สายการเรียนทางเลือกใหม่ มากกว่าแค่ 'สายวิทย์-ศิลป์'

สายการเรียนทางเลือกใหม่ มากกว่าแค่ 'สายวิทย์-ศิลป์'

จุดเปลี่ยนผ่านหนึ่งสำคัญของชีวิตนักเรียนที่ทุกคนเคยประสบช่วงการเลื่อนชั้นจากมัธยมต้นสู่มัธยมปลาย คือ การเลือกสายการเรียน มุ่งสู่มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ปัญหาคลาสสิกที่นักเรียนและผู้ปกครองส่วนใหญ่พบเจอนั่นคือ “เลือกเรียนสายไหนดี?” ซึ่งในอดีตนั้นทางเลือกมีไม่มาก นั่นก็คือ สายวิทย์หรือสายศิลป์ และคำถามง่าย ๆ นี้เองที่มักจะทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวที่ลูกอยากจะเรียนสายหนึ่งแต่พ่อแม่อยากให้เรียนอีกสายหนึ่ง

ในอดีตการเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต นั้นให้ทางเลือกที่หลากหลายเพราะสามารถเลือกเข้าคณะต่าง ๆ ได้เกือบทุกคณะ ขณะที่สายศิลป์นั้นเสนอทางเลือกที่ค่อนข้างจำกัด หรือพูดง่าย ๆ ว่า หากยังไม่แน่ใจว่าอยากเรียนอะไรต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ให้เลือกสายวิทย์ไว้ก่อน

ในปัจจุบันทางเลือกของสายการเรียนได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางเลือกในโรงเรียนเอกชนที่สามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนเองได้ การแข่งขันสูงระหว่างโรงเรียนท่ามกลางจำนวนนักเรียนและอัตราการเกิดที่ลดลงนี่เอง ผสานกับความทันสมัยของโลกยุคปัจจุบัน และความอิสระในการออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอนที่ตรงใจนักเรียนและผู้ปกครองนี้เองที่ทำให้โรงเรียนบางแห่งเสนอทางเลือกหลักสูตรที่ก้าวล้ำกว่าโรงเรียนทั่วไปอื่น ๆ

หนึ่งในโรงเรียนที่นำร่องความคิดในการเปลี่ยนแปลงขนบเดิมและเพิ่มทางเลือกสายการเรียนแก่นักเรียนคือ โรงเรียนโพธิสาร ที่เสนอแผนการเรียนใหม่ดังนี้ 1.เตรียมแพทย์-เภสัช 2.เตรียมวิศวะ-สถาปัตย์ 3.เตรียมวิทย์-คอมฯ 4.เตรียมนิเทศ-มนุษย์ 5.เตรียมศิลปกรรม 6.เตรียมบริหารธุรกิจ-บัญชี 7.เตรียมนิติ-รัฐศาสตร์

159680322459

สายการเรียนใหม่ทั้ง 7 สายการเรียนถูกแตกย่อยมาจากสายการเรียนเดิมที่มีอยู่เพียงวิทย์ หรือศิลป์และแขนงสาขาที่แตกย่อยจากสองสายหลักนี้อีกนิดหน่อย ทำให้สังคมจับตาและลุ้นเอาใจช่วยให้เกิดถึงผลลัพธ์เชิงบวก เพราะการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นี้ อาจจะนำร่องกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรการศึกษาที่ใช้มานาน

กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างถึงความทันสมัยเกี่ยวกับสายการเรียนในระดับม.ปลาย ที่เสนอถึง 14 ทางเลือกได้แก่ 1.แพทยศาสตร์ และกลุ่มสาธารณสุขศาสตร์ 2.วิศวกรรมชีวการแพทย์ 3.วิศวกรรมศาสตร์ (ทั่วไป) 4.วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน 5.วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ 6.สถาปัตยกรรมศาสตร์ 7.บริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์ 8.สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ 9.ศิลปกรรมศาสตร์ 10.อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ 11.นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อดิจิทัล 12.ศิลปะการประกอบอาหาร 13.วิทยาศาสตร์การกีฬา 14.ดนตรี-นิเทศศิลป์

แน่นอนว่า ทางเลือกที่มากมายเหล่านี้ตามมาด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งในเชิงของการจัดการหลักสูตร การจัดการทรัพยากรและการจัดการคุณภาพ อาทิ บุคลากรทางการศึกษาอาจารย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง คุณภาพของหลักสูตรและการรักษาคุณภาพในการเรียนการสอน การวัดผล ซึ่งถือเป็นอุปสรรคแก่โรงเรียนทั่วไปอย่างมาก

ทางเลือกสำหรับผู้บริหารโรงเรียนทั่วไปที่มีความมุ่งมั่นที่ดีในการพัฒนาหลักสูตรจึงเป็นไปอย่างจำกัด การเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถทำได้จึงออกมาในรูปแบบของชุมนุมที่ส่งเสริมความชอบของนักเรียนและสอดแทรกการประยุกต์วิชาการสู่เส้นทางอาชีพในอนาคต หรือการเสนอวิชาเลือกต่าง ๆ ที่ทันสมัยทันโลก เช่น ชุมนุมหุ่นยนต์ หรือวิชา Coding เป็นต้น

การบริหารองค์กรให้ก้าวหน้าก้าวทันโลกภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดเป็นตัวชี้วัดที่แยกผู้บริหารที่เก่งกาจออกจากผู้บริหารทั่วไป ผู้ปกครองที่ห่วงใยในอนาคตของบุตรหลานก็สมควรตรวจสอบหลักสูตร ไถ่ถามโรงเรียนเป็นหูเป็นตาช่วยแนะนำให้ผู้บริหารพัฒนาโรงเรียนและเยาวชนให้เท่าทันโลก