดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาพร้อมแบบแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://bit.ly/iCSRreport