สงครามการค้า.. ไม่ช่วยสหรัฐ แต่ช่วยทรัมป์

สงครามการค้า.. ไม่ช่วยสหรัฐ แต่ช่วยทรัมป์

วิวัฒนาการการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนนับตั้งแต่ปี 2018 มีมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด สามารถตกลงข้อตกลงทางการค้า Phase I

ที่ชะลอการขึ้นกำแพงภาษีที่จะขึ้นต่อจีนในช่วงกลางเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว หากจะพูดแบบให้เห็นภาพรวม เราได้เห็นอัตรากำแพงภาษี 20% ตั้งบนสินค้านำเข้าจากจีนในแต่ละปี มูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ แม้ว่าทรัมป์เองจะยืนยันว่ารัฐบาลและชาวจีนเป็นผู้จ่ายภาษีดังกล่าว

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้น โดยหากเปรียบเทียบราคาสินค้านำเข้าที่อยู่ในข่ายที่ต้องจ่ายจากนโยบายกำแพงภาษี กับสินค้านำเข้าในส่วนอื่นๆ ก็จะทราบในทันทีได้เลยว่าภาระดังกล่าวไปตกอยู่กับภาคเอกชนสหรัฐและผู้บริโภคชาวสหรัฐ ที่แย่ไปกว่านั้น กำแพงภาษีมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐเองหวังจะจัดเก็บได้นั้น แท้จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐเก็บได้น้อยกว่านั้นเป็นอันมาก

รูปที่ 1 ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสงครามการค้าต่อประชาชนชาวสหรัฐ

157958307871

ที่มา: เฟด

เหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะมองว่ามาจากการที่ทรัมป์ยังเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าจากจีนยังไม่ครบ ทว่าเหตุผลที่มีน้ำหนักมากกว่าคือผู้นำเข้าสหรัฐเปลี่ยนจากนำสินค้าเข้าจากจีนไปนำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่า อาทิ เวียดนาม โดยเมื่อการเปลี่ยนจุดหมายการนำเข้าเกิดขึ้นไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทน ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีไปในตัวและกลายเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่อผู้บริโภคชาวสหรัฐ ดังรูปที่ 1 ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในสินค้าดังกล่าวสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถสร้างรายได้ใหม่ๆเพิ่มเติมได้ สิ่งนี้เปรียบเสมือนเป็นการขึ้นภาษีนี้ถือว่าเป็นนโยบายการคลังแบบตึงตัว

นอกจากนี้ ยังมีการตอบโต้ด้วยการตั้งภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลเสียต่อสินค้าส่งออกสหรัฐในอนาคตอันใกล้ รวมถึงผลเสียต่อมูลค่าการลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐ จากความไม่แน่นอนนี้ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมสหรัฐไม่อยากจะสร้างโรงงานใหม่ เนื่องจากจะต้องเผชิญกับการถูกตัดขาดตลาดของตนเองจากการตอบโต้ทางการค้าของต่างประเทศ และการตัดขาดของห่วงโซอุปทานจากนโยบายการค้าของทรัมป์

รูปที่ 2 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดเกิดใหม่ และสหรัฐ กรณีมีสงครามการค้า

157958320160

ที่มา: เฟด

หรืออาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่สงครามการค้าได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา มาจากการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายจากสงครามการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยจากสินค้าทุนที่ชะลอตัวอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ของเฟดมองว่าสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจสหรัฐโตลดลงไปจากที่ควรจะเป็นแล้ว 1%ดังรูปที่ 2 ส่วนไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกโตช้าลง 0.8%

นอกจากนี้ โดยแท้จริงแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะแย่กว่านี้ราว 0.5% ตามการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ หากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดไม่ลดดอกเบี้ย 0.75% เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนคำอธิบายถึงแนวโน้มของสินค้านำเข้าที่ไม่ลดลงทว่าส่งออกก็ไม่เพิ่มขึ้นเช่นกันของสหรัฐ น่าจะมาจากผลของกำแพงภาษีที่ไม่สมมาตร โดยการตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐต่อสินค้านำเข้าจากจีนไม่ค่อยทำให้มูลค่าสินค้านำเข้าโดยรวมลดลง เนื่องจากภาคเอกชนของสหรัฐก็จะเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศอื่นในเอเชีย ในทางตรงข้าม เมื่อจีนหยุดสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐ กลับไม่มีประเทศใดที่สามารถทดแทนจีนที่จะมาซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐ

รูปที่ 3 ผลของสงครามการค้าต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ

157958324281

ทว่าสิ่งที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง นั่นคือ สงครามการค้า.. ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจสหรัฐให้ดีขึ้น แต่อาจจะช่วยโดนัลด์ ทรัมป์ ให้มีโอกาสชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐช่วงเดือนพฤศจิกายนในปีนี้มากขึ้นเนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในครึ่งหลังปี 2019 เติบโตเหลือ 2% จากที่เคยโตร้อยละ 3 ในครึ่งแรกของปี 2018 ซึ่งทางโกลด์แมนซัคส์ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2020 จะเติบโตมากกว่าปี 2019 ดังรูปที่ 3 ส่วนหนึ่งเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนได้อั้นจากช่วงปี 2019 มาเติบโตได้ดีขึ้นในปี 2020 แทนราว 0.5% รวมถึงเนื่องจากการที่ทั้งคู่ค่อยๆเจรจาการค้าจนสามารถตกลงใน Phase I รวมถึง PhaseII ที่กำลังเริ่มที่จะเจรจานั้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนชาวสหรัฐรู้สึกว่าความเป็นอยู่ดีขึ้นในช่วงการเลือกตั้งปลายปีนี้

หากพิจารณาในภาพรวม สงครามการค้าได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทรัมป์ในเกมการเลือกตั้งสหรัฐในปีหน้าไปแบบที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐให้โตลดลงไปแล้ว 1%  และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกให้โตช้าลง 0.8% จากที่ควรจะเป็นหากไม่มีสงครามการค้าของทรัมป์ครับ

หมายเหตุ : หากท่านสนใจงานสัมมนามุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2020 : “The way to Invest in 20/20” ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2563 เวลา 09.00-16.30 น. สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง fb.com/MacroView