นโยบายลดภาษี ‘ทรัมป์’ ส่อไปไม่รอด หลังเจอความท้าทายทางการคลัง

นโยบายลดภาษี ‘ทรัมป์’ ส่อไปไม่รอด หลังเจอความท้าทายทางการคลัง

โดนัลด์ ทรัมป์มีแผนการใหญ่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐผ่านนโยบายลดภาษีและมาตรการทางการค้า แม้นักวิชาการส่วนหนึ่งค้านอาจเจอความท้าทายทางการคลังและต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

สำนักข่าวเอพี รายงานวันนี้ (25 พ.ย.) ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐมีแผนการสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของมหาอำนาจโลก ทว่า “ปัญหาหนี้สาธารณะ” จะเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับแผนของเขา  

ทรัมป์มีแนวคิดโดดเด่นในเรื่องของการลดภาษี ภาษีศุลกากร และโครงการอื่นๆ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ของรัฐบาลกลางที่มีอยู่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการดำเนินนโยบาย 

ไม่เพียงแต่หนี้ของรัฐบาลกลางจะอยู่ที่ประมาณ 36 ล้านล้านดอลลาร์ แต่การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อหลังการระบาดของโควิด-19 ยังผลักดันให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้น จนทำให้ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ในปีหน้าจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงแห่งชาติอย่างแน่นอน

นโยบายลดภาษี ‘ทรัมป์’ ส่อไปไม่รอด หลังเจอความท้าทายทางการคลัง หนี้สาธารณะของสหรัฐ

ต้นทุนการชำระหนี้ที่สูงขึ้นทำให้ทรัมป์มีพื้นที่ในการจัดการงบประมาณของรัฐบาลกลางน้อยลงในขณะที่เขาพยายามลดภาษีเงินได้ นอกจากนี้ยังเป็นความท้าทายทางการเมืองเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ชาวอเมริกันหลายคนต้องจ่ายค่าซื้อบ้านหรือรถยนต์ใหม่แพงขึ้น ที่สำคัญประเด็นค่าครองชีพที่สูงนี้ช่วยให้ทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเดือนพ.ย.

"เห็นได้ชัดว่าปริมาณหนี้ในปัจจุบันสร้างแรงกดดันโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองที่อยู่อาศัย" ชัย อาคาบัส ผู้อำนวยการบริหารโครงการนโยบายเศรษฐกิจกล่าว พร้อมกล่าวเสริมว่า

"ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยและค่าอาหารจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะที่จะส่งผลเสียต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจของเราในอนาคต"

อาคาบัสเน้นย้ำว่า ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้กำลังเริ่มแย่งพื้นที่การใช้จ่ายของรัฐบาลในรายจ่ายพื้นฐาน เช่น โครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา โดยประมาณ 1 ใน 5 ของเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายตอนนี้เป็นการชำระคืนนักลงทุนสำหรับเงินที่กู้ยืมมา แทนที่จะเป็นการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ทรัมป์ให้ความสนใจ ในแถลงการณ์เรื่องการเลือก สก็อต เบสเซนต์ นักลงทุนและมหาเศรษฐี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกจากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า เบสเซนต์จะ "ช่วยควบคุมวิธีการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางที่ไม่ยั่งยืน"

ทั้งนี้ ต้นทุนการชำระหนี้พร้อมกับหนี้รวมที่สูงขึ้นทำให้ความพยายามของทรัมป์ในการต่ออายุการลดภาษีตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งส่วนใหญ่จะหมดอายุหลังปีหน้ายากขึ้น โดยหนี้ที่สูงขึ้นจากการลดภาษีเหล่านั้นอาจผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยขยับตัวขึ้นจนส่งผลให้ต้นทุนการชำระหนี้แพงขึ้นและลดประโยชน์ที่สหรัฐจะได้รับจากการลดภาษี

"ทั้งหมดถือเป็นความไม่รับผิดชอบที่จะนำการลดภาษีแบบเดิมกลับมาใช้ หลังจากที่การขาดดุลเพิ่มขึ้นสามเท่า" ไบรอัน รีดล์ นักวิชาการอาวุโสที่สถาบันแมนฮัตตันและอดีตผู้ช่วยสมาชิกสภาคองเกรส พรรครีพับลิกันกล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า "แม้แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสก็ต่างมองหาวิธีลดทอนความทะเยอทะยานของประธานาธิบดีอยู่เบื้องหลัง"

พรรคเดโมแครตและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า การลดภาษีเงินได้ของทรัมป์เอื้อประโยชน์ต่อคนรวยแบบไม่สมเหตุสมผล ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดรายได้สำหรับโครงการต่างๆ เพื่อชนชั้นกลางและคนยากจน

"แนวคิดนโยบายภาษีของทรัมป์จะเพิ่มการขาดดุลเพราะพวกเขาจะลดภาษีสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายสูงสุด เช่น บริษัทที่เขาเสนอให้ลดอัตราภาษีลงไปอีกเหลือ 15%" เจสสิก้า ฟุลตัน รองประธานฝ่ายนโยบายที่ศูนย์ร่วมเพื่อการศึกษาทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งซึ่งเป็นสถาบันวิจัย (Think Tank) ในวอชิงตันที่จัดการกับประเด็นที่เผชิญหน้าชุมชนผิวสีกล่าว

ทีมของทรัมป์ยืนยันว่าเขาสามารถทำจัดการตัวเลขการขาดดุลได้!

แครอไลน์ เลวิตต์ โฆษกคณะเปลี่ยนผ่านของทรัมป์กล่าวว่า

"ประชาชนชาวอเมริกันเลือกประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาด้วยคะแนนที่ท่วมท้น ให้อำนาจแก่เขาในการดำเนินการตามสัญญาที่เขาให้ไว้ในระหว่างการหาเสียง รวมถึงการลดอัตราเงินเฟ้อ เขาทำสำเร็จแน่นอน"

ย้อนกลับไปในสมัยแรกของทรัมป์ บทวิเคราะห์ของเอพีเปิดเผยว่า ณ ตอนนั้นทรัมป์สามารถดำเนินนโยบายลดภาษีและจัดการกับหนี้สาธารณะและจ่ายคืนหนี้ดังกล่าวที่ 3.45 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการชำระคืนอยู่ในระดับที่จัดการได้แม้ว่าระดับหนี้จะเพิ่มขึ้น

สํานักงานงบประมาณของรัฐสภา คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในการชําระหนี้ในปีหน้าอาจปรับตัวสูงเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศที่คาดการณ์ไว้ โดยยอดรวมยังมากกว่าการใช้จ่ายที่ไม่ใช่การป้องกันในโครงสร้างพื้นฐาน ความช่วยเหลือด้านอาหาร และโครงการอื่นๆ ภายใต้การกํากับดูแลของสภาคองเกรส

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ต้นทุนการชำระหนี้เพิ่มขึ้นคืออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในเดือนเม.ย. 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลารัฐบาลกู้ยืมเงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อรับมือกับการระบาด โดย ณ ช่วงนั้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงต่ำถึง 0.6%  ทว่าตอนนี้อยู่ที่ 4.4% โดยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนก.ย.เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าทรัมป์จะเพิ่มการขาดดุลอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ด้วยนโยบาย

ในช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้สำเร็จในขณะที่ธนาคารกลางพยายามลดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การขาดดุลในช่วงการดำรงตำแหน่งของเขาอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคิดริเริ่มของไบเดนในการกระตุ้นการผลิตและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมรดกจากการลดภาษีของทรัมป์ในสมัยแรก

บุคคลในวงในของทรัมป์ รวมถึงสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกัน ต่างพยายามหาวิธีลดการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อลดหนี้และลดอัตราดอกเบี้ย พวกเขาโจมตีไบเดนเรื่องการขาดดุลและเงินเฟ้อ เพื่อสร้างข้อโต้แย้งให้ทรัมป์เข้ามาแก้ไขปัญหา

อ้างอิง: AP