“ทัศนคติ” อิทธิพลสำคัญต่อแบรนด์
ทัศนคติและการรับรู้ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ หรือ ผลิตภัณฑ์และบริการจึงกลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญถึงการตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการแบรนด์นั้นๆ
คนเรามักคิดเสมอว่าการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หรือบริการส่วนใหญ่ เป็นผลจากความต้องการบริโภคที่ใช้หลักเหตุผลเป็นที่ตั้ง แต่ความเป็นจริงแล้วสมองเราใช้อารมณ์และความรู้สึกมาช่วยตัดสินใจมากกว่าที่เราคิด ดังนั้นทัศนคติและการรับรู้ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ หรือ ผลิตภัณฑ์และบริการจึงกลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญถึงการตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการแบรนด์นั้นๆ ของผู้บริโภค
ทัศนคติ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียนรู้จากประสบการณ์และสิ่งรอบตัว มี 3 องค์ประกอบด้วยกัน ส่วนแรกเป็นความเข้าใจ ได้แก่ ความรู้ การรับรู้ และความเชื่อ ส่วนที่สอง คือ ความรู้สึก และสุดท้ายเป็นส่วนของพฤติกรรม สิ่งเหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นวิธีคิดแต่ละบุคคลส่งผลต่อการตัดสินใจ เป็นหน้าที่นักการตลาดในการสร้างแบรนด์และทำการตลาดเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ และทัศนคติที่ดีในกลุ่มผู้บริโภค ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
สิ่งที่แบรนด์จำเป็นต้องทำการบ้านเพิ่มเติม คือ กลุ่มคนรอบตัวของกลุ่มเป้าหมาย ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ เช่น ครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน เพราะหลายครั้งการตัดสินใจของคนเรา ตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ มักได้รับอิทธิพลจากกลุ่มคนเหล่านี้ การที่คนรอบตัวมีทัศนคติแง่ลบต่อแบรนด์ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด จะส่งผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจเลือกใช้สินค้าหรือบริการกลุ่มเป้าหมายหลัก
การีนาเองต้องเจอกับความท้าทายในเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ เนื่องจากยังมีคนจำนวนหนึ่งยังมีข้อสงสัยว่าเกมให้ประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน ทั้งที่ปัจจุบันเกมสร้างทางเลือกที่หลากหลายในแง่การประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในวงการธุรกิจเกม หรือ “อีสปอร์ต” ที่กำลังเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งวงการไอที หรือวงการนักพัฒนาและออกแบบเกม
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกกลุ่มที่คนรอบข้าง รวมทั้งผู้ปกครองมีความเข้าใจ คอยกำกับดูแลและให้การสนับสนุนน้องๆ ที่มีใจรักในเกม ให้ประสบความสำเร็จในสายอาชีพของธุรกิจเกมได้ เช่น โปรแกรมเมอร์ กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ แอนิเมเตอร์ และ แคสเตอร์ เป็นต้น รวมไปถึงการก้าวไปเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพจนสร้างรายได้ให้กับตนเองตั้งแต่อายุยังน้อย
ด้วยเหตุนี้แบรนด์ จึงควรศึกษาว่า กลุ่มคนรอบตัวของกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และมีทัศนคติอย่างไรต่อแบรนด์ เพื่อสร้างความเข้าใจ นำไปสู่ทัศนคติในทางบวกกับกลุ่มคนรอบตัวเหล่านี้ สิ่งที่แบรนด์ทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของบุคคลเหล่านั้น คือ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสินค้าและบริการกำลังนำเสนออะไร สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์
“ความจริงใจ” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ข้อมูลที่ส่งออกไปต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง สิ่งที่เราเชื่อและทำมาตลอด คือ ผลักดันให้เกิดการเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ แบ่งเวลาอย่างถูกต้อง และเรายังนำเสนอมุมมองที่แตกต่างผ่านการผลักดันวงการอีสปอร์ตของไทย มีการจัดอีเวนท์ และการแข่งขันมากมาย ซึ่งอีเวนท์เหล่านี้ เป็นเหมือนพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ปกครองที่พาบุตรหลาน หรือ บุคคลทั่วไปที่ได้มาร่วมงานรับรู้ว่า วงการเกมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถสร้างงาน และสร้างรายได้อย่างมั่นคง มีสายอาชีพที่เป็นไปได้จริงคอยรองรับน้องๆ เยาวชนที่รักและอยากเป็นส่วนหนึ่งของวงการเกม
เห็นชัดว่างานไหนที่เราใช้พรีเซนเตอร์ที่มีอิทธิพลในทางบวก และเป็นตัวอย่างที่ดีจะทำให้น้องๆ เกิดความสนใจเป็นอย่างมาก อย่างการนำนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยซึ่งเป็นผู้เล่นของเราจริงๆ มาเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มคนรอบตัวได้รับรู้ว่า ทุกคนสามารถบริหารเวลาและเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ได้ รวมทั้งยังมีการจับมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในเรื่องของการให้ทุนการศึกษาสนับสนุนนักกีฬาอีสปอร์ต และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรที่สนใจเข้ามาพัฒนาวงการเกม
นอกจากนี้ สังคมยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภครับรู้ข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมากขึ้น กระแสของความคิดและพฤติกรรมจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว แพร่กระจายไปยังหลายกลุ่ม ปัจจุบันการตลาดที่ได้ผลดีที่สุดทั้งในแง่การกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจและมีการรับรู้ถึงแบรนด์มากขึ้น จนนำไปสู่การซื้อหรือทำให้ลูกค้ากลับมาใช้สินค้าและบริการซ้ำ คือ การตลาดแบบปากต่อปากของกลุ่มคนรอบข้าง ที่ได้รับความเชื่อถือเป็นการส่วนตัวจากกลุ่มเป้าหมาย
การสร้างทัศนคติที่ดีมีผลต่อการสร้างแบรนด์มาก เพราะทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์คือภาพลักษณ์และตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ การสร้างหรือปรับทัศนคติที่มีต่อแบรนด์จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความทุ่มเทและเวลา หากเราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ให้เป็นทัศนคติที่ดีได้แล้ว ก็สามารถเปลี่ยนให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นลูกค้า หรือ เป็นเสมือน Spokesperson และ Influencer ที่ดีของเราได้