ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนต่างจังหวัดเพื่อลดช่องว่างเชิงชนชั้น
เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างบริการใหม่ ความสะดวกสบาย และโอกาสการงานใหม่ๆ ให้ผู้คนและองค์กรต่างๆ จำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน อาจทำให้ผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรือขาดทักษะในการใช้งานสูญเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน
ผมเองมีโอกาสสัมผัสการทำงานทั้งภาคเอกชนและภาคราชการ และยังมีโอกาสได้บรรยายให้ผู้อบรมจำนวนมากด้านเทคนิคองค์ความรู้ดิจิทัลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จึงได้เห็นช่องว่างการใช้เทคโนโลยีที่ยังมีอยู่มาก ระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ระหว่างคนในเมืองกับชนบท ระหว่างภาคราชการกับภาคเอกชน ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับเอสเอ็มอี
แม้จะบอกว่า คนไทยทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่โดยมากก็เพื่อความบันเทิง ซึ่งเมื่อพูดถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานขององค์กรและผู้คน เราจะพบว่า ยังมีไม่มากนัก แต่ถ้าองค์กรใดหรือคนกลุ่มใดมีทักษะ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน จะพบว่าประสิทธิภาพทำงานจะดียิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นความเลื่อมล้ำทางสังคมที่เริ่มห่างขึ้น คนที่มีฐานะและรู้จักใช้เทคโนโลยียิ่งมีโอกาสมากขึ้น ช่องว่างทางรายได้ยิ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ องค์กรของเราส่วนใหญ่ยังขาดวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล (Digital Culture) ซึ่งมีความหมายมากกว่าการใช้เทคโนโลยี องค์กรที่มีวัฒนธรรมเชิงดิจิทัลไม่ได้หมายความว่าจะต้องลงทุนกับการซื้อเทคโนโลยีมากมาย หรือผู้คนในองค์กรต้องเก่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งสำคัญ คือ องค์กรต้องมีความโปร่งใส ต้องมีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ต้องฝึกการใช้เทคโนโลยีในการทำงานร่วมกัน มีความคล่องตัวในการทำงาน และต้องรู้จักการแชร์ข้อมูล
แต่วันนี้องค์กรในประเทศหลายแห่ง ยังยึดติดกับเอกสาร บางแห่งเน้นการเซ็นชื่อเข้าประชุม ทำเอกสารโดยใช้กระดาษ แชร์ข้อมูลน้อยมาก บุคลากรขาดทักษะเชิงดิจิทัล หากเราไม่สามารถพัฒนาบุคลากรให้รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ในการทำงาน ยังขาดวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล สุดท้ายศักยภาพการแข่งขันของประเทศอาจลดลงในโลกที่กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0
ในกลุ่มเอสเอ็มอี พบว่า ส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน เราอาจเห็นการขายของออนไลน์ เอามาทำการตลาดดิจิทัลบ้าง แต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ยังไม่มีวัฒนธรรมเชิงดิจิทัลจำนวนมาก ก็ยังใช้ฟรีอีเมลแทนที่จะมีอีเมลขององค์กร การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลก็ค่อนข้างต่ำ เราแทบไม่ค่อยเห็นเอสเอ็มอีลงทุนกับซอฟต์แวร์ ไม่เห็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของบิ๊กดาต้าหรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่เอสเอ็มอี บ้านเรายังห่างไกลอยู่มาก ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าไม่สามารถสู้กับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีงบประมาณและกำลังคนมากกว่าได้ ข้อสำคัญบริษัทใหญ่โดยมากใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ช่องว่างทางรายได้และการตลาดยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ
นอกเหนือจากการจะพัฒนาคนให้ลดช่องว่างเชิงดิจิทัลในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เราทันกับต่างชาติแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดช่องว่างระหว่างภาคราชการกับเอกชน ระหว่างบริษัทใหญ่กับเอสเอ็มอี ระหว่างผู้คนในเมืองกับสังคมต่างจังหวัด หากยังปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งสร้างปัญหาทำให้มีช่องว่างระหว่างชนชั้นมากขึ้น
เป็นไปไม่ได้ที่เราจะกำหนดนโยบายโดยไปมองเทคโนโลยีต่างประเทศ การเน้นเดินทางไปดูงานเอา Best Practice ของประเทศต่างๆ มาใช้ โดยไม่สัมผัสกับชนบทไทยหรือต่างจังหวัดมากนัก แต่เราต้องเข้าใจสังคมไทยมากขึ้นโดยเฉพาะช่องว่างสังคมต่างจังหวัดกับสังคมในเมือง อย่ามองว่ากรุงเทพฯ คือประเทศไทย ต้องคิดเพื่อช่วยทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนต่างจังหวัดเพื่อลดช่องว่างเชิงชนชั้น
ดังนั้นประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการกำหนดนโยบายที่เป็นการลดช่องว่างเชิงดิจิทัลและต้องสร้างโอกาสเชิงดิจิทัลให้กับผู้ที่ยังด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาถูก ให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน สุดท้ายหากเราสามารถลดช่องว่างเหล่านี้ได้ ทุกคนก็จะเดินไปข้างหน้าพร้อมกันได้