เมื่อสีจิ้นผิงยืนยัน หลัก"ปัญจศีล"การเมือง ที่ลงนาม 60 ปีก่อน
ประโยคนี้ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน มีนัยสำคัญสำหรับการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้าน
อย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่มีความขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้อย่างน่าสนใจยิ่ง
อีกทั้งยังมีความหมายต่อญี่ปุ่นอย่างมากอีกด้วย เพราะทั้งสองยักษ์ใหญ่ในเอเชีย กำลังเห็นความเสื่อมทรุดทางความสัมพันธ์ที่ชัดขึ้นทุกวัน
ผู้นำจีนประกาศจุดยืนว่า “เราจะไม่แสวงหาอำนาจบาตรใหญ่ในโลก ไม่ว่าวันข้างหน้าเราจะแข็งแกร่งเพียงใดก็ตาม...” เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการประกาศ “ปัญจศีล” แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หรือที่จีนเรียกว่า 和平共处五项原则
หลักการ “อยู่ร่วมกันอย่างสันติห้าประการ” นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของปี ค.ศ.1954 ขณะที่นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนไปเยือนอินเดียและพม่า โดยที่นายกฯจีนกับนายกฯอินเดียลงนามรับหลักการนี้ ณ วันที่ 28 มิถุนายนในปีนั้น และวันถัดมานายกฯจีนก็เซ็นเอกสารยืนยันหลักการเดียวกันกับผู้นำพม่า
โดยมีหลักห้าประการคือ
1.เคารพในบูรณภาพแห่งดินแดน และอธิปไตยซึ่งกันและกัน
2.ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน
3.ไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และลัทธินิยม
4.ให้ความเสมอภาค และผลประโยชน์อันเท่าเทียมกันและกัน
5.อยู่ร่วมกันโดยสันติ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้นำอินเดียและพม่าไปเยือนปักกิ่ง เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบ 60 ปีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น สีจิ้นผิง ถือโอกาสนี้ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าทุกวันนี้จีนก็ยังยึดมั่นในหลัก “ปัญจศีล” อยู่เหมือนเดิม
และตอกย้ำว่า
“จีนไม่ยอมรับในตรรกะที่ว่าประเทศที่เข้มแข็งจะต้องเป็นประเทศที่แสวงหาอำนาจบาตรใหญ่ อีกทั้งการแสวงหาอำนาจเหนือผู้อื่นและการใช้กำลังทหารในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นไม่ได้อยู่ใน DNA ของจีนแต่อย่างใด”
สีจิ้นผิงอ้างบทกวีของทั้งจีน อินเดีย และพม่า ซึ่งล้วนมีประวัติศาสตร์ยาวนานในการยืนยันความเห็นร่วมกันว่า ควรจะต้องแก้ปัญหาระหว่างกันด้วยการเจรจาบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและร่วมไม้ร่วมมือเพื่อปกปักรักษาสันติภาพในภูมิภาคนี้
และยังประกาศ “รางวัลมิตรภาพ” กับทุนการศึกษาที่เกี่ยวพันกับหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพห้าประการนี้ เพื่อตอกย้ำการเดินหน้าตามนโยบายร่วมกัน
คำประกาศของผู้นำจีนครั้งนี้มีความสำคัญตรงที่สอดคล้องกับจังหวะที่จีนมีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบ้านในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ที่คุกรุ่นอยู่ขณะนี้ โดยยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถแก้ไขด้วย “การเจรจาอย่างสันติบนพื้นฐานของความเท่าเทียม” ได้แต่อย่างไร
เป็นจังหวะเดียวกับที่ประเทศที่เป็นคู่กรณีกับจีนพยายามจะชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของตนเองอย่างน่ากลัว
"The China Threat" หรือ “การคุกคามจากจีน” เป็นสิ่งที่หลายประเทศอ้างถึงขณะที่ปักกิ่งยืนกรานมาตลอดเวลาว่าจีนจะไม่คุกคามใคร
หลายชาติยังไม่เชื่อจีนในประเด็นนี้ จึงเป็นที่มาของการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ต้องใช้โอกาสต้อนรับผู้นำอินเดียและพม่าที่ปักกิ่งในการย้อนอดีต 60 ปีที่มีการลงนามร่วมกันของสามชาติในหลักการ “ปัญจศีล” อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
งานรำลึกถึงหลัก “ปัญจศีล” ครั้งนี้สีจิ้นผิงจับไม้จับมือกับรองประธานาธิบดีโมฮัมหมัด ฮามิด อันซารี แห่งอินเดีย กับประธานาธิบดีเต็งเส่ง แห่งพม่า
อเมริกาเคยถูกเรียกว่า The Ugly American มาก่อน เพราะเข้าไปยุ่มย่ามกับกิจการภายในของประเทศอื่น และกำกับสั่งการนโยบายของชาติอื่นอย่างโจ่งแจ้ง
จีนวันนี้พยายามจะบอกกล่าวกับคนทั้งโลกว่า จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เพื่อจะได้ไม่มีศัพท์ใหม่ในแวดวงการทูตระหว่างประเทศว่า The Big Ugly Chinese!
ทุกอย่างพิสูจน์ได้ด้วยการกระทำ