แจกเงินหมื่น & ระฆังปลุกให้ตื่นจากฟรีดแมน! | ชิดตะวัน ชนะกุล
“ไปทานข้าวกัน ผมเลี้ยง” หากมีหนุ่มหล่อยื่นข้อเสนอพาไปทานอาหารกลางวันบนเรือยอร์ชในทะเลแคริบเบียน เชื่อว่าสาวน้อยสาวใหญ่จำนวนไม่น้อยคงยินดีตอบรับโดยไม่ลังเล ทำไมล่ะ “ของฟรีดีๆ แบบนี้ ใครจะไม่เอา!?”
หากทว่า วาทะสำคัญโดย มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ว่า “There is No Such Thing as a Free Lunch." หมายถึง อาหารฟรีๆ ไม่มีอยู่จริง ก็ยังถูกต้องเสมอ สำนวนดังกล่าวสื่อถึงความจริงที่ว่าทุกสิ่งย่อมมีราคา และไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีอย่างแท้จริง หากชายผู้นี้เลือกที่จะนำเงินไปเปย์อาหารกลางวันสาว เขาย่อมสูญเสียโอกาสที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อสินค้าและบริการหรือทำประโยชน์อย่างอื่น
เช่นเดียวกัน การที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายเติมเงินในกระเป๋าดิจิทัลให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาท ใช้จ่าย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 600,000 ล้านบาท ย่อมเกิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นและเหมาะสม
อาทิ โครงการซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ โครงการอาหารกลางวันเด็ก โครงการสวัสดิการเพื่อทหารชั้นผู้น้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการคลังในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า รัฐบาลไทยมีการใช้งบประมาณเกินตัว นั่นคือ มีความไม่สมดุลระหว่างการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เรียกทางวิชาการว่า การขาดดุลงบประมาณ
เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,185,000 ล้านบาท ในขณะรายได้ที่จัดเก็บได้เป็นเงินเพียง 2,490,000 ล้านบาท จึงต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 695,000 ล้านบาท ซึ่งรวมเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนี้สาธารณะ
แม้คณะทำงานนโยบายแจกเงินดิจิทัลหัวละหมื่นจะชี้แจงว่า เงินที่จะนำมาใช้ในโครงการมาจากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการออกนโยบาย ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นถึงเกือบ 600,000 ล้านบาท
แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการจึงหนีไม่พ้นการก่อหนี้ผ่านหลากหลายวิธี ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศต้องทะยานสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การพุ่งสูงขึ้นของหนี้สาธารณะหมายถึงค่าเสียโอกาสของการใช้งบประมาณ ในวันข้างหน้าแทนที่รัฐบาลจะสามารถนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่กลับต้องนำไปใช้หนี้ดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากการใช้จ่ายเงินเกินตัวของรัฐในเรื่องที่ไม่เหมาะสม
นั่นคือ ความสบายของประชาชนแต่ละคนในการได้เงินไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แบบฟรีๆ ถึง 1 หมื่นบาทในปี 2567 ย่อมเกิดเป็นข้อจำกัดในการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนในอนาคต
นอกจากนี้ เมื่อการก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายเป็นการผลักภาระด้านภาษีจากปัจจุบันไปยังอนาคต การใช้จ่ายของรัฐที่เกิดขึ้นจึงควรถูกนำไปใช้ในโครงการที่เป็นไปเพื่อการลงทุน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว
อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการศึกษา สำหรับโครงการนี้ ในขณะที่คนอายุ 16 ปี ขึ้นไป ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน จะติดยาหรือจะเป็นผู้มีอิทธิพล ก็ต่างได้ประโยชน์จากเงินหมื่นบาทที่สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอย
เด็กรุ่นใหม่ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการแม้แต่น้อย กลับต้องร่วมแบกรับภาระหนี้ประเทศ ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพื่อเป็นงบประมาณจ่ายคืนหนี้ดอกเบี้ยในโครงการที่เป็นไปเพื่อการจับจ่ายใช้สอยของคนในยุคนี้
นโยบายหัวละหมื่นจึงเปรียบดั่งอาหารกลางวันหรูบนเรือยอร์ชที่ชายหนุ่มไปกู้มาเพื่อเปย์สาว ทั้งสองคนมีความสุขรักกันอย่างดูดดื่ม แต่อนิจจา อีกไม่กี่ปีข้างหน้า สาวคนนี้ที่หลงไปกับหนุ่มสายกู้ พร้อมลูกสาวลูกชายวัยน่ารัก ต้องเผชิญกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส
การใช้หนี้ดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการกู้ ทำให้ครอบครัวเกิดความขัดสน มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจัดหาการศึกษาที่ดีให้ลูก...นั่นคือ น้ำผึ้งริมทะเลของพ่อและแม่ในวันนั้น กลับกลายเป็นยาพิษที่บั่นทอนอนาคตของลูกในวันนี้...เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี...ดังฟรีดแมน..ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์...ได้สั่นระฆังเตือนไว้...