Future Human ที่ฉลาดเท่าทัน ‘AI’
ว่ากันว่าปี 2568 ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีวิวัฒนาการก้าวกระโดดโดยเฉพาะ Large Language Models (LLMs) หรือโมเดลพื้นฐานการประมวลผลของ AI จะมีความสามารถเข้าใจและโต้ตอบกับมนุษย์ได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น
สามารถประมวลผลและทำความเข้าใจข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ พูดง่ายๆกว่า AI จะเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านหนึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการให้บริการ ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและทักษะแรงงานในอนาคตได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทักษะใช้ AI อย่างชาญฉลาดจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและล้ำยุค ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายเป็น ’The University of AI‘ โดยเฉพาะการสร้าง “คนพันธุ์ใหม่” หรือ “Future Human” ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญในการใช้งาน AI (Artificial Intelligence) แต่เปี่ยมด้วยทักษะที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ “ปัญญาสัญชาตญาณ” ไม่ได้มีเพียงสมองที่ชาญฉลาด แต่ต้องมีหัวใจที่ดีงาม ที่จะเปลี่ยนความสามารถทางเทคโนโลยีให้เป็นพลังที่สร้างคุณค่าแก่ทั้งตนเองและสังคม
ล่าสุดร่วมกับ World Economic Forum เสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี 2568–2573 โดยสำรวจ 1,000 บริษัท พนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก พบว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้มี ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง มีการเติบโตสุทธิของการจ้างงานคิดเป็น 7 % หรือเท่ากับ 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก แต่จะทำให้ 92 ล้านตำแหน่งงาน จะหายไปเนื่องจากระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
ที่สำคัญยังพบว่า 5 ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานในปี 2573 ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและ. การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ จึงจำเป็นที่มนุษย์จะต้องมีทักษะในโลกอนาคตแน่นๆ คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล จึงจะทำให้อยู่รอดได้
การศึกษาคือการเลื่อนชนชั้นที่ดีที่สุด และเช่นเดียวกัน การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ คือเครื่องมือที่การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงและเตรียมพร้อมสู่การทำงาน สถาบันการศึกษาอาจจะต้องปรับลดเวลาเรียนในห้องเรียนลง แล้วเพิ่มเวลาคิดและฝึกทักษะ (Active learning) เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่พร้อมกับการทำงาน และการใช้ชีวิตในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่มีความรู้และทักษะที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจยุคใหม่ และเชื่อมโยงเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มคุณค่าและความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในอนาคต ที่ฉลาดเท่าทัน ‘AI’