อวสาน “องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม” มาตรา67 วรรคสอง รธน.50**
ท่านผู้อ่านคงจะได้ติดตามกระแสข่าวเกี่ยวกับความชอบด้วยกระบวนการการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า“อีไอเอ"
ในช่วงเวลาที่ผ่านมากันบ้างแล้ว ผู้เขียนอยากจะโยงถึงอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนการพิจารณาสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อยู่ในข่ายต้องจัดทำ “อีไอเอ”
ท่านผู้อ่านยังคงจำกันได้ว่า เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ได้มีการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในคดีมาบตาพุด ที่ส่งผลให้โรงงานประมาณ 76 แห่งต้องหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว โดยมีที่มาจากกรณีที่หน่วยงานของรัฐ อนุมติโครงการโดยไม่ปฏิบัติต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550)
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา เรามาย้อนทบทวนเนื้อหาของมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กันสักเล็กน้อยนะคะ
มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า
“การดำเนิน โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
จากบทบัญญัติของมาตรา 67 วรรคสอง ประกอบกับคดีมาบตาพุดตามที่ผู้เขียนเกริ่นนำไว้ข้างต้น ได้เป็นที่มาของการเริ่มจัดตั้ง “องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ให้ความเห็นสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
ในขณะนั้นแม้ว่ามาตรา 67 วรรคสอง ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 หากแต่ไม่เคยมีการออกกฎหมายการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมบังคับใช้แต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเกิดกรณีคดีมาบตาพุดขึ้น รัฐบาลในสมัยนั้นจึงต้องออกกฎเกณฑ์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน โดยอาศัยกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อตราระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นชอบขององค์กรอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ. 2553 “ระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2553” โดยเป็นระเบียบที่รัฐบาลในสมัยนั้นคาดว่าจะประกาศใช้เพียงชั่วคราวระหว่างที่มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
(หมายเหตุ: ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ตกไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล และรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้มีการยืนยันรับร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อจะให้เป็นกฎหมายต่อไป)
ต่อมาภายหลังจากที่ระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2553 มีผลใช้บังคับแล้ว รัฐบาลได้ออกประกาศให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (หรือที่ใช้ชื่อว่า “กอสส.”) ขึ้นในปี 2554 มีหน้าที่ในการให้ความเห็นในรายงาน “อีไอเอ” เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง กอสส. ขึ้นจนถึงปัจจุบัน มีโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่ กอสส. ได้ให้ความเห็นถึง 28 โครงการ โดยโครงการสุดท้ายที่ กอสส. ได้ให้ความเห็นคือ โครงการโรงงานผลิตสารโอเลฟินส์ (ส่วนขยายครั้งที่ 3) ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ให้ความเห็นเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา และถือเป็นโครงการสุดท้าย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ต.ค. เห็นชอบให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2553 และประกาศต่าง ๆ ที่ออกตามระเบียบดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับ กอสส.
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2553 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 และถือเป็นการสิ้นสุดหน้าที่ของ กอสส. อย่างถาวร
ผู้เขียนเข้าใจว่า เหตุผลสำคัญของการยุติหน้าที่ของ กอสส. นั้น สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีองค์กรอิสระเข้ามาอยู่ในกระบวนการการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกต่อไปนั่นเอง
นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560) และกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 17 ธ.ค. 2560
ประกาศฉบับนี้้กำหนดให้ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์การจัดทำรายงาน “อีไอเอ” ฉบับปี พ.ศ. 2552, 2553 และ 2554 (รวม 3 ฉบับ) ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และไม่มีข้อกำหนดให้กระบวนการการจัดทำรายงาน “อีไอเอ” สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงต้องขอความเห็นชอบจากองค์การอิสระอีกต่อไป
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้สักเล็กน้อยว่า การลดขั้นตอนกระบวนการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ที่มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ในอดีต ปรับปรุงเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้) นั้น จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างคดีมาบตาพุดขึ้นอีกหรือไม่ และกฎเกณฑ์หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะออกตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น จะมีแนวทางหรือมาตรการการตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด
เสียงของประชาชนที่มีต่อรายงานสิ่งแวดล้อมจะได้รับการรับฟังเพียงใด อะไรคือแนวทางการป้องกันอำนาจทับซ้อนของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการอนุมัติรายงานสิ่งแวดล้อมกับผู้ที่จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม ควรมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมที่จัดทำรายงานโดยไม่สะท้อนต่อความเป็นจริงหรือไม่ หรือจะมีมาตรการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
** ชื่อเต็มเรื่อง: อวสาน “องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม” (ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550)
โดย... กุลชา จรุงกิจอนันต์
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่