เราจะตั้งรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างไร

เราจะตั้งรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างไร

เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังฟื้นตัวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ส่วนสถานการณ์ในประเทศเราล่าสุด มีแนวโน้มรุนแรงทำให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

จากผลกระทบของการระบาดและความไม่เพียงพอของการฉีดวัคซีนที่ทำให้ประเทศไม่มีแนวป้องกันสำคัญด้านสาธารณสุข คำถามคือถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะตั้งรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างไรในแง่นโยบาย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังฟื้นตัว นำโดยประเทศอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสหรัฐ ที่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มกลับเป็นปกติ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และการกลับมาใช้จ่ายของครัวเรือนโดยใช้เงินที่เก็บออมไว้ ทั้งหมดส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวและหลายประเทศรวมถึงไทยก็ได้ประโยชน์จากการส่งออก

ที่สำคัญการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกำลังกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลไปถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังถ้าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเข้มแข็ง กดดันให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทยกลับสู่สหรัฐ ขณะที่ต้นทุนการเงินในระบบเศรษฐกิจโลกจะปรับสูงขึ้น ทั้งสองเรื่องเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทย รวมถึงสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจากความผันผวนของเงินทุนระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก เดือนนี้ไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของประเทศหลัก อย่าง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลียขึ้น สะท้อนความเข้มแข็งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการคืนสู่สภาพปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผลของการฉีดวัคซีนที่ได้ลดความรุนแรงของการระบาดลง ตรงข้ามกับสถานการณ์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ที่ไอเอ็มเอฟลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ของทั้งกลุ่มลงเป็นร้อยละ 4.9 เพราะการระบาดของโควิดที่กลับมารุนแรง ยกเว้นในเวียดนาม และจากที่ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนทำได้ช้าเทียบกับประเทศอื่นๆ

กรณีของไทย ก่อนการระบาดของโควิดรอบปัจจุบันเดือนมีนาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขับเคลื่อนโดยการขยายตัวของการส่งออกและการบริโภคในประเทศที่ได้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐ แต่โมเมนตัมการฟื้นตัวกลับมาชะงักงันเมื่อเกิดการระบาดรอบสาม ซึ่งเป็นการระบาดระหว่างคนในประเทศด้วยเชื้อที่แพร่กระจายได้เร็ว และเทียบกับปีที่แล้ว ประเทศเราก็การ์ดตกทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การระบาดกระจายตัวเร็ว กระทบความเชื่อมั่นและความต้องการใช้จ่ายของประชาชน

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าการระบาดจะยืดเยื้อแค่ไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการภาครัฐที่ออกมาควบคุมการระบาดว่าเข้มข้นแค่ไหน เท่าที่หลายฝ่ายประเมินถึงขณะนี้ มาตรการภาครัฐออกมาแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่เข้มข้น ไม่มีล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิว มีแต่การปิดสถานบริการและปรับเวลาเปิดปิดร้านอาหารและห้าง ทำให้การควบคุมสถานการณ์โควิดรอบนี้จะใช้เวลา ไม่จบเร็ว ทำให้ผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะลากยาว นักวิเคราะห์หลายสำนักได้เริ่มปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลง และตลาดหุ้นก็ตอบรับความเป็นไปได้นี้ด้วยราคาหุ้นที่โน้มลดลง

เราจะตั้งรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างไร

ผมมี 6 ความเห็นในเรื่องนี้ ดูจากประสบการณ์ประเทศเราในการแก้โควิดในปีที่ผ่านมาว่า เราเรียนรู้อะไรบ้าง บวกกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ว่าอะไรควรเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป

หนึ่ง เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่ได้ถ้าการระบาดของโควิดยังไม่นิ่ง หมายถึงการหาจุดสมดุลที่จะแก้การระบาดพร้อมกับประคับประคองเศรษฐกิจนั้นทำได้ยาก ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ดังนั้น การทำนโยบายต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการลดการระบาดเป็นอันดับแรก ทุ่มทรัพยากรเต็มที่ด้วยมาตรการที่เข้มแข็งแม้จำเป็นต้องล็อกดาวน์และมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่ก็จะเป็นผลระยะสั้น เทียบกับถ้าการระบาดยืดเยื้อเพราะมาตรการป้องกันหรือควบคุมอ่อนเกินไป ผลต่อเศรษฐกิจจะลากยาวและมีมาก

สอง เมื่อการระบาดลดลง แนวคิดที่จะสร้างประเทศให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ควบคุมการระบาดได้ดีเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเหมือนที่ทำได้ปีที่แล้วช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ที่ไม่มีการระบาดในประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมการเข้าออกข้ามพรมแดนเพื่อให้ประเทศปลอดการระบาด เห็นได้จากการระบาดในรอบสองที่เชื้อเข้ามาจากเมียนมา และรอบสามที่เชื้อเข้ามาจากกัมพูชา ดังนั้น เราจะไม่สามารถสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนได้ว่าประเทศเราเป็นพื้นที่ที่ควบคุมการระบาดได้แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะต่ำ ต่างกับเวียดนามที่ทำได้เพราะการควบคุมการเข้าออกทางชายแดนของเขาเข้มแข็งกว่าเรามาก ดังนั้น ทางออกทางเดียวที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในการฟื้นเศรษฐกิจคือ การฉีดวัคซีนและระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง

สาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญจากนี้ไปคือ การฉีดวัคซีนที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนให้มีเพียงพอและสร้างสมรรถภาพให้กับระบบสาธารณสุขในการฉีดวัคซีนที่จะทำได้เร็วและทั่วถึง รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วย วิธีที่จะทำได้เร็วคือ การเปิดเสรีในการนำเข้าวัคซีนที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และใช้กลไกตลาดในการกระจายวัคซีน ที่ผ่านมา การผูกขาดการฉีดวัคซีนโดยรัฐสร้างปัญหาทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความเสี่ยงที่จะมีการรั่วไหลคือ อภิสิทธิ์ชนได้รับวัคซีนก่อนเวลาที่เปิดให้ประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะช่องว่างของเวลาจากนี้ไปถึงเดือนมิถุนายน ก่อนที่วัคซีนในประเทศจะผลิตได้จะสำคัญสุด และอาจเป็นช่วงเวลาที่การระบาดจะเร่งตัวมากสุด

สี่ มาตรการเยียวยาอย่างที่ได้ทำไปมีเหตุผลแต่มีต้นทุนสูงในแง่การใช้ทรัพยากร เพราะเป็นการใช้เงินกู้ที่ต้องชำระคืน ขณะที่ผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีไม่มาก เพราะเป็นการเปลี่ยนมือคนใช้เงินจากคนที่ออมและให้รัฐบาลกู้ มาเป็นคนที่ได้รับแจกเงิน ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีค่าตัวทวีคูณต่ำ เพราะชดเชยด้วยการกู้ยืมในประเทศที่ลดการใช้จ่ายส่วนหนึ่งของภาคเอกชน เป็นมาตรการที่ควรทำชั่วคราวกรณีฉุกเฉิน ไม่ใช่ทำต่อเนื่อง ดังนั้น จากนี้ไปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรพิจารณาลดขนาดการเยียวยาลง ให้เฉพาะกับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจริงๆ ไม่เปิดกว้าง เพราะจะเกิดปัญหาวินัยทางศีลธรรม คือมีคนพร้อมที่จะไม่ทำงานเพราะเลือกรอการแจกเงินจากภาครัฐ

ห้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการสร้างงานให้คนที่ตกงานและต้องการทำงานมีงานทำ และเมื่อทำงานแล้วก็ได้เงินจากภาครัฐ ไม่ใช่แจกเงิน งานที่สร้างขึ้นมาถ้าออกแบบได้ดีสามารถให้ผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือช่วยแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจหรือสังคมมี นอกจากนี้ การมีระบบให้คนตกงานสามารถใช้เวลาว่างปรับทักษะแรงงานของตน สร้างความสามารถใหม่ในการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตอื่นๆ ที่กำลังขยายตัว เช่น อุตสาหกรรม และช่วยย้ายแรงงานออกจากสาขาเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยจากผลของโควิด เช่น ท่องเที่ยว แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่สำคัญมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ในวงกว้าง

หก บทบาทนำที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ประเทศกลับมาแข่งขันได้และขยายตัวต่อไปได้ ต้องมาจากภาคเอกชน ไม่ใช่ภาครัฐ เพราะภาคเอกชนมีทรัพยากรและความรู้ ขณะที่ภาครัฐภาระหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก จึงควรให้ความสำคัญต่อการรักษาวินัยทางการคลังและการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ฐานะทางการคลังของประเทศเกิดปัญหา ตรงกันข้ามภาครัฐต้องใช้เวลาที่มีแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เปิดเสรีให้ภาคธุรกิจมีการแข่งขัน และสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและคนรุ่นใหม่สร้างนวัตกรรมและลงทุน สิ่งเหล่านี้จะสำคัญมากต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ.