ทำงานสไตล์เยอรมัน ใช้เวลาน้อย แต่ผลิตภาพสูง
สาเหตุที่ทำให้ชาวเยอรมันที่ทำงานน้อยชั่วโมงกว่า แต่สร้างผลงานได้พอๆกับชาวอเมริกัน ศึกษาพบปัจจัยหลักคือเรื่อง วัฒนธรรมในการทำงาน
โดยทั่วไปคนอเมริกันมีนิสัยชอบเก็บสถิติ ชอบวิเคราะห์เปรียบเทียบเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเปรียบเทียบตนเองกับคนชาติอื่นๆอยู่เนือง และหนึ่งในเรื่องที่ชาวอเมริกันในแวดวงการบริหารจัดการให้ความสนใจก็คือเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ความที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่และครองความเป็นอภิมหาอำนาจมาช้านาน จึงอาจทำให้คนอเมริกันรู้สึกว่าชาติของตนน่าจะครองตำแหน่งเป็นผู้นำในหลายๆเรื่อง อย่างในเรื่องของผลิตภาพ (Productivity) คนอเมริกันก็ได้เที่ยวตามสังเกตสังกาและเก็บสถิติว่าชนชาติใดในโลกที่มีผลิตภาพในการทำงานสูง แล้วก็ได้รู้ว่าเป็นชาวเยอรมันคู่ปรับเก่าสมัยสงครามโลกที่ 2 นี่เองที่ทำงานมีผลิตภาพสูงกว่าชาวอเมริกัน
จากการสำรวจพบว่าในปีหนึ่งๆชาวเยอรมันทำงานประมาณ 1,436 ชั่วโมง ในขณะที่ชาวอเมริกันทำงานปีละประมาณ 1,804 ชั่วโมง มากกว่าตั้ง 300 กว่าชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เวลาจำนวนน้อยๆเลย จากตัวเลขนี้ทำให้นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันต้องทำการศึกษาต่อไปว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชาวเยอรมันที่ทำงานน้อยชั่วโมงกว่า แต่สร้างผลงานได้พอๆกับชาวอเมริกัน ศึกษาไปแล้วก็พบว่าปัจจัยหลักคือเรื่องของวัฒนธรรมในการทำงาน (Work culture) นั่นเองที่เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรมในการทำงาน เรามาดูกันว่าสองชาตินี้มีวัฒนธรรมในการทำงานที่ต่างกันอย่างไร เผื่อคนไทยจะได้นำข้อมูลนี้มาใช้ในการปรับปรุงวิธีการทำงานของเราบ้าง เพราะคนไทยเรามักถูกมองว่าเป็นชนชาติที่แม้จะเป็นมิตร มีความโอบอ้อมอารี แต่ในเรื่องของการทำงาน ท่านคงเห็นด้วยกับดิฉันว่าเรายังสามารถพัฒนาให้เข้มแข็งเข้มข้นได้มากกว่านี้อีก
ความคิดที่แตกต่างเรื่องเวลา (time) ที่ใช้ในการทำงาน
นักวิเคราะห์อย่างเช่นเกล็น สแตนส์เบอร์รี่ให้ความเห็นว่าชาวอเมริกันเกิดมาพร้อมกับความเชื่อฝังลึกว่าการสร้างผลิตภาพให้เกิดขึ้นต้องใช้เวลา ไม่มีหนทางลัดในการสรรค์สร้างผลงานดีๆ ดังนั้นการทำงานให้ได้ผลดีเป็นเรื่องของการทำงานหนักที่ต้องใช้เวลา ชาวอเมริกันจึงเชื่อมโยงเรื่องของผลงานเข้ากับเรื่องที่ของการต้องใช้เวลา สแตนส์เบอร์รี่ยกตัวอย่างอเมริกันชนที่ได้รับยกย่องในเรื่องผลงานความสำเร็จอย่างเช่น บิลล์ เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ และแซม วอลตันส์ เจ้าของวอลมาร์ทว่าสองท่านนี้ต่างเป็นคนที่สร้างตัวจากที่ไม่เคยมีอะไร แต่ทำงานหนักหนาสาหัสกว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคจนบรรลุความสำเร็จได้ ฮีโร่ของอเมริกันชนจึงแสดงภาพของคนที่ต้องทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แต่ทางฝั่งยุโรปมีความคิดที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเรื่องความสมดุลย์ระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว (Work/life balance) ทั้งนี้นอกจากจะมีการเปรียบเทียบจำนวนชั่วโมงทำงานต่อปีของชาวเยอรมันที่น้อยกว่าของชาวอเมริกันยังไม่พอ การศึกษายังแสดงให้เห็นอีกว่าชาวเยอรมันทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง หรือวันละ 7 ชั่วโมง พวกเขาไม่ได้ดองอยู่ที่ทำงานจนดึกดื่นแบบชาวอเมริกันหรือชาวญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่บ้างานมากที่สุดในโลกชนชาติหนึ่ง (แต่ปัจจุบันคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ก็ลดความบ้างานลงไปมากแล้ว) นอกจากนี้ที่เป็นทีเด็ดก็คือชาวเยอรมันมีจำนวนวันพักร้อนมากกว่าพนักงานชาวอเมริกันอีกด้วย โดยแต่ละปีคนเยอรมันมีสิทธิ์ลาพักร้อนได้ปีละ 6 สัปดาห์...ทั้งนี้ท่านอ่านไม่ผิดหรอกค่ะ 6 สัปดาห์ ไม่ใช่ 6 วัน นี่ละคือวิถีชีวิตของมนุษย์เงินเดือนชาวเยอรมันที่มนุษย์เงินเดือนชาติอื่นอิจฉาจนต้องเอาน้ำแข็งมาประคบตาไม่ให้มันร้อนเกินไป คนเยอรมันเขาลาพักร้อนได้ 6 สัปดาห์ แล้วยังไง? เยอรมันก็ยังเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดชาติหนึ่งในโลก เป็นเสาหลักที่ช่วยค้ำจุนสพภาพยุโรปให้ยืนหยัดอยู่ได้จนทุกวันนี้แม้จะมีประเทศสมาชิกอื่นๆที่ฐานะทางการเงินง่อนแง่นเต็มที ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ที่เกี่ยวกับประเทศเยอรมนีจึงทำให้ชาวอเมริกันต้องหันกลับมาวิเคราะห์ตนเองใหม่ว่าความเชื่อและวิธีการทำงานของตนเองยังเป็นแนวทางที่เหมาะสมอยู่หรือไม่
ชั่วโมงทำงาน มีไว้ทำงานเท่านั้น
เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปอีกโดยเข้าไปดูในองค์กรห้างร้านต่างๆว่าพนักงานชาวเยอรมันทำงานกันอย่างไร ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษที่เคยทำงานร่วมกับชาวเยอรมันเล่าว่า พนักงานชาวเยอรมันในชั่วโมงทำงานก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานจริงๆ ไม่มีการเสียเวลาชงกาแฟแล้วอ้อยอิ่งนั่งเม้าท์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ อยู่ในห้องทำงานก็ไม่มีการส่งไลน์ โพสต์ข้อความต่างๆที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีการโพสต์รูปลงอินสตาแกรม และถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งมีพฤติกรรมเช่นนั้น เพื่อนร่วมงานจะแสดงอาการไม่ยอมรับและต่อต้าน การสนทนาในชั่วโมงทำงานก็จะมีแต่เรื่องงาน ไม่มีการคุยเรื่องส่วนตัว ซึ่งวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ทำให้ชาวอเมริกันและอังกฤษรู้สึกว่ายากที่จะรับ เพราะมันอาจดูเคร่งเครียดแห้งแล้ง สำหรับชาวไทย ดิฉันคงไม่ต้องคอมเม้นต์ คงพอจะเดากันได้ไม่ยาก ดังนั้นเมื่อวัฒนธรรมการทำงานของชาวเยอรมันเป็นเช่นนี้ มันจึงเอื้อให้พวกเขามีสมาธิในการทำงานมาก ดังนั้น 7 ชั่วโมงของการทำงานเนื้อๆจึงเป็นเวลาที่เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องอยู่จนดึกดื่น
ทำงานจริง เล่นก็เล่นจริง (Work had play hard) เห็นคนเยอรมันทำงานแบบเนื้อๆน้ำไม่เอา ก็อย่าเข้าใจว่าพวกเขาไม่รู้จักพักผ่อน ไม่รู้จักเข้าสังคม แม้ว่าจะไม่ใช่วิสัยของชาวเยอรมันที่จะสรวลเสเฮฮาหลังเวลางาน แต่ชาวเยอรมันมีสังคมของเขา ถ้าเป็นคนที่ชอบกีฬาก็จะเข้าไปสังสรรค์กับคอเดียวกันที่คลับหรือสโมสรกีฬาของเขา บางคนชอบดนตรีก็ไปเข้าสโมสรคนรักเสียงเพลง คนชอบเดินป่าปีนเขาก็ไปสโมสรเดินป่าปีนหน้าผา ว่ากันไปตามรสนิยม เข้าทำนองเวลาทำงานก็ทำงานจริง เวลาพักผ่อนเวลาเล่นก็เล่นกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว คือเข้าคลับเข้าสโมสรกันไปเลย และเวลาพักร้อนก็หายไปเลย 6 สัปดาห์...เท่านั้นเอง! นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมันยังให้การส่งเสริมเรื่องคุณภาพชีวิตครอบครัวเป็นอย่างยิ่งด้วย พนักงานหญิงสามารถขอลาคลอดและดูแลทารกหลังคลอดได้นานที่สุดถึง 3 ปีโดยไม่ต้องลาออก (แน่นอนที่บริษัทไม่จ่ายเงินเดือนให้นานขนาดนั้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องดีที่สามารถรักษาสภาพการเป็นพนักงานและกลับมาทำงานได้ จริงไหมคะ?)
ประชุมน้อยหน่อย ทำงานมากหน่อย งานนี้คนที่เบื่อประชุมคงนึกอยากทำงานแบบเยอรมันบ้าง จากประสบการณ์ของคนอเมริกันที่เคยทำงานกับคนเยอรมัน เขาบอกว่าคนเยอรมันมีสไตล์ทำงานออกแนวศิลปินเดี่ยว คือต่างคนต่างรับผิดชอบงานของตนเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาจะใช้เวลาน้อยกว่าคนอเมริกันในการประชุมงานเพื่อสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งคนอเมริกันเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ แต่แล้วก็พบว่าถ้ามีการประชุมมากเกินไป พนักงานก็จะไม่มีเวลาพอที่จะจดจ่อกับงานที่ตนรับผิดชอบ วันๆเข้าประชุม 3 – 4 ประชุมก็หมดวันแล้ว และการประชุมที่มีหลายครั้งก็ไม่มีประสิทธิภาพและเนื้อหาสาระเท่าที่ควร คนไทยเราก็น่าลองทบทวนเมือนกันนะคะว่าการประชุมของเราได้เนื้อหาสาระสมกับเวลาที่เสียไปหรือไม่
สวัสดิการสังคมที่ดีกว่าทำให้ชาวเยอรมันมุ่งจดจ่องานได้ดีกว่า นอกจากกฎหมายจะอนุญาตให้ชาวเยอรมันพักร้อนได้นานถึง 6 สัปดาห์ ให้คุณแม่ลาหลังคลอดได้เป็นปีแล้ว รัฐบาลยังพยายามจัดสวัสดิการให้พลเมืองชาวเยอรมันมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ สวัสดิการนี้ได้แก่การรักษาพยาบาลฟรี การศึกษาฟรี บริการดูแลเด็กฟรี ทั้งนี้ในประเทศอื่นๆอย่างสหรัญอเมริกา เรื่องค่ารักษาพยาบาลและสถานดูแลเด็กเป็นเรื่องที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงและทำให้พนักงานชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อย สุขภาพไม่ดีและมีลูกเล็กต้องหอบเอาความกังวลนี้เข้าไปในที่ทำงานด้วย ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทสมาธิไปกับงานได้มากเท่าชาวเยอรมันที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้
จากที่คุยกันมาทั้งหมดนี้ เราคงได้แง่คิดมุมมอใหม่ๆในการทำงานให้ได้ผลิตภาพมากขึ้นนะคะ ทั้งนี้เราคงทำตามแบบอย่างของชาติอื่นไม่ได้หมดทุกอย่าง แต่เราอาจปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับค่านิยมของบ้านเราโดยที่สามารถสร้างผลิตภาพได้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ย่อมต้องพิจารณาจากสภาพแวดล้อมของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันออกไปด้วยค่ะ