ยางต่างขนาด
ผมเพิ่งเดินทางกลับจากญี่ปุ่น ทั้งที่ราว ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้ ผมบอกกับตัวเองและคนในครอบครัวตลอดว่า ผมเบื่อการเดินทางโดยเครื่องบินมากเบื่อขั้นตอนการตรวจตรารักษาความปลอดภัยที่เอากติกาแน่นอนอะไรไม่ได้
ต่อให้เป็นสนามบินเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเจอเจ้าหน้าที่คนไหน บ้างก็ต้องถอดรองเท้าบ้างก็ไม่ต้องถอด บ้างก็ต้องถอดสายสร้อยบ้างก็ไม่ต้องถอด บ้างก็ต้องเอากระเป๋าสตางค์ออกจากกางเกงใส่ลงไปในตะกร้า บ้างก็ไม่ต้องใส่ หามาตรฐานที่แน่นอนไม่ได้เอาเสียเลย
เจ้าหน้าที่หลายแห่งก็สำคัญในหน้าที่ผิด คิดว่าตนเองเป็นตำรวจที่มีหน้าที่ตรวจจับผู้ร้าย ทั้งที่หน้าที่สำคัญคืองานบริการ จึงทำหน้าที่แบบกระโชกโฮกฮากข่มขู่ เพราะคิดว่ากำลังพูดกับผู้ต้องสงสัยไปเสียทุกคน แทนที่จะพูดจาและทำหน้าที่อย่างสุภาพให้สมกับงานบริการลูกค้า จึงมักจะมีข่าวกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นเสมอๆ
คนเดินทางในปัจจุบันนี้ก็มีความหลากหลายมากขึ้น กริยามารยาทในการอยู่ร่วมกันในที่สาธารณะก็แตกต่างกันออกไป สนามบินแต่ละแห่งจึงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และยังมีข่าวเกี่ยวกับมิจฉาชีพแฝงตัวมาในคราบของผู้โดยสาร ลักขโมยทรัพย์สินบ่อยครั้งขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมไม่อยากเดินทาง บวกกับความที่มีอายุมากขึ้น ระบบขับถ่ายจึงแปรปรวนเมื่อผิดที่ผิดเวลา แต่หลายครั้งยังต้องเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะเหตุผลทางธุรกิจบ้าง เพราะเหตุผลเรื่องข้อจำกัดทางเวลาบ้าง
ญี่ปุ่นในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากเมื่อครั้งที่ผมไปเป็นครั้งแรกเมื่อราว ๔๐ ปีที่แล้วมาก ครั้งนั้นโรงแรมส่วนใหญ่อยู่แถบใจกลางเมือง เป็นโรงแรมเล็กๆ ห้องนอนเล็กๆ ห้องน้ำเล็กๆ คนญี่ปุ่นสมัยนั้นเดินสูบบุหรี่กันทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ในลิฟต์และบนเครื่องบิน เมื่อไปที่เคาน์เตอร์สายการบิน เจ้าหน้าที่จะถามทุกครั้งว่าต้องการที่นั่งสูบบุหรี่หรือไม่ จะได้ที่นั่งบริเวณท้ายเครื่องบิน ซึ่งสามารถสูบได้ตลอดเวลา ยกเว้นตอนเครื่องบินขึ้นและลง
เกริ่นเรื่องญี่ปุ่นขึ้นมาเพราะว่า ผมพบคนไทยที่อาศัยในญี่ปุ่นท่านหนึ่งโดยบังเอิญที่ลานจอดรถสถานที่ชอบปิง แล้วก็เห็นว่ารถยนต์ของท่านยางหน้าและยางหลังคนละยี่ห้อกัน ทำให้นึกถึงเรื่องที่ผมไปตอบคำถามให้กับเจ้าของรถท่านหนึ่งในเพจที่เป็นคลับรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง แล้วเกิดกรณีโต้เถียงกันยืดเยื้อ
เรื่องมีอยู่ว่าเจ้าของรถถามว่า ยางรถยนต์ใช้งานมา ๕ ปี เกือบ ๓ หมื่น กม. มีคนทักว่าควรเปลี่ยนยางได้แล้ว แต่ด้วยความที่อยากประหยัดจึงอยากเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ที่มีราคาถูกกว่า แต่ยังมีรายจ่ายอื่นๆ อีกมาก คำถามของท่านนั้นคือ ถ้าจะเปลี่ยนเพียงแค่ ๒ เส้นก่อน โดยเปลี่ยนเป็นยี่ห้อใหม่ซึ่งต่างยี่ห้อกับของเดิม จะสามารถทำได้หรือไม่? และจะมีอันตรายเมื่อใช้งานหรือไม่ ?
ผมซึ่งบังเอิญอ่านพบจึงเข้าไปสอบถามกันว่า “ใช้รถวันละกี่ กม. และปกติขับด้วยความเร็วเฉลี่ยเท่าไหร่?” คำตอบที่ได้รับก็คือ “ใช้เพียงแค่ไปส่งและรับลูกจากโรงเรียน ระยะทางวันละไม่เกิน ๕๐ กม. ปกติใช้ความเร็วไม่เกิน ๘๐ กม./ชม.”
ผมจึงตอบกลับไปว่า “ยังไม่ต้องเปลี่ยนยางก็ได้ เพราะผ่านมา ๕ ปีเพิ่งใช้รถไปไม่ถึง ๓ หมื่น กม. และใช้งานเฉพาะในเมืองที่การจราจรติดขัด อีกทั้งความเร็วก็ต่ำมาก จึงสามารถยืดระยะเวลาการเปลี่ยนยางออกไปได้อีกสัก ๑ ปี หรือหากจะเปลี่ยนเพียงแค่ ๒ ล้อจริงๆ ก็สามารถเปลี่ยนยี่ห้อได้โดยไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด“
หลังจากตอบไป ก็มีหลายท่านเข้ามาแย้งบางท่านยังบอกด้วยว่า “ถ้าเชื่อผมใช้ยางอายุ ๕ ปีต่อไป แล้วเกิดอุบัติเหตุ ผมจะรับผิดชอบเจ้าของรถได้หรือไม่?” ผมก็ตอบกลับไปว่า “ผมไม่รับผิดชอบในอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ผมตอบจากพื้นฐานของเหตุผลและลักษณะการใช้รถ ตามที่เจ้าของคำถามบอกมา”
ความไม่เข้าใจในเหตุและผล ทำให้ทุกวันนี้การตอบปัญหาในที่สาธารณะของผม อยู่ในขั้นที่ต้องอธิบายกันยาวมาก และต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เพราะคนใช้รถยนต์สมัยนี้จำนวนมาก ที่อ่านคำถามและคำตอบแล้วจับประเด็นไม่ถูก ไม่พยายามทำความเข้าใจในเหตุผล เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ และเชื่อคำตอบที่หาได้จากที่อื่น ซึ่งมีพื้นฐานของคำถาม และลักษณะการใช้งานแตกต่างกัน
ในกรณีนี้หากไม่เอาหลักการทางทฤษฎีมาพูดกัน และถ้ามีการทดลองทำการทดสอบแบบ “หลับตา” หมายความว่าหาคนขับรถมาสัก ๑๐ หรือ ๒๐ คน ขับรถ ๒ คัน ด้วยความเร็วประมาณ ๘๐ กม./ชม. คันแรกใช้ยางยี่ห้อและรุ่นเดียวกันทั้ง ๔ เส้น คันที่ ๒ ใช้ยางคู่หน้ายี่ห้อหนึ่ง ยางคู่หลังเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง โดยที่ผู้ขับรถไม่รู้ข้อมูลของยางดังกล่าว จากนั้นจึงให้ตอบคำถามว่ารู้สึกถึงความแตกต่างหรือไม่ ผมว่าน่าจะมีน้อยคนมากที่บอกได้ว่าแตกต่างกัน
ในกรณีกลับกันหากเจ้าของคำถามบอกลักษณะการใช้รถที่ต่างออกไป เช่น ใช้รถเดินทางต่างจังหวัดบ่อยๆ ใช้ความเร็วเกิน ๑๐๐ กม./ชม. เป็นประจำ และต้องขับผ่านเส้นทางลักษณะทางโค้งบ่อยๆ อีกทั้งต้องใช้ช่วงฤดูฝนตลอดเวลา คำตอบของผมก็จะต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เพราะผมจะต้องตอบว่า “ควรเปลี่ยนยางพร้อมกันทั้ง ๔ เส้น และควรรีบเปลี่ยนทันที ด้วยว่าผ่านการใช้งานมาถึง ๕ ปีแล้ว เนื้อยางหรือส่วนผสมของยางน่าจะแข็งตัวไปมาก ทำให้ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนลดลง หากเปลี่ยนยางที่มีลายดอกต่างกันระหว่างคู่หน้าและยางคู่หลัง หากใช้ความเร็วสูงๆจะมีผลต่อการทรงตัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องขับในทางโค้ง และเมื่อต้องการหยุดรถในระยะสั้น”
จะเห็นได้ว่าคำตอบสำหรับคนใช้รถแต่ละคน อาจจะเหมือนหรือต่างกันก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน
หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อมีข้อจำกัดยังไม่สามารถเปลี่ยนยางได้ทันที หรือไม่สามารถเปลี่ยนได้พร้อมกันทั้ง ๔ เส้น เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ก็สามารถใช้รถยนต์ต่อไปได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องปรับพฤติกรรมการใช้รถใหม่ ให้สอดคล้องกลับสภาพของยาง
ข้อมูลจำเพาะหรือสเปกของยาง รวมถึงแรงดันลมยาง จึงไม่ใช่สิ่งตายตัวที่ต้องยึดให้ตรงกันสำหรับรถยนต์ทุกคัน และสำหรับคนขับทุกคน สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตามความจำเป็น และยังสามารถปรับลักษณะและวิธีการขับให้สอดคล้องได้อีกด้วย หลักการและวิธีคิดในทำนองเดียวกันนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับการเลือกซื้อรถด้วย เพราะการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนต่างกัน ข้อมูลบางอย่างเช่น อัตราเร่งจาก ๐-๑๐๐ กม./ชม. หรือความสามารถในการทำความเร็วสูงสุด จึงไม่ใช่ข้อมูลที่มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อรถแม้แต่น้อย
ระยะทางที่สามารถหยุดได้เมื่อเบรก และอัตราเร่งแซงเสียอีกที่มีความสำคัญมากกว่า เพราะช่วยให้มีความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ได้มากขึ้นอย่างนี้เป็นต้นครับ