ความยั่งยืนของกิจการในรอบปี 2565
ผ่านพ้นปี 2565 ถือเป็นธรรมเนียมที่จะมีการประมวลเรื่องราวด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาในรอบปี เพื่อเป็นการทบทวนสถานะของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การวางทิศทางและตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในปีนี้ต่อไป
ผ่านพ้นปี 2565 ถือเป็นธรรมเนียมที่จะมีการประมวลเรื่องราวด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาในรอบปี เพื่อเป็นการทบทวนสถานะของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การวางทิศทางและตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในปีนี้ต่อไป
ในรอบปีที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ใช้เวทีประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) จัด Webinar เรื่องกระบวนการรายงานความยั่งยืนตามข้อแนะนำของ GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 5 ครั้ง ให้แก่องค์กรที่เป็นสมาชิก SDC จำนวน 136 ราย เพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล
และจากการทำงานของ SDC บนข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยจำนวน 854 แห่ง สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลและจัดทำรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2565 หรือ “The State of Corporate Sustainability in 2022” จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้องค์กรสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ศึกษา เปรียบเทียบสถานะ และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม
ในรายงาน แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก โดยหมวดแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI หมวดที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) และหมวดที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR)
ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GRI พบว่า องค์กรที่เป็นประชากรในการศึกษา มีการเปิดเผยข้อมูลไว้ในรายงานประจำปี (Combined in Annual Report) มีสัดส่วนมากสุด อยู่ที่ 80.91% รองลงมาเป็นประเภทเปิดเผยไว้ในรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) แบบแยกเล่มรายงานต่างหาก สัดส่วน 17.92% ซึ่งในประเภทนี้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิง GRI มีสัดส่วนอยู่ที่ 88.89% โดย 10 ประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยมากสุด ในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ และการต่อต้านทุจริต ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลอากาศ น้ำและน้ำทิ้ง และของเสีย และในด้านสังคม ได้แก่ ประเด็นการจ้างงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การไม่เลือกปฏิบัติ และแรงงานเด็ก
ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง WFE พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดย 10 ประเด็น ESG ที่มีการเปิดเผยมากสุด ในด้านสิ่งแวดล้อม (E) ได้แก่ ยอดการใช้พลังงาน และการใช้น้ำ ในด้านสังคม (S) ได้แก่ การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก และนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และในด้านธรรมาภิบาล (G) ได้แก่ ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท จรรยาบรรณคู่ค้า และจริยธรรมและการต่อต้านทุจริต
ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GCI พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการตอบสนองต่อ SDGs ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสถาบัน โดยมีการตอบสนองต่อ SDGs เป้าหมายที่ 3 (สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี) เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่ได้คุณภาพ) เป้าหมายที่ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) เป้าหมายที่ 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) เป้าหมายที่ 7 (พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง) เป้าหมายที่ 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) เป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) เป้าหมายที่ 12 (การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ) เป้าหมายที่ 16 (ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง) และเป้าหมายที่ 17 (การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)
โดย 10 ตัวชี้วัดหลัก GCI ซึ่งตอบสนองต่อ SDGs ที่มีการเปิดเผยสูงสุด ในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดรายได้ และภาษีและเงินอื่นที่จ่ายแก่รัฐ ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ ในด้านสังคม ได้แก่ ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน และสัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย และในด้านสถาบัน ได้แก่ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง ช่วงอายุของกรรมการ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม และค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังได้นำเสนอประเด็นด้านความยั่งยืนของกิจการที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เจตนารมณ์ในการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตลอดจนความท้าทายในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร
องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2565 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าว ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป