เกษตรผสมผสานถึงโครงการพัฒนาคุ้มค่าหรือไม่ ใช้ SROI หาคำตอบ
การทำเกษตรแบบผสมผสานโดยไม่ใช้สารเคมีร่วมกับการฟื้นฟูป่าเป็นหนึ่งในแนวทางภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน
เพราะทั้งวิธีการเพาะปลูกและผลผลิตที่ได้ดีต่อทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรในระยะยาวโดยเฉพาะด้านสุขภาพ นอกจากนี้ การไม่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตรยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้เท่ากับว่าประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างได้ประโยชน์ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา การทำการเกษตรแบบผสมผสานแบบไม่ใช้สารเคมีร่วมกับการฟื้นฟูป่ายังเป็นเพียง “ทางเลือก” ในการทำการเกษตร ปัจจุบันยังไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติเป็นวงกว้างในกลุ่มเกษตรกรไทย
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมายังไม่มีการติดตาม และประเมินความคุ้มค่าต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม จากการทำการเกษตรในลักษณะดังกล่าว
แนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ การใช้เครื่องมือ Social Return on Investment (SROI) หรือ การประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนมาวัดความคุ้มค่า และจากผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยภายใต้โครงการ “การประเมินผลตอบแทนทางสังคมของโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ใช้เครื่องมือ SROIมาวัดความคุ้มค่าโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและการส่งเสริมการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน(FLR349) ที่หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมลงทุนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ออกจากวงจรการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกตามแนวคิดของการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพรต่างๆ แทนนั้นพบว่าให้ผลคุ้มค่าต่อเกษตรกรสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง
Social Return on Investment (SROI) บอกอะไร
เพื่อศึกษาว่าโครงการที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มนั้นเป็นไปตามเป้าหมายและคุ้มค่าหรือไม่ ทีมวิจัยใช้เครื่องมือSocial Return on Investment (SROI) โดยสอบถามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนร่วมในโครงการ ได้แก่ เกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้บริโภค ร้านอาหาร และภาคีเครือข่าย จากนั้นทางทีมวิจัยได้ตีมูลค่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินออกมาเปรียบเทียบกับเงินต้นทุนที่ใช้ไป
จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการมีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรมีสุขภาพกายดีขึ้น ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งผู้บริโภคเองก็ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีเกษตร ทำให้มีสุขภาพดี หรือแม้แต่ภาครัฐก็มีภาระในการรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วยจากสารเคมีลดลง
นอกจากด้านสุขภาพแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการที่พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟูทำให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน และยังทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
คุ้มค่าแค่ไหน วัดด้วยมูลค่าระหว่างผลที่สังคมได้เป็นตัวเงิน กับเงินลงทุนของโครงการ
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้สูงถึง 176,954,579.83 บาท ในขณะที่มูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุนที่หน่วยงานต่างๆ ลงทุนในโครงการนี้เท่ากับ 20,944,832.85 บาท ดังนั้นมูลค่าปัจจุบันของผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) เท่ากับ 8.4 นั่นหมายถึง ทุกๆ 1 บาท ที่เราลงทุนในโครงการก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมเท่ากับ 8.4 บาท ความคุ้มค่าที่ปรากฎเป็นตัวเลขนี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน สนับสนุนโครงการต่อไป และยังเป็นข้อมูลชี้วัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการติดตามและประเมินผลอีกด้วย
SROIวัดผลเพื่อขยายผลโครงการพัฒนาต่างๆอย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากโครงการที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการขยายผล ส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นโครงการช่วยเหลือสังคม โครงการ CSR ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนจำนวนมาก และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
จากผลศึกษาข้างต้นทำให้ผู้เขียนเห็นว่าเครื่องมือวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมSROI นี้มีประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อวัดมูลค่าทางสังคมในโครงการพัฒนาหรือโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกรณีที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีราคาตลาด เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นำไปสู่การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
โดย... ณัฐพร บุตรโพธิ์