ไต้หวันออกวีซ่าให้ Digital Nomad อยู่ได้นาน 6 เดือน หวังแก้ปัญหาขาดแรงงาน
เริ่มแล้ว! ปี 2025 ไต้หวันออกวีซ่า 6 เดือนให้กับ Digital Nomad อยู่ทำงานได้นานขึ้น หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากประชากรเกิดใหม่น้อยลง
KEY
POINTS
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป ไต้หวันได้เปิดตัววีซ่าสำหรับ Digital Nomad อย่างเป็นทางการ โดยอนุญาตให้ “ผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลต่างชาติ” (Digital Nomad) ให้สามารถอยู่อาศัยในไต้หวันได้ยาวถึง 6 เดือน ด้วยวีซ่าพำนักอาศัย
- ไต้หวันมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการทำงานและการพักอาศัยของกลุ่ม Digital Nomad ที่ดีที่สุดในเอเชีย และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในด้านสภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม และอาหาร
- Digital Nomad จะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษในไต้หวัน โดยภาครัฐมีแผนจะสร้างงานใน “สายงานผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์นวัตกรรม” เพิ่มขึ้น พร้อมอัดฉีดเงินให้ 150,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวันต่อปี
เทรนด์การทำงานรูปแบบ “Digital Nomad” ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก เป็นกลุ่มวัยทำงานที่สามารถเที่ยวไปทำงานไป หรือเรียกอีกอย่างว่าการทำงานระยะไกลจากที่ไหนในโลกก็ได้ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตพร้อมแล็ปท็อปหรืออุปกรณ์ทำงานสักเครื่อง โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนทำงานในสายงานเทคโนโลยี (Programmer, Web Developer), สายงานการตลาด (Social Media, Content Marketing, SEO), สายงานครีเอทีฟ (Content creator, Graphic Designer, Blogger), สายงานด้านการให้คำปรึกษาอิสระ (Business Consultant, Law Consultant)
ไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นอันดับต้นๆ ที่มีศักยภาพเอื้อต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของเหล่า Digital Nomad ได้ดี ล่าสุด.. South China Morning Post รายงานว่า คณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติกรุงไทเปของไต้หวัน ได้ประกาศเริ่มโครงการ “จัดทำวีซ่าสำหรับวัยทำงานต่างชาติกลุ่ม Digital Nomad” ดังกล่าว ท่ามกลางสถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อยลงและการขาดแคลนแรงงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ไต้หวันแสวงหาแหล่งบุคลากรที่มีความสามารถใหม่ๆ เพื่อรักษาเศรษฐกิจในประเทศที่เน้นเทคโนโลยีและพึ่งพาการส่งออก
ปี 2025 ไต้หวันประกาศใช้วีซ่า Digital Nomad อย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป ไต้หวันซึ่งตั้งเป้าที่จะดึงดูดแรงงานต่างชาติ 400,000 คนภายในปี 2032 จะอนุญาตให้ “ผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลต่างชาติ” หรือคนทำงานชาวต่างชาติกลุ่ม Digital Nomad ให้สามารถอยู่อาศัยในไต้หวันได้ครึ่งปีด้วยวีซ่าพำนักอาศัย โดยตามข้อมูลก่อนหน้าเมื่อสิ้นปี 2023 พบว่าในไต้หวันมีประชากรกลุ่มผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัย 69,509 คน และมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้ว มาอยู่อาศัย 754,130 คน
เดวิด ชาง (David Chang) เลขาธิการของ Crossroads ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในไทเป ซึ่งสนับสนุนกลุ่มคนทำงาน Digital Nomadism ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสรรหาบุคลากรของไต้หวัน เขาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “การเปิดตัววีซ่านี้ ถือเป็นสัญญาณว่าไต้หวันเปิดกว้างสำหรับ Digital Nomad อย่างเป็นทางการแล้ว เราขอชื่นชมรัฐบาลที่ตอบสนองต่อเทรนด์ระดับโลก ด้วยการแนวคิดนี้มาใช้กับกลยุทธ์การสรรหาบุคลากรของไต้หวัน”
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า ปัจจุบันชาว Digital Nomad ได้รับสิทธิ์ในการขอวีซ่าใน 58 สถานที่ทั่วโลก ตามรายงานของบล็อก Nomad Girl ซึ่งมีนักเขียนจากทั่วโลกจำนวนมากเป็นสมาชิกในแพลตฟอร์มนี้
ไต้หวัน แดนสวรรค์ของ Digital Nomad ที่ดีที่สุดในเอเชีย
ส่วนสำคัญที่ทำให้ “ไต้หวัน” ก้าวขึ้นมาเป็นแดนสวรรค์ของกลุ่มวัยทำงาน Digital Nomad ได้นั้น มาจากการเอาจริงเอาจังของรัฐบาล ข้อมูลจากสำนักข่าวกลางแห่งชาติไต้หวันรายงานอ้างถึงคำกล่าวของ “หลิว ชินชิง” (Liu Chin-ching) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาแห่งชาติของไต้หวัน (ณ เดือนตุลาคมปีที่แล้ว) ระบุว่า ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของประชากรไต้หวันถือเป็นวิกฤติด้านความมั่นคงของชาติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น
โดยเมื่อเจาะลึกลงไปดูถึงตัวเลขประชากร ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยระบุว่า ไต้หวันมีอัตราการเกิดต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา มีประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 23.4 ล้านคน ซึ่งลดลง 162 คนจากเดือนเดียวกันของปี 2023 แม้ว่าในเดือนพฤศจิกายนจะพบอัตราการเกิดเพิ่มขึ้น 1,285 คน จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วก็ตาม แต่ในภาพรวมแรงงานทั้งหมดของเดือนพฤศจิกายนก็ยังมีเพียง 11.6 ล้านคน ซึ่งลดลงจากเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน
รมว.หลิว กล่าวในพิธีลงนามโครงการวีซ่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมว่า “จากการเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ ไต้หวันมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการทำงานและการพักอาศัยของกลุ่ม Digital Nomad ที่ดีที่สุดในเอเชีย และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในด้านสภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม และอาหาร”
เขาบอกอีกว่า กลุ่ม “ผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลต่างชาติ” เหล่านั้น จะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษให้มาทำงานในบทบาทที่สอดคล้องกับแผนการของรัฐบาล นั่นคือ “สายงานผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์นวัตกรรม” โดยรัฐบาลพร้อมจะอัดฉีดเงินให้ถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวันต่อปี (ราวๆ 156,000 ล้านบาทต่อปี)
Digital Nomad ไม่เพียงช่วยภาคแรงงาน แต่ยังช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวด้วย
จากการสำรวจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในปี 2022 พบว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลต่างชาติกว่า 5,300 รายในไต้หวันมีใบอนุญาตทำงานแบบเปิดอยู่แล้ว และมีประมาณร้อยละ 35 ที่ทำงานจากระยะไกล โดยทั่วไปแล้วกลุ่ม Digital Nomad ต่างก็รายงานว่า ค่าครองชีพของพวกเขาในไต้หวันต่ำกว่าในฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งทุกประเทศดังกล่าวล้วนแต่เผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถท่ามกลางอัตราการเกิดที่ต่ำเหมือนกัน
ยกตัวอย่างเคสของ "เมืองไถตง" ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรเบาบาง ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ฮาวายแห่งไต้หวัน” เนื่องจากมีทัศนียภาพและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม รัฐบาลท้องถิ่นกำลังปรับปรุงโรงแรมริมชายหาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติที่เป็นคนทำงานรูปแบบ Digital Nomad มาเข้าพัก และกำลังขยายเครือข่ายบริการเช่าจักรยานให้ครอบคลุม 1,000 คันภายในสิ้นปี 2568
นิโคลัส โคลสัน (Nicholas Coulson) ที่ปรึกษาต่างประเทศ จากแผนกส่งเสริมต่างประเทศของรัฐบาลเทศมณฑลไถตง อธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแค่เรื่องที่พักเท่านั้น แต่ทางเทศมณฑลยังได้จัดตั้ง “แพลตฟอร์มสำหรับ Digital Nomad” ขึ้นมา (ตอนนี้มีสมาชิก 118 ราย) เพื่อดำเนินการจัดเวิร์กช็อปและงานประสานงานต่างๆ ให้แก่คนทำงานเหล่านี้
“ในระยะยาว เราหวังว่าการที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลต่างชาติเหล่านี้มาพักอาศัยในไต้หวันเป็นเวลานานขึ้น จะช่วยปรับระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ” โคลสันกล่าวในท้ายที่สุด