ปฏิรูป ‘ภาษี’ สกัด ‘วิกฤติการคลัง’ รัฐเล็งทยอยขึ้น - TDRI หนุนขยายฐานภาษี

ปฏิรูป ‘ภาษี’ สกัด ‘วิกฤติการคลัง’  รัฐเล็งทยอยขึ้น - TDRI หนุนขยายฐานภาษี

“รัฐบาล” เดินหน้าปฏิรูปภาษี ออก พ.ร.ก.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทข้ามชาติเหลือ 15% จ่อเก็บภาษีคาร์บอน ลดภาษีน้ำมัน ศึกษาขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รูปแบบทยอยขึ้นบางรายการ ศึกษาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จูงใจคนทำงาน"ทีดีอาร์ไอ" หนุนขึ้น VAT สกัดเสี่ยงภาระคลังเพิ่ม

KEY

POINTS

  • “รัฐบาล” เดินหน้าปฏิรูปภาษีทั้งระบบโดยอยู่ในขั้นตอนศึกษา 
  •   นอกจากพ.ร.ก.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทข้ามชาติเหลือ 15% ที่่ผ่าน ครม.แล้ว จ่อเก็บภาษีคาร์บอน ลดภาษีน้ำมัน ศึกษาขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • รัฐบาลเล็งใช้รูปแบบทยอยขึ้นบางรายการ พร้อมศึกษาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จูงใจคนเก่งทำงานในไทย “คลัง” ยันถึงเวลาปฏิรูป
  • "ทีดีอาร์ไอ" หนุนขึ้น VAT แบบค่อยเป็นค่อนไป สกัดเสี่ยงภาระคลังเพิ่ม

รัฐบาลได้เดินหน้า "ปรับโครงสร้างภาษี" เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและกติกาโลก กระทรวงการคลังมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากร ไปดูเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี รวมทั้งได้เริ่มดำเนินการตามขั้นตอน 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องจำเป็น เพราะมีหลายเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งรายได้รัฐบาล เงื่อนไขขององค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดเก็บภาษีในอัตราเดิมมานาน โดยได้ดำเนินการศึกษาและปรับโครงสร้างภาษี ดังนี้

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล ปัจจุบันจัดเก็บอัตรา 20% โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ... เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2567 เพื่อจัดเก็บภาษีจากบริษัทนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยตามแนวทาง Global minimum tax ขององค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในอัตรา 15% สอดคล้องหลักเกณฑ์ OECD ที่มีผลวันที่ 1 ม.ค.2568

นอกจากนี้ เมื่อปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทข้ามชาติตามเงื่อนไข OECD แล้วทำให้กระทรวงการคลังศึกษาการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไปในประเทศ

2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบันจัดเก็บ 5-35% กระทรวงการคลังเห็นว่าควรมีอัตราพิเศษเพื่อดึงต่างชาติที่มีความสามารถหรือมีคุณสมบัติเฉพาะ และหลายประเทศเสนออัตราภาษี 15% และกระทรวงการคลังได้ศึกษาการปรับภาษีส่วนนี้

ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวบังคับใช้กับบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโรต่อปี หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตรา 15% ซึ่งในไทยมีบริษัทข้ามชาติเข้าข่ายประมาณ 1,000 บริษัท

ปฏิรูป ‘ภาษี’ สกัด ‘วิกฤติการคลัง’  รัฐเล็งทยอยขึ้น - TDRI หนุนขยายฐานภาษี

 

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ช่วงปี 2540-2542 จัดเก็บอัตรา 10% แต่ปี 2542-2568 ปรับลดลงมาที่อัตรา 7% และต่ออายุล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567-30 ก.ย.2568 ซึ่งประเมินว่ากรณีไม่ลด VAT รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 300,000 ล้านบาท

สำหรับแนวทางปรับ VAT ศึกษาทยอยปรับขึ้นเริ่มที่การจัดเก็บ 8% รวมทั้งอาจปรับขึ้นเฉพาะบางรายสินค้าหรือบริการเพื่อไม่ให้กระทบราคาสินค้า โดยสินค้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย อาจกำหนดให้มีอัตราภาษีต่ำ ส่วนสินค้าสำหรับผู้มีรายได้สูงอาจกำหนดอัตราภาษีสูง รวมถึงยกเว้นจัดเก็บกับสินค้าบางรายการ

และ4.ภาษีน้ำมัน ปัจจุบันจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 6.44 บาท และจะมีการปรับการจัดเก็บหลังเสนอ ครม.จัดเก็บภาษีคาร์บอน เบื้องต้นกำหนดให้จัดเก็บภาษีคาร์บอน 0.55 บาท รวมในภาษีดีเซล 6.44 บาท เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาน้ำมัน แต่จะศึกษาการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะไม่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเพือยเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนเป็นตามที่กำหนดในร่าง พ.ร.บการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้จึงมีการใช้กลไกภาษีสรรพสามิตในการกำหนดภาษีคาร์บอนไปพลางก่อนที่กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้

แหล่งข่าว กล่าวว่า รายได้ภาษีสำคัญของกระทรวงการคลังมาจากการจัดเก็บภาษีทั้ง 4 ประเภท ดังกล่าว โดยในปีงบประมาณ 2567 จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 947,276 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 783,096 ล้านบาท , ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 415,036 ล้านบาท และภาษีน้ำมัน 209,916 ล้านบาท

“คลัง”ชี้ถึงเวลาเริ่มพิจารณาปฏิรูปภาษี

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ควรต้องเริ่มพิจารณาการปฏิรูปภาษี เพราะด้วย 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวระดับต่ำ และตอนนี้อยู่ในช่วงเริ่มผงกตัวขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะต้องมาพิจารณาอีกที

นายพิชัย กล่าวว่า การปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มอัตราภาษีหรือไม่ ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีบริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มเก็บมากขึ้น เพื่อเป็นกองกลางหรือรายได้รัฐ ให้ส่วนหนึ่งจัดสรรงบประมาณกลับให้กลุ่มรายได้น้อย ซึ่งแม้ผู้มีรายได้น้อยจะเสียภาษีอัตราเดียวกัน แต่จะมีภาระภาษีน้อยกว่าหรือเท่าเดิม รวมทั้งหากเก็บภาษีการบริโภคอัตราต่ำจะมีผลต่อเงินกองกลางที่จะส่งกลับไปให้ผู้รายได้น้อย

ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ รัฐบาลมีปัญหาการจัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านรายได้ภาครัฐไม่เพียงพอกับรายจ่ายมานาน และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องและมีสัดส่วนขาดดุลเกินกรอบยั่งยืนทางการคลังที่ไม่ควรเกิน 3% ต่อจีดีพี โดยในปี 2557 การขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 250,000 ล้านบาท หรือ 2.0% ต่อจีดีพี เพื่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและล่าสุดปี 2567 ขาดดุลงบประมาณ 805,000 ล้านบาท หรือ 4.3% ต่อจีดีพี 

ขณะที่แผนการคลังระยะปานกลาง ยังขาดดุลต่อเนื่อง ปี 2568 ขาดดุล 865,000 ล้านบาท หรือ 4.5% ของจีดีพี , ปี 2569 ขาดดุล 703,000 ล้านบาท หรือ 3.5% ต่อจีดีพี , ปี 2570 ขาดดุล 693,000 ล้านบาท หรือ 3.3% ต่อจีดีพี และปี 2571 ขาดดุลงบ 683,000 ล้านบาท หรือ 3.1% ต่อจีดีพี

ขณะที่หนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ณ วันที่ 30 ก.ย.2567 อยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.32% ของจีดีพี แนวโน้มหนี้สาธารณะไทยยังเพิ่มขึ้นและจะไปแตะระดับ 15 ล้านล้านบาทหรือ 88.6% ของจีดีพีในปี 2572

“ทีดีอาร์ไอ”หนุนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษีมีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ดังนี้ 

1.การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เห็นด้วยว่าควรทยอยปรับขึ้น เพราะฐานะการคลังมีข้อจำกัด และมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูง มีรายใช้จ่ายในอนาคตมาก เช่น การจัดสวัสดิการ โดยทางทฤษฎีผลกระทบจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้มีรายได้น้อย จะไม่มากกว่ากลุ่มอื่น และรัฐบาลยังออกนโยบายเพื่อช่วยกลุ่มคนยากจนและเปราะบางเป็นการเฉพาะได้

2.การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 15% ไม่เห็นด้วย แม้ทิศทางโลกมีแนวโน้มปรับลง และผลักดัน Global Minimum Tax อัตรา 15% แต่รัฐบาลต้องแยกส่วน เพราะ Global Minimum Tax ไม่เกี่ยวภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไป และยังกำหนดให้ 15% เป็นค่าการเก็บภาษีขั้นต่ำ (minimum) ซึ่งแต่ละประเทศเก็บสูงกว่าอันตราดังกล่าวได้

ส่วนประเด็นดึงการแข่งขันดึงเงินลงทุนทางตรง (FDI) ของไทยมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้ต่างชาติเสียภาษีน้อยลงและมีลดหย่อนส่วนอื่นเพิ่ม ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจเลี่ยงภาษีจำนวนมาก ทั้งแบบไม่ยอมจ่าย หรือแบบวางแผนภาษีทำรายจ่ายให้มาก มีสองบัญชี จึงเสียภาษีกันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

3.ภาษีบุคคลธรรมดา ไทยมีแรงงาน 40 ล้านคน เสียภาษีจริง 4-5 ล้านคน ดังนั้นไม่ควรลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง แต่ควรเร่งกวาดต้อนคนที่ควรจ่ายให้มาเข้าระบบเสียภาษี

4.ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นภาษีสรรพสามิตส่วนใหญ่ที่จัดเก็บได้คิดเป็น 39.3% ของภาษีสรรพสามิตทั้งหมด โดยหากยกเลิกจะกระทบรายได้ภาครัฐมาก และน้ำมันนั้นยังถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้ รัฐควรเร่งปฏิรูปภาษีที่ดินให้คนที่ถือที่ดินจ่ายภาษีอัตราสูงกว่านี้ และปิดช่องว่าง เช่น ผู้ทำเกษตรในเมืองต้องเสียภาษีสูงและไม่มีสิทธิอ้างความเป็นเกษตรกร ขณะที่ในการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ภาษีมั่งคั่งควรเก็บเช่นกันแต่ต้องศึกษาให้รอบคอบ