เยาวชนว่างงาน-นอกการศึกษา ปัญหายิ่งน่าห่วงช่วงโควิด-19

เยาวชนว่างงาน-นอกการศึกษา ปัญหายิ่งน่าห่วงช่วงโควิด-19

การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า จีดีพีของไทยในปีนี้น่าจะติดลบ 8.1%

และอัตราว่างงานพุ่ง 8-12 เท่า สูงสุดในรอบ 20 ปี เป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หนึ่งในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ นักเรียน และเด็กด้อยโอกาส ที่เสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และมีแนวโน้มตกลงสู่ความยากจนมากขึ้นในที่สุด

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานจะสูงถึง 3 ถึง 4% จากเดิมเฉลี่ย 1% บ่งชี้ว่าแรงงานเยาวชนจะประสบปัญหาการว่างงานรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากเดิมเยาวชนมีอัตราการว่างงานสูงถึง 5% หรือเกือบ 5 เท่าของแรงงานผู้ใหญ่ เนื่องจากตำแหน่งงานหดตัวไปมากอันเป็นผลจากโควิด จนไม่พอรองรับบัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ และที่สะสมในปีก่อนๆ มีมากกว่า 5 แสนคน และคาดว่าจะมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ 

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ปัญหาเยาวชนกลุ่ม NEET ยิ่งน่าเป็นห่วง

เยาวชนว่างงานและนอกระบบการศึกษา หรือกลุ่ม NEET (Youth not in education, employment, or training) ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO นิยามว่าหมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม ซึ่งในสังคมไทยยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก จากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย กลุ่ม NEET ประกอบด้วยเยาวชนที่ 1.ทำงานบ้าน 2.อยู่ว่าง หรือกำลังพักผ่อน 3.ยังเด็ก ป่วย พิการ จนทำงานไม่ได้ และ 4.ว่างงาน โดยในปี 2562 ไทยมีจำนวนกลุ่ม NEET มากถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็น 14% ของเยาวชนไทย และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 1% สวนทางกับจำนวนเยาวชนไทยที่ลดลงเฉลี่ย 1.2% ในทศวรรษที่ผ่านมา

การถูกละเลยจากระบบการศึกษาและการจ้างงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยยังไม่รองรับกลุ่มเด็กเรียนรู้ช้า (Slow Learner) และผู้บกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) ทำให้เด็กบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งการเรียนออนไลน์จะเป็นอุปสรรคใหม่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ อีกทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุงานที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามทำ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่านายจ้างสามารถจ้างเยาวชนในตำแหน่งใดได้บ้าง ทำให้นายจ้างมักหลีกเลี่ยงการจ้างงานเยาวชน

นอกจากนี้ ยังพบ 65% ของกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งจากสถิติพบว่า 80% ของกลุ่ม NEET คือเพศหญิงทำงานบ้าน กว่าครึ่งมีสถานภาพสมรสและสำเร็จการศึกษาเพียงระดับมัธยม สอดคล้องกับโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ปี 2558-2559 พบว่า 88% ของนักเรียนหญิงออกกลางคันด้วยสาเหตุตั้งครรภ์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

มาตรการเยียวยาและแก้ไขปัญหา NEET ในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ

ปัจจุบัน โครงการจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหากลุ่ม NEET เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information Sytem for Equitable Education : iSEE) เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ครอบคลุมเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสว่า 4 ล้านคน

โครงการยุวชนสร้างชาติและโครงการย่อยอื่นๆ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นอีกส่วนที่ช่วยแก้ปัญหาด้วยการจ้างงานนักศึกษาทั้งที่กำลังศึกษา รองรับบัณฑิตตกงานกว่า 5 หมื่นคน ตั้งแต่ปลายปี 2562 และจะขยายผลเพิ่มจำนวนการจ้างงานจากงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกราว 2-3 แสนตำแหน่งงาน

ถึงแม้จะมีโครงการต่างๆ ช่วยบรรเทาปัญหา แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมกลุ่ม NEET ที่มีจำนวนล้านกว่าคนได้ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรมากกว่านี้ เพื่อให้เยาวชนได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่จมปลักกับความยากจน จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยผลักดันให้มีศักยภาพพร้อมทำงาน และเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศ

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม รัฐต้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 หากปล่อยไว้จะเป็นปัญหาบานปลาย เยาวชนกลุ่ม NEET มีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้น หรือในกรณีแย่ที่สุดอาจกลายเป็นปัญหาสังคมในระยะยาว 

[บทความนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากโครงการวิจัย “Youth Employability Scoping Study” ภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย]

โดย...

สิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง

นวทัศน์ ทัศนบรรจง