ESG เทรนด์โลก หรือแค่กระแสตื่นตูม
ในช่วงที่ผ่านมา 'ESG' กลายเป็นคำคุ้นหูที่นักธุรกิจต้องได้ยิน หรือไม่ก็ต้องเห็นผ่านตาว่า ESG จะกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ที่นักลงทุนนักธุรกิจทั่วโลกต้องตระหนัก
ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะผลกำไรและการลดต้นทุน อาจไม่ตอบโจทย์กับบริบทของโลกยุคปัจจุบันและยุคต่อจากนี้ได้อีกต่อไป ธุรกิจจึงจำเป็นจะต้องหาทางรอดและปรับตัวเพื่อให้สามารถเติบโตไปได้อย่างเกื้อกูลแก่ทุกฝ่ายและสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน
จึงเป็นที่มาของกรอบแนวคิด ESG เพื่อใช้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental : E) มิติสังคม (Social : S) และมิติธรรมาภิบาล (Governant)
มาทำความรู้จัก ESG กันสักนิด ESG ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่กำไรจากผลประกอบการและการเติบโตทางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างครอบคลุมทั้ง 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
E - Environmental เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการดำเนินธุรกิจย่อมมีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุดและส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ตัวอย่างการพิจารณาเกี่ยวกับ E - Environmental ด้านสิ่งแวดล้อม จะคำนึงถึงการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การปล่อยมลพิษและการควบคุมคุณภาพอากาศ การใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดของเสีย เป็นต้น
S - Social เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกับลูกจ้าง suppliers ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อย่างไร เพราะธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องย่อมมีแนวโน้มว่าธุรกิจราบรื่น โดยอาจสะท้อนได้จากสวัสดิการแรงงาน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ตัวอย่างการพิจารณาเกี่ยวกับ S - Social ด้านสังคม จะคำนึงถึงในแง่ความสัมพันธ์กับพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชน เช่น การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม ความปลอดภัยในการทำงาน ความเสมอภาคในการจ้างงาน การให้สวัสดิการด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา และที่อยู่อาศัย ฯลฯ
G - Governance เป็นหลักเกณฑ์ในด้านธรรมาภิบาล เรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินงานของธุรกิจ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและการตรวจสอบเพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของธุรกิจทั้งหมด โดยทุกขั้นตอนการดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้
ตัวอย่างการพิจารณาเกี่ยวกับ G - Governance ด้านธรรมาภิบาล จะคำนึงถึงการควบคุมความเสี่ยง สิทธิของผู้ถือหุ้น และมาตรฐานของผู้บริหาร เช่น จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ความโปร่งใสทางบัญชี ความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริษัท การใช้สิทธิออกเสียง ค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงาน เป็นต้น
วิวัฒนาการ 4 ยุค จาก CSR มาสู่ ESG
เมื่อพูดเรื่อง ESG หลายท่านอาจไม่รู้ว่า วิวัฒนาการกว่าจะมาถึง ESG การเปลี่ยนแปลงเรื่องธุรกิจและสิ่งแวดล้อมในบ้านเรานั้นแบ่งออกเป็น 4 ยุคหลักๆ ด้วยกัน
- ยุคแรกเริ่มต้นด้วย CSR Corporate Social Responsibility โดยหลักการของ CSR แรกเริ่มเดิมทีเป็นเรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคม เช่นออกมาปลูกป่าชายเลน หรือ บริจาคแจกทุนตามโรงรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อพัฒนาถึงจุดหนึ่งก็เข้าสู่
- ยุคที่สอง ISO 2600 ที่เข้มข้นขึ้น โดยปี 2010 ทาง ISO ได้ออกมาประกาศสิ่งที่เรียกว่า ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรทั้งหลาย ภายใน ISO 26000 ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 7 ข้อหลัก ด้วยกันคือ การกำกับดูแลองค์กร, สิทธิมนุษยชน, การปฏิบัติด้านแรงงาน, สิ่งแวดล้อม, การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม, ประเด็นด้านผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน จนเข้าสู่
- ยุคที่สาม SDG Sustainability Development Goal ปี 2015 สหประชาชาติได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainability Development Goal 17 ข้อ โดยแบ่งเป้าหมาย 17 ข้อ ออกเป็น 5 กลุ่มคือ ด้านมิติของสังคม, มิติด้านเศรษฐกิจ, มิติด้านสิ่งแวดล้อม, มิติด้านสันติภาพและสถาบัน และ มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา จึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจ
- ยุคที่สี่ ESG เริ่มมีบทบาทสำคัญกับองค์กรธุรกิจในประเทศไทย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ในรายงานของบริษัทที่ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ มีการจัดอันดับหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน Thailand Sustainability Investment (THSI) ติดต่อกันมาหลายปี รวมถึงการจัดอันดับความยั่งยืนของสถาบันต่างประเทศ เช่น Dow Jones, MSCI, S&P เป็นต้น ประกอบกับเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นที่ได้รับการให้ความสำคัญในระดับโลก
ESG ไม่ใช่แค่กระแสแต่เป็นทางรอดธุรกิจยุคใหม่
ESG ไม่ใช่กระแสที่มาแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป แต่เป็นสิ่งที่จะเข้ามาเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ เพื่อให้โลกอยู่ได้ ธุรกิจอยู่ได้ ซึ่ง ESG เป็นกรอบการบริหารจัดการที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ Environment การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม, Social การจัดการด้านสังคม และ Governance การจัดการด้านธรรมาภิบาล
ESG จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ถึงขั้นระบุเป็นนโยบาย และข้อบังคับใช้ในการทำธุรกิจ การทำ ESG สิ่งสำคัญไม่ใช่ Why หรือ What แต่เป็น How และ When ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น ซึ่งได้กลับมาที่ธุรกิจ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินและมูลค่าระยะยาวให้กับบริษัทได้ ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกก็ใช้ ESG พิจารณาประกอบการลงทุน เพื่อประเมินความยั่งยืน และความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัท
ดังนั้น ในเรื่องของ When คือ 'เริ่มได้เลย' ในสิ่งที่ทำได้ก่อน เช่น การตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพื่อลดปริมาณคาร์บอน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี ต้นไม้ถึงจะดูดซับคาร์บอนได้ และต้องระบุเป็นจำนวนต้นที่ปลูก ถึงจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขจริงได้ การจะนำมาใช้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการทำ ESG ในปีนี้ แสดงว่าต้องมีการวางแผน และเริ่มปลูกต้นไม้มาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นต้น