เทคนิคการอ่านจับใจความ

เทคนิคการอ่านจับใจความ

สัปดาห์ที่แล้วดิฉันเขียนถึงการอ่านว่าเป็นรากฐานที่ดีของชีวิต มีแฟนคอลัมน์เรียกร้องว่าอยากทราบเทคนิคการอ่านแบบจับใจความ

ซึ่งดิฉันเขียนไว้ว่า “เป็นการอ่านที่ทรงพลังที่สุด และได้ประโยชน์มากที่สุด เวลาเป็นของมีค่า หากเราสามารถจับใจความได้เร็วและแม่นยำ เราทำอะไรก็ได้เปรียบค่ะ เช่น ผู้ที่อ่านข้อสอบและตีโจทย์ได้เร็ว ก็มีโอกาสได้คะแนนสอบสูง ผู้ที่อ่านงานเพื่อหาข้อสรุป หรือหาข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาหรือการตัดสินใจได้ดีและเร็ว ก็จะมีความเจริญก้าวหน้ารวดเร็วด้วย”

สัปดาห์นี้จึงขอฉลองในโอกาสขึ้นปีมะเส็งของไทยด้วยการเล่าเทคนิคในการอ่านจับใจความซึ่งส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ของตัวเองค่ะ

ในการอ่านแบบจับใจความ ผู้อ่านต้องเริ่มต้นด้วยการมีสติ รู้ว่ากำลังอ่านเพื่อจับใจความ เพราะฉะนั้นห้ามหลงใหล หรือ “อิน” ทางด้านอารมณ์ไปกับเนื้อหา โดยส่วนใหญ่เราจะไม่นำเทคนิคอ่านจับใจความไปใช้กับการอ่านนวนิยาย หรือการอ่านบทกวี เพื่ออรรถรสค่ะ ยกเว้นจะเรียนสาขาอักษรศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ และอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบไม่ทัน แบบที่ดิฉันเคยทำเมื่อสมัยเรียน

การอ่านอย่างมีสตินั้น อ่านไปก็ต้องพยายามหาคำตอบอยู่เสมอว่า “ทำไม” “อะไร” “เมื่อไร” “อย่างไร” “ที่ไหน” ในบรรดาคำถามทั้งห้านั้น “ทำไม” เป็นคำถามที่ทรงพลังที่สุด

เทคนิคที่สอง ให้เปิดดูสารบัญหรือเรื่องย่อ (ถ้ามี) เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ก่อน เมื่อเห็นภาพใหญ่แล้วจะทำให้ง่ายขึ้นในการจับใจความค่ะ

หลังจากเปิดดูสารบัญหรือเรื่องย่อ เราควรจะทราบข้อมูล เพื่อตอบคำถาม“อะไร”ดังต่อไปนี้คือ เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร ผู้เขียนต้องการนำเสนออะไร (แบบคร่าวๆ) และมีหลักในการนำเสนออย่างไร เช่น นักเขียนบางคนเริ่มจากการวางหัวเรื่องให้คนสงสัย แล้วค่อยๆ คลี่คลาย เพราะฉะนั้นช่วงท้ายจึงสำคัญ ในขณะที่บางคนจะวางประเด็นหลักไว้ก่อน แล้วจึงหาเหตุผลและประเด็นมาสนับสนุน
เทคนิคที่สาม สรุปความแต่ละบท เพื่อตอบคำถามที่เหลือคือ “ทำไม” “อย่างไร” “ที่ไหน” สมัยก่อนสรุปได้ง่ายกว่าสมัยนี้ เนื่องจากผู้เขียนจะมีรูปแบบการเขียนไม่แตกต่างกันมากนัก ดังเช่นตัวอย่างที่ยกไปแล้ว บางคนจะเขียนใจความหลักของแต่ละย่อหน้าไว้ในประโยคแรก แล้วจึงค่อยๆ อธิบาย เพราะฉะนั้น หากพบการเขียนสไตล์นี้ สามารถอ่านประโยคแรกของแต่ละย่อหน้า ก็จะได้เนื้อหาของย่อหน้าทั้งหมด 100 หน้า อาจจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง

ผู้เขียนบางคนวิธีสรุปความในตอนท้ายของแต่ละย่อหน้า อันนี้ถ้าจับสไตล์ได้ก็อ่านเพียงส่วนท้ายของแต่ละย่อหน้า หรือแต่ละบท

แต่การเขียนสมัยใหม่ ไม่ค่อยมีรูปแบบที่ตายตัวเหมือนสมัยก่อน การแบ่งย่อหน้าก็ต่างกัน สมัยก่อน หนึ่งความคิด หนึ่งย่อหน้า สมัยนี้แบ่งย่อหน้าได้บ่อยๆ บางครั้งยังใช้คำสันธาน (คำเชื่อม เช่น และ เพราะ ซึ่ง ฯลฯ) คอลัมน์ของดิฉันก็เป็นเช่นนั้น เนื่องจากพื้นที่แคบและยาว การกวาดตาอ่านจะทำได้ไม่ถนัด หากเขียนย่อหน้ายาวเกินไป

นอกจากนี้ คนสมัยนี้ไม่ค่อยอดทน เพราะฉะนั้นต้องเขียนอะไรให้กระชับ ได้ใจความ และเมื่อต้องการจะเน้นให้สนใจ อาจขึ้นย่อหน้าใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประเด็นใหม่
เทคนิคที่สี่ คือการทำโน้ตย่อ หรือ Short notes เป็นการบันทึกการสรุปใจความหลักเอาไว้ ประโยชน์ของการทำโน้ตย่อคือ วันหลังมาอ่านก็ไม่ต้องเสียเวลาสรุปความอีก เหมาะสำหรับย่อสรุปสิ่งที่มีความสำคัญ และต้องนำกลับมาใช้หรืออ้างอิงบ่อยๆ รวมถึงโน้ตไว้เพื่ออ่านสรุปก่อนสอบด้วย หากทำโน้ตย่อได้ทุกวิชาที่เรียน รับประกันว่าสอบได้คะแนนดีแน่ๆ ดิฉันทำตลอดเวลาที่เรียนค่ะ โดยเฉพาะวิชาที่มีประเด็นมากๆ จำไม่ไหว

การทำโน้ตย่อ นอกจากจะเป็นการฝึกฝนการย่อความ จับใจความของเรา ซึ่งทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในการเขียนด้วยค่ะ คือพอฝึกทำ“จากยาวให้เป็นสั้น” เวลาเขียนหนังสือหรือบทความ เราอาจสรุปประเด็นที่จะนำเสนอด้วยการทำโน้ตย่อและหัวเรื่องย่อหรือ outline ก่อน แล้วจึงนำมาเขียนฉบับเต็ม หรือ “ทำสั้นให้เป็นยาว” ในภายหลัง

ผลพลอยได้ก็คือ สามารถนำมาใช้เป็นประเด็นย่อสำหรับการพูดได้อีกด้วย ดิฉันทำเป็นประจำ เวลาได้รับเชิญให้ไปพูด ต้องทำหัวข้อไว้ก่อน แม้ว่าจะไม่ได้นำไปขึ้นจอฉายก็ตาม แต่ทำเพื่อให้ตัวเองรวบรวมประเด็นที่จะพูดได้ครบและ ผู้ฟังได้ประโยชน์ครบถ้วน

ทีนี้ จับใจความหรือประเด็นได้ครบถ้วนแล้วยังไม่พอ ต้องทำได้เร็วด้วย ใช้เวลาจับประเด็นเป็นวันๆ ก็ไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่น และฝรั่งเขาค้นพบว่า การอ่านให้เร็ว จะจับประเด็นได้ดีกว่าการอ่านช้าค่ะ สำหรับดิฉันแล้ว เรื่องนี้จริงทีเดียว หากอ่านช้า หรือมีคนพูดช้าๆ ให้ฟัง สมองเราจะมีเวลาแวบไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าหากอ่านเร็ว หรือมีคนพูดเร็วให้ต้องตั้งใจฟัง สมองจะไม่มีช่องว่างให้ความคิดอื่นแทรกเข้ามา ทำให้วอกแวกเสียสมาธิได้ค่ะ

มีแบบฝึกหัดให้ลองฝึกอ่านจับใจความมากมาย ว่างๆ ท่านลองไปหาซื้อดู หรือฝึกผ่านเว็บไซต์ก็ได้ค่ะ มีทั้งที่ทดสอบฟรีและที่ต้องเสียเงิน

วิธีอ่านเร็วคือ ไม่ต้องอ่านทุกคำค่ะ มองหาคำหลักๆ ซึ่งมักจะเป็นคำนาม และกิริยา และมองหาชื่อเฉพาะ สำหรับเรื่องที่เป็นเรื่องการเงิน ก็ต้องมองหาตัวเลข สถิติต่างๆ เพื่อจับประเด็นให้ได้
การอ่านจับใจความจะแตกต่างจากการอ่านหาข้อมูลนิดหน่อย การอ่านหาข้อมูล ตาเราจะทำหน้าที่เหมือนเครื่องสแกน มองหาคำหลักๆ ที่เป็นกุญแจนำไปสู่เรื่องนั้นๆ เช่น ถ้าจะค้นคว้าเรื่อง อัตราค่าครองชีพในเมืองต่างๆ เราก็จะมองหาชื่อเมือง ไปพร้อมๆกับตัวเลขค่าครองชีพ วิธีที่ง่ายคือการค้นหาจากตารางต่างๆ ที่สำคัญต้องสามารถเปรียบเทียบกันได้ด้วย ดังนั้นแม้ว่าจะมีความคล้ายกัน แต่การอ่านหาข้อมูลจะง่ายกว่าการอ่านจับใจความ

หวังว่าจะได้ประโยชน์ สามารถใช้เป็นแนวทางในการฝึกหัดได้บ้างนะคะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นทักษะ หมายความว่าต้องฝึกฝน ยิ่งทำยิ่งเก่ง เพราะฉะนั้น ใครอยากจับประเด็นได้ดีต้องฝึกทำเยอะๆ ค่ะ พอจับประเด็นจากการอ่านได้ดีแล้ว การจับประเด็นจากการฟังก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป