'โอกาสที่ 2 : Second Chance' ยุติความรุนแรงต่อสตรี
“วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยริบบิ้นสีขาวและการสร้างโลกสีส้ม ความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก
KEY
POINTS
- หญิงไทยเผชิญปัญหาความรุนแรงทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน มีสถิติผู้หญิงเข้ารับการรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ ประมาณปีละ 30,000 คน
- ผู้หญิงที่ถูกกระทำ ต้องเปิดโอกาสที่ 2 ให้แก่ตัวเอง จะต้องไม่ยอมอยู่ในสถานการณ์รุนแรง และต้องคำนึงถึงสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของตนเอง
- สังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับความรุนแรง ผู้หญิงเองก็ยอมรับความรุนแรง ซึ่งการตบตี การทำร้ายร่างกายจะไม่เกิด ถ้าผู้ชายไม่คิดว่าคุณมีอำนาจเหนือกว่า มากกว่าหาต้นเหตุว่าเพศใด
“วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยริบบิ้นสีขาวและการสร้างโลกสีส้ม ความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่หยั่งรากลึกในทุกสังคม ไม่ว่าจะด้วยค่านิยม กฎหมาย หรือแม้กระทั่งศาสนา
ในทุก ๆ ปี เราจึงเห็นกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี และมีแคมเปญต่าง ๆ ออกมาเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรง
ปัจจุบันความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งรูปแบบทางกายและจิตใจ สาเหตุสำคัญมาจากค่านิยมในสังคม ที่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของคนในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของสังคม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมมีส่วนสำคัญมากในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล และคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2512 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘รัฐบาล’ ปลุก สังคม แสดงพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก-สตรี ในครอบครัว
รัฐบาลรณรงค์ "สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง"
โดยในปี 2567 รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรม เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีและคนในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” มุ่งหวังให้ทุกคนเข้าใจ ความรุนแรงในครอบครัว พร้อมใช้ความรัก ความเห็นใจ ความเอื้ออาทร และใช้ความรู้ในสิทธิทางกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครอง ทั้งตัวเองและสมาชิกในครอบครัว และคนในสังคม ที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอยู่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งสารเนื่องใน “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ประจำปี 2567 ระบุว่า ความรุนแรงต่อสตรีถือเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในส่วนภาครัฐมีข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ ปี 2566 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเฉลี่ย 78 คนต่อวัน ปี 2567 เฉลี่ย 42 คน โดยกรมกิจการสตรีฯ พบความรุนแรงจากการทำร้ายร่างกายอันดับ 1 ผู้ที่กระทำความรุนแรง คือ แฟน สามี และพ่อ
“ต้องไม่มีผู้หญิงคนใดถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกาย ทางเพศ ทางจิตใจ ไม่ถูกคุกคามความปลอดภัยในร่างกาย ชีวิต และไม่ถูกล่อลวงให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมใดๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”
หญิงไทยถูกทำลายร่างกายและจิตใจไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน
ด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า หญิงไทยเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงถูกละเมิด ถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน มีสถิติผู้หญิงเข้ารับการรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ ประมาณปีละ 30,000 คน และรายงานจากสื่อ พบว่า บุคคลเพศหลากหลายในไทย ถูกสังหารจากความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งเพศ จำนวน 21 คน
ขณะที่ผู้หญิง 736 ล้านคนทั่วโลก เกือบ 1 ใน 3 เคยถูกระทำรุนแรงทั้งร่างกายและทางเพศ จากคู่รักหรือสามี อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ดังนั้นความรุนแรงทางเพศ นับเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิทางมนุษยชน เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และส่งผลเสียต่อการพัฒนา
โดยสถิติความรุนแรงทางเพศจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า จำนวนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม มีจำนวน 81,000 คน และมี 45,000 คนจากทั้งหมดเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวตนเอง ดังนั้น บ้านอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กเสมอไป เนื่องจากกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ถูกกระทำด้วยเช่นกัน
เปิดโอกาสที่ 2 Second Chance ให้แก่ตัวเอง ไม่ยอมรับความรุนแรง
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. (สน.9) กล่าวว่าเรื่องวิธีคิดต่อความรุนแรงของผู้หญิงมีตั้งแต่คนภายนอกที่มองมาว่า ผู้หญิงบางกลุ่ม หรือผู้หญิงที่ถูกกดทับ เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่พวกเขาต้องเผชิญกับความรุนแรง ทั้งที่มุมมองดังกล่าว ไม่ถูกต้อง เพราะความรุนแรงของผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องของสามีภรรยา หรือเรื่องของครอบครัว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การเห็นคุณค่าของผู้หญิงในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น งานบ้าน หรือผู้หญิงที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเข้าใจ
"ผู้หญิงที่ถูกกระทำ ต้องเปิดโอกาสให้แก่ตัวเอง สสส.รณรงค์เรื่องของโอกาสครั้งที่ 2 มาโดยตลอด เมื่อผู้หญิงถูกกระทำ จะต้องไม่ยอมอยู่ในสถานการณ์รุนแรงต่อ ต้องคำนึงถึงสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของเรา และเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิทธิเกินกว่าเหตุ แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ผู้หญิงทุกคนต้องได้รับ สสส.พยายาม เสนอมุมมองให้สังคมต้องเข้าใจ และผู้หญิงที่ถูกกระทำต้องไม่ยินยอม อดทน แต่ต้องลุกขึ้นสู้ เพื่อให้มีชีวิตต่อไป"
สสส.พยายามผลักดันให้เกิดต้นแบบที่จะจัดการดูแลโดยชุมชนต่างๆ เป็นการเฝ้าระวัง ซึ่งในปัจจุบันมีต้นแบบของชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้กลไกที่เป็นภาคประชาชน และภาครัฐ เป็นกลไกเฝ้าระวังในครอบครัว ชุมชน สถานประกอบการ สถานศึกษา รวมถึงรถสาธารณะ และหลายๆ พื้นที่เสี่ยง รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้หญิงปกป้อง ร่างกายของตนเอง และสสส.พยายามหนุนเสริม ภาคประชาชนเข้ามาร่วมกับกลไกภาครัฐ และสื่อสารปรับวิธีคิดกับคนในสังคมอย่างต่อเนื่อง
ความรุนแรงอันดับ 1 ที่พบเจอเกิดจากคนในครอบครัว
ขณะที่ มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายสตรี 4 ภาค เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ได้เปิดเผยว่า จากรายงานผลการถอดบทเรียนของโครงการส่งเสริมบทบาท อำเภอ ท้องถิ่น ในการป้องกันแก้ไขความรุนแรงและสุขภาวะผู้หญิง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้หญิง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา อุบลราชธานี และน่าน จำนวน 399 คน และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการคุ้มครอง ป้องกัน ช่วยเหลือเด็ก สตรี และครอบครัว จากความรุนแรง ทั้งระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด จำนวน 135 คน มี ‘สถานการณ์และรูปแบบ’ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ครอบครัวในชุมชน ท้องถิ่น ดังนี้
1. รูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้น ร้อยละ 87 เป็นความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ และ การละเมิดทางเพศ จากคนในครอบครัว และมีการถูกทำร้ายแบบซ้ำๆ ต่อเนื่อง
แม้เคยไปแจ้งความหลายครั้ง ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องเพราะตำรวจเพียงได้แต่ลงบันทึกประจำวัน เว้นแต่เมื่อเป็นข่าวแล้วตำรวจจึงจะทำงาน หลายกรณีผู้เสียหายไม่อยากเป็นข่าว ร้อยละ 64 ครอบครัวเลิกลาทิ้งร้าง ต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวใหม่ ทิ้งให้เด็กอยู่กับผู้สูงอายุหรือญาติ เด็กจึงไม่ได้รับการดูแลทำให้ถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง
2. อะไรทำให้เด็ก ผู้หญิง ยังถูกทำร้ายอย่างซ้ำชากต่อเนื่อง และบางรายถึงแก่บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ทั้งที่ไปร้องขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ
จากรายงานถอดบทเรียน พบว่า ร้อยละ 85 สะท้อนว่า เจ้าหน้าที่มองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เมื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง เมื่อกลับถึงบ้านมักจะโดนทำร้ายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเด็ก สตรี มีความกลัวไม่กล้า เพราะผู้กระทำฯ จะขู่ฆ่า และถ้าแจ้งความจะทำร้ายพ่อแม่ ทำให้ผู้ถูกกระทำฯต้องยอมจำนน ร้อยละ 45 บอกว่า แม้จะพาลูกหนีไป แต่ผู้ชายก็ติดตามไปคุกคามทำร้ายไม่มีใครกล้าช่วยโดยเฉพาะในรายที่ติดยาเสพติด หรือ ดื่มเหล้าเรื้อรัง ก็มักใช้ความรุนแรงถึงขั้นคนในครอบครัวเสียชีวิต
สังคมไทย เป็นสังคมยอมรับความรุนแรง
รศ.ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งอาจารย์ที่เป็นนักมานุษยวิทยาสอนหนังสือ ทำงานวิจัย รวมทั้งทำงานพัฒนาและรณรงค์ด้านสตรีศึกษา เพศภาวะศึกษามาหลายสิบปี และได้ทำงานกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) สสส. พัฒนาแผนพัฒนาสุขภาวะผู้หญิงระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่อให้สำนัก 9 นำไปเป็นแนวทางสนับสนุนการทำงานพัฒนาสุขภาวะผู้หญิงขององค์กรภาคประชาสังคม อีกทั้งอาจารย์ทำหน้าที่หนุนเสริมด้านวิชาการและเทคนิคต่างๆ แก่องค์กรที่รับทุนไปทำงาน นอกจากนั้น อาจารย์ยังเป็นผู้รับผิดชอบหลักโครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงอีกหลายโครงการ
รศ.ดร.สุชาดา กล่าวว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับความรุนแรง ผู้หญิงเองก็ยอมรับความรุนแรง เวลาจัดอบรมในชุมชน เราใช้กิจกรรมเลือกข้างเป็นตัววัดทัศนคติยอมรับความรุนแรงในครอบครัว โดยการตั้งคำถาม เช่น ถ้าสามีทุบตีภรรยาเพราะไม่ทำงานบ้าน เรายอมรับได้ไหม หรือ ทุบตีเมียเพราะเมียมีชู้เรายอมรับได้ไหม พบว่าส่วนใหญ่ผู้เข้าอบรมเลือกไปยืนตรงยอมรับได้หมดเลย
เรื่องนี้ สะท้อนวิธีคิดชัดเจนว่า ถ้าผู้หญิงมีพฤติกรรมนอกกรอบจารีตประเพณี การใช้ความรุนแรงของผู้ชายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมักยอมรับหรือเห็นว่า ‘สมควรแล้ว’ ด้านภรรยาเองก็บอก ‘หนูต้องยอมให้สามีทุบตีเพราะหนูผิดเอง’ ไปจัดกิจกรรมนี้ที่ชุมชนไหนก็จะเจอคำตอบลักษณะนี้ส่วนมาก
“สังคมไทย ผู้ชายถูกหล่อหลอมมาว่าต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำ ผู้หญิงคือภรรยาที่ดีและดูแลลูก นี่คือประเด็น และปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจกับความไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน การตบตี การทำร้ายร่างกายจะไม่เกิด ถ้าคุณไม่คิดว่าคุณมีอำนาจเหนือกว่า มากกว่าหาต้นเหตุว่าเพศใด ขณะเดียวกันวัฒนธรรม โครงสร้างที่สร้างและหล่อเลี้ยงการใช้อำนาจเหนือมาได้จนถึงตอนนี้ ซึมซับเอาค่านิยม และบรรทัดฐานที่ทำให้เห็นคนแต่ละเพศไม่เท่าเทียมกันไว้เต็มไปหมด”
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเริ่มจากสมาชิกในครอบครัวที่ต้องสังเกตพฤติกรรมความรุนแรงคนในครอบครัว สื่อสาร แก้ปัญหาร่วมกัน ขณะที่ "ผู้ถูกกระทำความรุนแรง" ควรสื่อสารปัญหาให้คนที่ไว้วางใจฟัง หรือปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มองเป็นเรื่องปกติ และไม่อดทนต่อความรุนแรงที่ตัวเองได้รับ
ด้าน "ชุมชน" ต้องเป็นฐานในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว บูรณาการงานร่วมกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศูนย์ยุติธรรมชุมชน กระทรวงยุติธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้
รวมถึง ต้อง "มีมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น" ทั้งอาวุธปืน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติดโดยเฉพาะอาวุธปืนที่ต้องมีการขึ้นทะเบียน ต้องควบคุมและปราบปรามอาวุธเถื่อนอย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด