การแก่ตัวอย่างรวดเร็วของประชากรไทย
เมื่อปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้จัดทำรายงานล่าสุดเกี่ยวกับประชากรของโลก
ซึ่งสำนักข่าว Bloomberg ได้นำเอามาเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับประเทศไทย (เมื่อ 25 ก.ค. 2019) ว่าประเทศไทยนั้นมีความเหมือนกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์และฟินแลนด์ในเรื่องเดียวคือ มีการแก่ตัวของประชากรที่รวดเร็วเหมือนกัน แต่เรื่องอื่นๆ นั้น ไม่มีอะไรที่คล้ายคลึงกันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสถานะทางเศรษฐกิจ เพราะในขณะที่ประเทศไทยประชาชนมีรายได้ต่อหัวเท่ากับประมาณ 2 แสนบาทต่อปี (แต่คนส่วนใหญ่จะมีรายได้ต่ำกว่านี้มากเพราะความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงของรายได้และความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ประชาชนมีรายได้ต่อหัวประมาณ 2.44 ล้านบาทต่อปี และประเทศฟินแลนด์ประชาชนมีรายได้ต่อหัวประมาณ 1.51 ล้านบาทต่อปี
การแก่ตัวอย่างรวดเร็วของประชากรไทยนั้นเป็นผลมาจากความสำเร็จในการรณรงค์เพื่อให้คนไทยมีลูกน้อยลงตั้งแต่ทศวรรษ 70(หลายคนจะจำคำขวัญ “มีลูกมากจะยากจน” ได้) ซึ่งในขณะนั้นประชากรไทยมีอัตราการเกิดใหม่ (fertility rate) ประมาณ 6.6 คน (ต่อพ่อ-แม่ 2 คน) และต่อมาก็ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือ 2.2 คนในช่วงทศวรรษ 90 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราต่ำสุดที่จะรักษาให้ขนาดของประชากรไม่ลดลง (ซึ่งจะต้องมีการเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 2.1 คน) แต่ปรากฏว่าอัตราการเกิดใหม่ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องไปอีกเหลือเพียง 1.5 คนในปัจจุบัน ซึ่งต่ำกว่าประเทศจีนที่ 1.7 คน ประเด็นคือการเกิดใหม่ที่ต่ำเช่นนี้จะทำให้จำนวนคนไทยที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 68 ล้านคนจะเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยในอีก 5-10 ปีข้างหน้าที่ประมาณ 69 ล้านคน แล้วลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 34.1% ในปี 2100 (อีก 81 ปีข้างหน้า) ทำให้ประชากรไทยมีเหลือเพียง 45.5 ล้านคน
การลดลงในระยะยาวของประชากรโดยรวมนั้น ก็มีด้านดีที่น่าจะทำให้ความแออัดในเมืองใหญ่ลดลงและน่าจะเป็นการช่วยลดปัญหามลพิษ การรุกล้ำป่า การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ การขาดแคลนน้ำและอาหารฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันอุปสงค์ก็จะลดลงในทุกมิติด้วย รวมทั้งความต้องการใช้บริการสาธารณะ เช่น การขนส่งมวลชน ตลอดจนความต้องการอสังหาริมทรัพย์และสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือยอดขายของธุรกิจทุกประเภทที่มี แต่จะต้องเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีนั้น ต่อไปการรักษายอดขายไม่ให้ตกในแต่ละปีก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายผู้ประกอบการอย่างมาก
แต่เรื่องที่จะท้าทายเศรษฐกิจไทยอย่างมากคือการแก่ตัวของประชากรที่จะเป็นภาระอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งตัวเลขที่เกี่ยวข้องนั้นผมได้ทำตารางสรุป
- บรรทัดแรก จะเห็นได้ว่าประชากรไทยจะเริ่มลดลงเล็กน้อยใน 20 ปีข้างหน้า กล่าวคือประชากรจะยังเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า แต่จะเพิ่มขึ้นปีละไม่กี่แสนคนและน่าจะถึงจุดสูงสุดไม่เกิน 2030 แล้วจึงเริ่มลดลงทุกปีจนถึงปี 2100
- บรรทัดที่ 2 คือจำนวนประชากรในวัยทำงานในอนาคตในความเห็นของผม ซึ่งแตกต่างจากคำนิยามปัจจุบันที่กำหนดให้คนอายุ 15-60 ปีเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งนี้เพราะผมเห็นว่าในอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีสลับซับซ้อนมากขึ้นนั้น ผู้ทำงานจะต้องอายุ 20 ปีขึ้นไปและผู้สูงวัยจะต้องทำงานจนถึงอายุ 65 ปี เนื่องจากความจำเป็นในเชิงเศรษฐกิจซึ่งบทความ Bloomberg ที่กล่าวถึงข้างต้นอ้างการสำรวจของบริษัทประกัน Allianz ซึ่งประเมินว่าระบบสำรองเลี้ยงชีพของไทยกับจีนนั้นมีศักยภาพในระยะยาวต่ำที่สุดในจำนวนประเทศที่สำรวจทั้งสิ้น 54 ประเทศ
- บรรทัดที่4 สะท้อนว่า แม้จะปรับอายุผู้ที่อยู่ในวัยชราจาก 60 ปีขึ้นไปเป็น 65 ปีขึ้นไป แต่จำนวนคนไทยกลุ่มนี้ก็จะยังเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 9 ล้านคนมาเป็น 18 ล้านคนในช่วง 20 ปีข้างหน้า
- บรรทัดที่ 5 คือปัญหาที่จะท้าทายเศรษฐกิจไทยมากที่สุดใน 20 ปีข้างหน้า ได้แก่จำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของคนที่อยู่ในวัยทำงาน ที่จะต้องเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการเพื่อเลี้ยงทั้งตัวเอง บุตร-หลานของตัวเอง และยังต้องจ่ายภาษีและมีเงินช่วยเลี้ยงดูผู้สูงอายุอีกด้วยกล่าวคือในปี 2020 จะมีคนสูงวัย 2 คนที่คนในวัยทำงาน 10 คนต้องช่วยกันรับภาระดูแล แต่จำนวนคนสูงวัยที่คนในวัยทำงาน 10 คนจะต้องดูแลจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 คนในปี 2040
- บรรทัดที่ 3 คือจำนวนนักศึกษาระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศ แต่จะมีจำนวนลดลงอย่างมากถึง 2 ล้านคนจาก 9.5 ล้านคนในปี 2020 เป็น 7.5 ล้านคนในปี 2040 ซึ่งจะทำให้ต้องปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอีกเป็นจำนวนมาก
ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือผู้สูงอายุ (65 ปีหรือมากกว่า) จะเพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคน (12.9% ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2020 มาเป็น 18 ล้านคน (26.5%) ในปี 2040 ซึ่งคนสูงวัยจะต้องทำตัวให้เป็นภาระต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด และในความเห็นของผมนั้น ขั้นแรกคือการทำให้ตัวเองสุขภาพดีให้นานที่สุดครับ