ลงโทษเพื่อสร้างสรรค์ ใช่เพื่อสะใจ
อย่าลงโทษด้วยอารมณ์ อธิบายเหตุผล เสริมแรงทางลบ และจบด้วยการเสริมแรงทางบวก
โบราณว่าไว้ให้พ่อแม่ "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวอีกว่า "ไม้เรียวสร้างคน" แต่มาบัดนี้หลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าเราควรลงโทษบุตรหลานตลอดจนพนักงานในองค์กรอย่างไรดีจึงจะเหมาะสม
เพราะเส้นแบ่งกั้นระหว่างการลงโทษกับการทำร้ายร่างกายดูจะเลือนลางไม่ชัดเจน บางคนลงโทษอย่างรุนแรงจนผู้รับโทษบาดเจ็บทั้งจิตใจและร่างกายระดับสาหัส ส่วนบางคนก็ได้รับโทษที่เบาไปเลยไม่รู้สำนึก ส่วนอีกกลุ่มไม่กล้าลงโทษเพราะกลัวผู้รับโทษโกรธและอาฆาต หรือบางทีคาดหวังว่าคนทำผิดจะรู้สำนึกเอง ซึ่งในที่สุดก็ไม่สำนึก เลยกลายเป็นเหมือนกำลังส่งเสริมคนทำผิดและคนไม่ดีให้ได้ใจเสียอีก จึงเห็นควรที่เราจะมาทบทวนเรื่องการลงโทษกันสักหน่อยว่าควรมีหลักการและวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายด้วยวิธีการที่เหมาะสม ไม่รุนแรงและไม่หย่อนยานเกินไป
แรกเริ่มคงต้องทำความเข้าใจกันถึงวัตถุประสงค์ของการลงโทษ แท้จริงแล้วการลงโทษมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขพฤติกรรม ประการแรกคือต้องการให้ผู้ที่กระทำผิดเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวได้ทำไปนั้นไม่เหมาะสม ผิดระเบียบ ผิดประเพณี ผิดข้อตกลงหรือผิดกฏหมายของบ้านเมือง กล่าวคือเพื่อสร้างสำนึกความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นการสร้างทัศนะคติ (Attitude)ที่ถูกต้องในบริบทของสังคมนั้นๆให้เกิดขึ้นก่อน (เวลาพูดเรื่องความถูกต้องเมื่อไร ดิฉันต้องใช้ความระมัดระวังเพราะบรรทัดฐานของแต่ละสังคมแตกต่างกัน บางสังคมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี อีกสังคมมองว่าผิด จึงต้องพิจารณามาตรฐานความถูกผิดจากบริบทของสังคมนั้นๆก่อนค่ะ ทั้งนี้คนที่ไม่ยอมรับบริบทของสังคม อาจจะมีประเด็นโต้เถียงกันมากหน่อย และบางครั้งอาจต้องย้ายไปเป็นสมาชิกสังคมอื่นที่มีค่านิยมเดียวกับตน เรื่องมันยุ่งยากใหญ่โตได้ถึงขนาดนี้เลยเชียว)
ประการต่อมาคือ เพื่อต้องการแก้ไขพฤติกรรม (Behavior) ให้เลิกกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้เปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ถูกต้อง เรื่องของการลงโทษจึงมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 ประเด็นนี้เองที่พ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา และผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาความผิดชอบชั่วดีทั้งหลายพึงระลึกไว้ การลงโทษไม่ใช่การระบายอารมณ์ ไม่ใช่การแสดงว่าใครมีอำนาจเหนือใคร ไม่ใช่เพื่อการแก้แค้น ไม่ใช่เพื่อให้สะใจ และเมื่อเราคุยกันมาถึงตรงนี้ เราคงตระหนักว่ากระบวนการลงโทษเป็นกระบวนการที่ต้องให้การศึกษาอบรมมากพอสมควรเลย ต้องอบรมทั้งผู้ที่จะทำการลงโทษ และต้องอบรมผู้ที่จะรับโทษด้วย
สำหรับการปฐมนิเทศผู้ที่จะเป็นคนลงโทษนั้น ตามที่กล่าวไปแล้วว่าการลงโทษคือการปรับทัศนะคติและพฤติกรรม ไม่ใช่การแก้แค้นหรือระบายอารมณ์ คนที่เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์และผู้บังคับบัญชาต้องได้รับการอบรมในเรื่องนี้ให้เข้าใจ จากนั้นก็ต้องทำการประเมินตัวเองว่าเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Quotient – EQ) มากพอไหม คนบางคนแม้จะไม่ได้เป็นคนโหดร้ายโดยนิสัย แต่เป็นคนอารมณ์ร้ายและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ จึงมีเหตุการณ์ที่พ่อแม่ครูอาจารย์บางคนทุบตีเด็กจนบาดเจ็บขวัญเสีย
หรือนายบางคนลงมือลงไม้กับลูกน้อง ซึ่งแทนที่จะได้แก้พฤติกรรมของเด็กหรือลูกน้อง กลายเป็นทำให้พวกเขาเจ็บทั้งตัว เจ็บทั้งใจ หันมาโกรธเกลียดคนลงโทษ และยังมีพฤติกรรมแบบเดิมหรือแย่ยิ่งกว่าเดิม ส่วนคนที่ลงโทษเกินเหตุอาจถูกจับตัวไปลงโทษเสียอีก สรุปคือไม่มีใครได้อะไรดีขึ้นเลย อย่างนี้ไม่ใช่การลงโทษที่สร้างสรรค์ ข้อแนะนำง่ายๆและราคาถูกที่สุด (ในกรณีที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการอบรมเรื่องวิธีการลงโทษได้) คือ อย่าลงโทษเวลาที่อารมณ์ไม่ปกติ ให้อยู่นิ่งๆสักพัก
สำหรับพ่อแม่ที่ลูกกำลังทำความผิดต่อหน้าต่อตา เช่น เล่นซุกซนชนของเสียหายหรือหวีดร้องเสียงดังเวลาพ่อแม่ไม่ซื้อของเล่นให้ในห้างสรรพสินค้า แม้จะโกรธอย่างไรก็ตามก็อย่าได้ลงมือตีลูกหรือส่งเสียงดังตวาดเพื่อกลบเสียงลูก ขอให้นิ่งนับหนึ่งถึงพันแล้วอุ้มลูกออกจากชุมชนไปอยู่ที่เงียบๆหน่อย หรือพาลูกกลับบ้านเลยก็ได้ เมื่อถึงบ้านและหายโมโหแล้วทีนี้ค่อยเริ่มพิพากษาคดีกัน ถ้าลูกยังโวยวายไม่หยุด ก็ไม่ต้องโต้ตอบ จำกัดบริเวณ (ซึ่งไม่ได้แปลว่าจับขังในห้องมืดไม่ให้กินน้ำกินท่านะคะ) เช่น ให้นั่งอยู่กับที่หรืออยู่ในห้องจนกว่าจะเงียบลงและตัวเองก็เริ่มหายโมโหแล้ว จากนั้นเรียกมาพูดคุยอบรมสั่งสอนชี้แจงว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นผิดอย่างไร ทำให้เกิดความเสียหายกับใครบ้าง เพราะถ้าเราไม่อธิบายเหตุผล โดยเฉพาะกับเด็กที่ยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดี คนที่รับโทษอาจไม่เข้าใจและไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามย่อมมีเด็กหรือลูกน้องที่ดื้อรั้นไม่ฟังเหตุผลและดึงดันไม่ยอมรับผิด เรื่องนี้ให้ทำใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์หรือผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบทำหน้าที่ชี้แจงว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่ใช้อารมณ์และไม่ใช้ถ้อยคำเสียดสีหยาบคาย ไม่ทำให้เขาต้องได้อายในที่สาธารณชน ส่วนเขาจะเชื่อฟังแค่ไหนเป็นอีกประเด็น ในกรณีถ้าเป็นเรื่องในองค์กร ผู้บังคับบัญชาควรต้องมีการปฐมนิเทศพนักงานก่อนถึงระเบียบแบบแผน ธรรมเนียมและวินัยในการทำงานกับองค์กรให้พนักงานรับทราบก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เพราะนี่คือกรอบมาตรฐานที่จะใช้ชี้แจงพนักงานว่าเขาทำผิดหรือถูกอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ อาจจำเป็นต้องทำการบันทึกความผิด บันทึกวันเวลาที่มีการเรียกมาตักเตือนหรือคาดโทษพนักงานไว้เป็นหลักฐาน ถ้าเขายังมีสำนึกรู้จักผิดชอบชั่วดีอยู่บ้างเขาย่อมตระหนักว่าเขาผิดจริงและควรทำการปรับปรุงตนเองต่อไปโดยรับคำแนะนำจากผู้บังคับบัญชาหรือใครก็ตามที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร ทั้งนี้ผู้ที่ทำความผิดต้องรู้จักขอโทษต่อผู้ที่เขาความผิดด้วย เช่นขอโทษพ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้บังคับบัญชาเป็นต้น
ทีนี้เรามาคุยกันต่อถึงวิธีการลงโทษที่สร้างสรรค์ พูดถึงการลงโทษ ไม่มีใครชอบหรอกค่ะ เพราะคำนี้สำเนียงมันส่อไปในทางลบ การลงโทษเด็กหรือพนักงานใช้หลักจิตวิทยาเดียวกันคือ ต้องไม่เป็นการประจาน ดิฉันไม่ค่อยเชื่อว่าการตีจะทำให้เด็กจำ ไม่จำเป็นต้องตีก็ได้ การลงโทษด้วยการไม่ให้ของเล่น ไม่ให้ดูหนัง ไม่ให้ทานขนมที่ชอบ ไม่ให้ไปเที่ยวคือวิธีการลงโทษด้วยการงดให้รางวัลที่เด็กชอบ สามารถทำได้โดยไม่เป็นการทำร้ายสุขภาพร่างกายของเด็ก ทำให้เรียนรู้ว่าถ้าเขามีพฤติกรรมที่ไม่สมควร เขาจะไม่ได้ในสิ่งที่เขาชอบ วิธีนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า "การเสริมแรงทางลบ" (Negative Reinforcement)
ซึ่งนอกจากการงดให้รางวัลแล้ว เรายังมีวิธีการลงโทษอื่นๆ ที่ไม่เจ็บตัว เป็นประโยขน์ต่อตัวผู้ถูกลงโทษและสังคมอีก เช่น ให้ทำความสะอาดบ้านมากขึ้นกว่าเดิม ทำความสะอาดห้องเรียน เก็บขยะ ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษหรือเขียนรายงานภาษาอังกฤษเมื่อลืมทำการบ้าน การลงโทษแบบนี้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ขอมีความเห็นเพิ่มเติมอีกหน่อยเกี่ยวการลงโทษผู้กระทำความผิดของประเทศต่างๆ รวมถึงของไทยเราด้วย ดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจับนักโทษมาขังเฉยๆไว้ในคุก บางคนมีคดีฆ่าคน ข่มขืน โกงกิน การจำคุกตลอดชีวิตก็เปลืองข้าวสุกของรัฐ น่าจะให้ผู้กระทำความผิดทำงานให้เป็นประโยชน์ระหว่างต้องโทษให้มากขึ้นจะดีไหม? เช่น ไปทำไร่ทำนาปลูกข้าว ปลูกผักเลี้ยงนักโทษด้วยกันเอง คนที่โกงกินค่าก่อสร้าง ก็ไปเป็นแรงงานทำถนน ไปขุดท่อ หรือเด็กวัยรุ่นที่ชอบยกพวกตีกัน ขว้างระเบิด ก็จงไปทำงานรับใช้กองทัพ เย็บชุดเครื่องแบบ ทาสี ซ่อมเครื่องยนต์ เป็นต้น
นอกจากวิธีเสริมแรงทางลบ เราก็ยังมี "วิธีเสริมแรงทางบวก" (Positive Reinforcement) คือการส่งเสริมให้รางวัล ให้ในสิ่งที่เด็กหรือพนักงานชอบเมื่อเขาพัฒนาปรับปรุงตนเองและแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง พ่อแม่ครูอาจารย์และผู้บังคับบัญชาบางคนเป็นแต่ลงโทษเวลาเด็กหรือพนักงานทำผิด แต่ไม่ให้รางวัลหรือชมเชยเวลาที่พวกเขาทำดีหรือทำถูก ในการปรับทัศนะคติและพฤติกรรมเราต้องใช้ทั้งวิธีเสริมแรงทางลบและบวกควบคู่กันไป การเสริมแรงทางลบทำให้คนตระหนักว่าสิ่งที่เขาทำไปไม่ถูกต้อง ไม่เป็นที่ยอมรับ เขาจึงไม่ได้รับในสิ่งที่เขาชอบ และเมื่อเขาทำถูกต้อง เขาก็จะได้ในสิ่งที่เขาปรารถนา เพราะถ้าทำดีแล้วไม่มีรางวัล มนุษย์เราโดยส่วนมากก็จะหมดกำลังใจท้อถอย ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการทำดี
สรุปสูตรง่ายๆในการลงโทษโดยทั่วไปก็คือ อบรมให้รู้ระเบียบกติกาก่อน
อย่าลงโทษด้วยอารมณ์ อธิบายเหตุผล เสริมแรงทางลบ จบด้วยการเสริมแรงทางบวกค่ะ หากผู้กระทำความผิดมีอาการหนักหนาสาหัสกว่านี้ งานนี้อาจต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญแล้วค่ะ