Food Waste ปัญหาร่วมระหว่างเราและโลก (1)
“ขยะอาหาร” หนึ่งในปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะการเน่าเสียของอาหารปล่อยก๊าซมีเทน
ที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 25 เท่า ในแต่ละปีจะมีขยะอาหารที่ถูกต้องฝังกลบ ประมาณ 1,300 ล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
อีกทั้งในปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความหิวโหยถึง 870 ล้านคน ในขณะที่แต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ยังรับประทานถูกทิ้งจำนวนมหาศาล เฉพาะสหรัฐทิ้งอาหารที่รับประทานได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ตกว่า 60 ล้านตัน
องค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้กำหนดให้ขยะอาหารเป็นหนึ่งใน เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลก จะต้องลดลง 50% จุดมุ่งหมายแรกคือการพัฒนาเครื่องมือและตัวชี้วัดปริมาณของการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
หลายประเทศเริ่มใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือ “อาหารส่วนเกิน” ที่อาจเหลือจากงานเลี้ยง หรือบุฟเฟต์ในโรงแรม เป็นต้น
ประเทศที่ดำเนินมาตราการที่เข้มงวดมากที่สุด คือ ฝรั่งเศส ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร(ซึ่งกำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไปจะต้องบริจาคสินค้าอาหารที่ยังทานได้แก่มูลนิธิรับบริจาคอาหาร เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ หากไม่ดำเนินการจะมีโทษปรับจำนวน 3,750 ยูโร หรือประมาณ 133,293 บาท ในขณะเดียวกันผู้บริจาคจะได้รับเครดิตภาษี 60% ของมูลค่าอาหารที่บริจาค ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ฝรั่งเศสใช้ทั้งไม้เรียวและไม้นวมในการลดปัญหาขยะอาหาร
สหรัฐ เน้นมาตรการสร้างแรงจูงใจ เริ่มจากมีกฎหมายที่ให้การยกเว้นความรับผิดทางแพ่งและอาญาให้แก่ผู้บริจาคอาหารที่อยู่ในสภาพดีเพื่อการกุศล ทำให้ภาคธุรกิจกล้าบริจาคอาหาร ในขณะเดียวกัน มลรัฐต่าง ๆ ให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับผู้ที่บริจาคอาหารให้กับมูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลเช่นเดียวกับฝรั่งเศส เช่น แคลิฟอร์เนีย ให้เครดิตภาษี 10% ของมูลค่าสินค้าที่บริจาคเฉพาะสำหรับภาคการเกษตร และมิสซูรี ให้เครดิตภาษีแก่ผู้ที่บริจาคให้กับโรงทานในพื้นที่ 50% ของมูลค่าอาหารที่บริจาค แต่ไม่เกิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
นอกจากนี้ การใช้แอพพลิเคชั่น จับคู่ ก็เป็นอีกมาตรการลดปัญหาอาหารส่วนเกินในหลายประเทศ เนื่องจากอาหารสดมีอายุจำกัด ความรวดเร็วในการบริหารจัดการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่าง แอพพลิเคชั่น Food Cloud ในสหราชอณาจักรและไอร์แลนด์ Too Good To Go ในทวีปยุโรปและสหรัฐ ซึ่งจับคู่ผู้บริโภคที่ต้องการอาหารและร้านอาหารที่มีอาหารเหลือ โดยผู้บริโภคสามารถค้นหาวัตถุดิบหรืออาหารที่ต้องการและจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นให้กับร้านอาหารในราคาถูก ตั้งแต่ปี 2015 - 2017 มีผู้เรียกใช้แอพพลิเคชั่นกว่า 1.2 ล้านครั้ง
เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือน โดยพัฒนาระบบ pay-as-you-recycle ซึ่งครัวเรือนจะต้องซื้อถุงบรรจุขยะอาหารที่ย่อยสลายได้เฉลี่ยเดือนละ 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 184 บาท (สำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิก 4 คน) ทำให้ครัวเรือนจำกัดปริมาณขยะอาหารเนื่องจากถุงย่อยสลายได้มีราคาแพง และช่วยอำนวยความสะดวกในการนำขยะไปรีโซเคิลโดยการหมักเพื่อทำปุ๋ยหรือผลิตก๊าซชีวภาพได้เลย นอกจากนี้แล้ว กรุงโซลยังพัฒนา Smart Bins หรือ ถังขยะอาหารที่มีระบบชั่งน้ำหนักและระบบรีไซเคิลขยะอาหาร ผู้คนสามารถนำขยะอาหารมาทิ้งในถังและจ่ายค่ารีไซเคิลตามน้ำหนักที่ทิ้งลงในถัง จากนโยบายการผลักดันที่จริงจัง ทำให้เกาหลีใต้สามารถลดปริมาณขยะอาหารโดยรวม และนำขยะอาหารมารีไซเคิลได้ถึง 95%
กลับมามองที่ไทย จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าขยะอาหารคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด แต่มีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากเทศบาลส่วนมากไม่มีการแยกขยะ เช่น กทม. รีไซเคิลขยะอาหารได้ 2% เท่านั้น ที่เหลือจะนำไปกำจัดโดยวิธีการฝังกลบรวม
แต่ปัจจุบัน ไทยมีภาคเอกชนค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคาร เริ่มขับเคลื่อนการลดปริมาณขยะอาหารและนำอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพดีไปบริจาค เช่น SOS (Scholars of Sustenance Foundation) มูลนิธิรับบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อไปกระจายให้แก่ผู้ที่ต้องการอาหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หน่วยงานรัฐที่เข้ามาให้เงินอุดหนุนแก่โรงแรม ในการจ้างที่ปรึกษาด้านการจัดการอาหารและขยะอาหาร รวมทั้ง บริษัทให้คำปรึกษาด้านการลดปริมาณขยะอาหาร LightBlue Environmental Consulting เป็นต้น
การดำเนินการขององค์กรเหล่านี้ ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่ต้องฝ่าฟัน สถานการณ์การจัดการอาหารเป็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร และแนวทางในการแก้ไขคืออะไร ผู้เขียนจะขอแบ่งปันในบทความถัดไป
โดย... กะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร