การดูแลแบบประคับประคอง ทางเลือกที่ดีกว่าการุณยฆาต
หลายท่านคงได้อ่านข่าว คุณกอล์ฟ หนุ่มไทยป่วยเป็นมะเร็งในสมอง ผ่าต้ดสามครั้งแล้ว กำลังจะต้องผ่าตัดครั้งที่สี่
ตัดสินใจไปทำการุณยฆาต ที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562[3]
บางท่านอ่านแล้วเห็นใจผู้ป่วยคนนี้ และเห็นด้วยกับการุณยฆาต หากกรณีเป็นโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นับเป็นกรณีศึกษาที่ได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ หลายคนเริ่มคิดว่า เหตุใดเราจึงไม่อนุญาต ให้ทำการุณยฆาตในสังคมไทยได้บ้าง?
แม้ดูเผินๆ การุณยฆาตน่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่การุณยฆาตมิใช่ทางออกที่สังคมโลกสนับสนุน การุณยฆาตเป็นการฆาตกรรมชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่วงการแพทย์แผนปัจจุบันยอมรับไม่ได้ ผิดหลักจริยธรรมข้อแรกๆ ของแพทย์ ที่ถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยฮิปโปเครตีส กล่าวคือ แพทย์จักไม่ใช้วิชาความรู้ในการทำร้ายผู้คน เพราะว่า หากวงการแพทย์ให้การยอมรับเรื่องการฆ่าคนได้ ย่อมทำให้เสื่อมเสียต่อวงการแพทย์ ขาดความไว้วางใจจากผู้รับการบริบาลทั้งหลาย จนเป็นเหตุให้เกิดความระแวงว่า แพทย์อาจใช้ความรู้ในทางที่ผิด
การฆาตกรรมหรือแม้จะเป็นการฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำการโดยแพทย์หรือแพทย์ให้ความช่วยเหลือทางอ้อมก็ตาม เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมใดๆ แม้ความเจ็บป่วยก็ไม่สมควรนำมาเป็นข้ออ้างในการฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย หรือแม้การจะอนุญาตให้ทำได้ สังคมพุทธมักถึอว่าความเจ็บป่วยที่ทำให้ทุกข์ทรมานรักษาไม่ได้นั้น มีเหตุปัจจัยมาจากอดีต ถือเป็นวิบากกรรมอย่างหนึ่ง การบำบัดด้วยการุณยฆาตถือเป็นการก่อกรรมหนักชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากการฆ่าผู้อื่นให้ตาย ชาวพุทธส่วนใหญ่จึงยอมรับผลของกรรมแต่โดยดี
การุณยฆาต เป็นทางออกที่ง่ายเกินไปสำหรับคนป่วย สวนทางกับพัฒนาการของวงการแพทย์ ซึ่งได้พัฒนาวิธีบำบัดโรคได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าในหลายกรณี การบำบัดโรคนั้นเองกลับก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคุณกอล์ฟในกรณีศึกษานี้ และในทางกลับกัน การแพทย์แผนปัจจุบัน ก็มีวิธีบำบัดความทุกข์ทรมานที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นโรคที่รักษายาก หรือรักษาไม่หาย ยุคนี้เราสามารถทำให้ผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามกระจายไปทั่วตัว และปวดอย่างทุกขเวทนามากเสียจนอยากตาย ให้หายปวดได้เป็นปลิดทิ้ง และสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่เช่นเดียวกับคนที่ไม่ป่วย เราพบว่า ผู้ที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรง แต่ไม่ทุกข์ทรมานจากความปวดหรืออาการรบกวนอื่นๆ ไม่มีใครอยากรีบตายหรอก โดยที่หากยังไม่ถึงเวลาที่จะจากไป ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ป่วยรู้ว่า ตนเองเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และเข้าใจในสัจธรรมว่า ถึงจะตายก็ได้ แต่ขอไม่ทรมานก่อนตาย ซึ่งในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถที่จะเคารพความประสงค์ของผู้ป่วยที่จะไม่รับการรักษาตัวโรค เพื่อมิให้ต้องรับผลข้างเคียงจากการรักษา หรือเป็นภาระแก่คนในครอบครัวและสังคม หรือเพื่อใช้เวลาในการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์เป็นประโยชน์แทนการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็มีสิทธิปฏิเสธการรักษาเหล่านั้น โดยจะยังคงมีบุคคลากรทางการแพทย์ช่วยดูแลต่อเนื่อง เพื่อบำบัดอาการทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต การแพทย์แนวนี้ เรียกกันว่า Palliative care ซึ่งภาษาไทยใช้ว่า “การดูแลระยะท้าย” หรือ “การดูแลแบบประคับประคอง” ซึ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และเรื่องการดูแลแบบประคับประคองนี้ยังอยู่ในสิทธิรับบริการสาธารณสุขของรัฐทุกสิทธิอยู่แล้ว
คุณกอล์ฟ ผู้ป่วยในกรณีศึกษาของเรา เป็นเนื้องอกในสมอง ก้อนเนื้อกลับมาใหม่หลังผ่าตัดไปแล้วหลายครั้ง แม้ว่าการผ่าตัดในครั้งที่สองและสาม จะยังสามารถทำได้และสามารถยืดชีวิตของเขาได้อีกชั่วคราว แต่ก็ต้องแลกด้วยการเจ็บตัว เสียเวลาในโรงพยาบาล เสียค่าใช้จ่าย และได้รับผลข้างเคียงและเกิดโรคแทรกซ้อนจากการรักษา หากผู้ป่วยในกรณีศึกษาของเรานี้ ได้เข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง เขาย่อมมีสิทธิเลือกที่จะไม่เข้ารับการผ่าตัด และอนุญาตให้ตัวเองจากไปอย่างสงบปราศจากความทุกข์ทรมานภายใต้การดูแลของแพทย์และทีมสุขภาพได้ การเสียชีวิตด้วยมะเร็งหรือก้อนในสมอง เป็นการตายที่คนส่วนใหญ่มองว่า “ไปดี” ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัวอาเจียนในช่วงหนึ่ง ซึ่งบำบัดให้หายได้ด้วยยา แต่ต่อมาจะนอนหลับมากขึ้น จนกระทั่งปลุกไม่ตื่น และตายไปขณะหลับอยู่ หากแพทย์ผู้ดูแลเคารพความประสงค์ของผู้ป่วย และอนุญาตให้ทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติ เรื่องคงจบด้วยดี ไม่ต้องทนทรมานจากผลข้างเคียง ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ และการดิ้นรนไปหาที่ทำการุณยฆาตให้เป็นภาระค่าใช้จ่าย และก่อกรรมหนักเช่นนี้
ถ้าหากคนในครอบครัวหรือญาติบางคน ไม่เห็นด้วยกับผู้ป่วยที่จะขอจากไปตามธรรมชาติ ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิในการเขียนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข หรือ “พินัยกรรมชีวิต” ตาม ม.12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพื่อขอให้แพทย์เคารพความประสงค์ของตนที่จะไม่ยื้อความตาย โดยไม่ต้องฟังเสียงญาติก็ได้ โดยสามารถดาวน์โหลด ตัวอย่างเอกสารจาก www.thailivingwill.in.th เพื่อเขียนเองด้วยลายมือและลงชื่อไว้ หรือพิมพ์ออกมาพร้อมลงชื่อตัวเองพร้อมพยาน ส่งสำเนาให้แพทย์ผู้รักษาและปิดประกาศไว้ที่บ้านก็ได้
Palliative care จึงเป็นทางเลือกที่สามารถเติมเต็มคุณภาพชีวิต และบำบัดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยได้ ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างดีเสียจนไม่อยากรีบตาย จึงเป็นทางเลือกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับการุณยฆาต แต่น่าเสียดายที่ ผู้ป่วยในกรณีศึกษาของเรา และผู้ป่วยลักษณะเดียวกันอีกมากในประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงแพทย์ผู้ที่จะให้การดูแลในแนวนี้ ผู้ที่อยากได้รับการดูแลอย่างดีเช่นนี้เมื่อเป็นโรคร้าย ที่ปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษา “หน่วยดูแลแบบประคับประคอง” ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละสถานพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือเครือข่ายภาคประชาสังคมอีกหลายองค์กร ที่พร้อมจะเคารพการตัดสินใจและทางเลือกของท่าน...
โดย...
ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร