พัฒนาการของ Technology กับการลงทุน
พัฒนาการของ Technology กับการลงทุน
การพัฒนาของเทคโนโลยีในด้านการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต ส่งผลต่อให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนเปลี่ยนไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยจากข้อมูลสถิติและผลการสำรวจล่าสุดเมื่อต้นปี 2560 ของ WeAreSocial ซึ่งเป็น Agency ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้าน Digital และ Social Media ทั่วโลกพบว่าประเทศไทยมีประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 46 ล้านคนหรือคิดเป็น 67% และมีประชากรที่ใช้ อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile) ถึง 44.85 ล้านคน โดยมีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางต่างๆ สูงกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่เวลาที่ใช้ในการดูโทรทัศน์เหลืออยู่ที่เพียงประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ลงทุนในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล (Content) โดยเปลี่ยนจากการรับข่าวสารข้อมูลผ่านช่องทางแบบเดิม เช่น สิ่งพิมพ์และช่องทางโทรทัศน์ มาเป็นรูปแบบ Digital ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้รวมไปถึงพฤติกรรมในการลงทุนด้วยเช่นกัน
ในอดีตการซื้อขายหลักทรัพย์ มักนิยมทำโดยการส่งคำสั่งผ่านเจ้าหน้าที่ของบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ต่อมาในปี 2543 ตลาดหลักทรัพย์ได้เพิ่มช่องทางการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก และบริษัท Settrade.com ได้พัฒนา Streaming เพื่อเป็นโปรแกรมการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน Mobile Phone เป็นครั้งแรกในปี 2552 ซึ่งต่อมาผู้พัฒนาโปรแกรมการซื้อขายทาง Mobile เพิ่มขึ้นอีกมากช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้นและสอดคล้องกับ Lifestyle โดยปัจจุบันเรามีบัญชีซื้อขายหุ้นอินเทอร์เน็ต 1.2 ล้านบัญชี และการซื้อขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36% ของการซื้อขายทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเงินการลงทุนไทยและทั่วโลกได้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการลงทุน และตอบสนองกับความต้องการของผู้ลงทุนในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน โดยรูปแบบแรกที่เห็นชัดเจนสุด คือ การพัฒนาช่องทางการสื่อสารและการเข้าถึงผู้ลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ Social Media เช่น Line, Facebook, YouTube เพื่อให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้ลงทุน เช่น Line Finance ที่เพิ่งเปิดตัวมาไม่นานนี้ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า chatbot มาตอบคำถามหรือให้ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์แก่ผู้ใช้งานเมื่อป้อนคำถามหรือ Keyword ง่ายๆ และล่าสุดมีการใช้เทคโนโลยีแบบ AI หรือปัญญาประเดิษฐ์ ในการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ลงทุน และสามารถจะส่งข้อมูลที่สำคัญและเหมาะสมให้แก่ผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น ฟังก์ชัน "Sense" บน Settrade Streaming ที่เป็นเหมือนผู้ช่วยในการส่งข้อมูลหุ้นที่ผู้ลงทุนสนใจให้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของราคา เตือนวันจ่ายปันผล รวมถึงการอัพเดตข่าวสาร เพื่อใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุน
สำหรับในด้านเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน เดิมที่พบเห็นทั่วไปนั้นมักจะเป็นเรื่องของการใช้กราฟวิเคราะห์แบบ Technical ต่อมามีการพัฒนาให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายจากกราฟ และเครื่องมือที่ช่วยคัดกรองหุ้น โดยในไทยนั้นมีบริการให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น “Settrade Stock Screener” ที่คัดกรองหุ้นตามสไตล์การลงทุน เช่น หุ้น Value หุ้น Growth หรือหุ้น Momentum หรือ StockRadars ที่คัดกรองหุ้นเด่นด้วยปัจจัยทางเทคนิค เป็นต้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยียังถูกนำมาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมซื้อขายแบบอัตโนมัติ ที่เรียกกันว่า Algorithmic Trading หรือ Program Trading ซึ่งคอมพิวเตอร์จะส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโดยอัตโนมัติทันทีที่ตัวแปรที่กำหนดไว้ เช่น ระดับราคาหุ้น หรือดัชนีบ่งชี้ด้านเศรษฐกิจ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่มีการประเมินราคาซับซ้อนทำได้เร็ว ปรับกลยุทธ์ซื้อขายได้รวดเร็ว และสร้างกลยุทธ์ทำกำไรจากการซื้อขายข้ามตลาดได้ รวมทั้งยังเป็นการงดการใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจซื้อขายและทำให้ลงทุนตามแผนได้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีโบรกเกอร์ไทยบางรายให้บริการ Robot Trading แก่ผู้ลงทุน ซึ่งก่อนการลงทุนนั้นผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสไตล์การลงทุนและระดับความเสี่ยงของ Model ภายใต้บริการดังกล่าว
แนวโน้มการให้บริการของธุรกิจที่เป็นที่นิยมสูงโดยเฉพาะในต่างประเทศอีกรูปแบบหนึ่งคือ Robo Advisor ซึ่งก็คือการทำ Asset Allocation แบบอัตโนมัติสำหรับผู้ลงทุนแต่ละคนในการการจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน และระดับผลตอบแทนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น การเก็บเงินเพื่อใช้หลังเกษียณอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อผู้ลงทุนจะได้รับคำแนะนำจาก Robo Advisor ในการจัดพอร์ตลงทุนแล้ว เงินลงทุนจะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามแผน รวมถึงการปรับพอร์ตลงทุนโดยอัตโนมัติ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ Robo-Advisors ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ ค่าธรรมเนียมในการลงทุนต่ำ โดยบริษัทต่างประเทศที่เป็นผู้นำด้านการให้บริการดังกล่าว ได้แก่ Charles Schwab, Wealthfront, และ Betterment โดยมีการคาดการณ์ว่าบริการ Global Robo-Adviser นี้มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมูลค่าถึง 255 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2563
จะเห็นได้ว่านับแต่อดีตถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการลงทุนใหม่ๆ รวมไปถึงเครื่องมือลงทุนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ จะถูกนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อการให้บริการทางการเงินการการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Biometric ในการยืนยันความเป็นตัวตน การใช้ AI ในการที่จะศึกษาพฤติกรรมผู้ลงทุน และพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้แก่ผู้ลงทุน หรือการให้บริการ Robo-Adviors ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจปัจจุบันต้องมีการปรับตัวและใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยพัฒนาการด้านกฏระเบียบที่จะต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงความสมดุลย์ของทั้งการเปิดช่องในพัฒนาธุรกิจและการกำกับดูแลโดยคำนึงถึงทั้งผู้ประกอบการรายเดิม รายใหม่ และผู้ลงทุน