ลุ้นลงทะเบียนแอปทางรัฐ ประชาชนรอใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 

ลุ้นลงทะเบียนแอปทางรัฐ ประชาชนรอใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 

เปิดฉากเดือน ส.ค.มาวานนี้ (1 ส.ค.) เจอหน้าใครก็คุยกันแต่เรื่องการลงทะเบียนแอป “ทางรัฐ” ได้บ้างไม่ได้บ้างคละเคล้ากันไป เสียงบ่นมีให้ได้ยินบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ล่วงเข้าช่วงบ่าย 14.00 น. 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยภาพรวมการลงทะเบียนขอรับสิทธิโครงการ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ในวันแรกที่เปิดให้ประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ”  เริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 08.00 น. พบว่า เพียง 6 ชั่วโมงมีประชาชนมาลงทะเบียนแล้ว 10.5 ล้านคน ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเดินหน้าโครงการ ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนไม่ได้ก็มีอีกหลายล้านคน

พูดถึงตัวโครงการที่มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ตแม้ไม่ใช่การแจกเงินแต่รัฐบาลบอกว่ามีฤทธานุภาพสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ จะว่าไปแล้วท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้วิธีแจกเงินให้ประชาชนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่าย

เมื่อช่วงต้นปีสิงคโปร์ประกาศแผนงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งรวมถึงการแจกบัตรซื้อสินค้ามูลค่า 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อครัวเรือน หรือราว 12,000 บาท แจกสองรอบเดือน มิ.ย. และ ม.ค.2568 หลังจากเดือน ม.ค.2567 สิงคโปร์ได้แจกบัตรกำนัลเงินสดไปแล้ว 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ 

ด้านมาเลเซียขยายโครงการเงินช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อย จาก 8 พันล้านริงกิต (62,400  ล้านบาท) ในปี 2566 เพิ่มเป็นหนึ่งหมื่นล้านริงกิต (78,000 ล้านบาท) ในปีนี้ ฟิลิปปินส์แจกเงิน 5,000 เปโซ (ราว 3,200 บาท) ให้ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 23,000 เปโซ ส่วนอินโดนีเซีย เมื่อเดือน ม.ค. รัฐบาลประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศแจกเงินครัวเรือนรายได้น้อย เดือนละ 200,000 รูเปียะห์ (ราว 438 บาท) แต่ถ้าจำกันได้ อินโดนีเซียมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.  การแจกเงินดังกล่าวจึงถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐมนตรีกลาโหมปราโบโว สุเบียนโต ผู้สมัครประธานาธิบดีที่คว้าชัยชนะไปในที่สุด  

ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายเป็นผลผลิตของฝ่ายการเมือง ที่นักการเมืองหาเสียงกันปาวๆ ว่าหากได้รับเลือกตั้งแล้วจะทำโน่นทำนี่ก็เป็นหน้าที่ที่พวกเขาต้องทำเมื่อได้เป็นรัฐบาล ขณะที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากนโยบายไม่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกรัฐบาลชุดนั้นก็ตาม ได้ยินมาเหมือนกันว่าประชาชนบางคนหรือร้านค้าบางร้านจะไม่เข้าร่วม โครงการดิจิทัลวอลเล็ต นี่เป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้

เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีประชาชนไม่ร่วมสังฆกรรมกับโครงการแจกเงินในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน แต่สำหรับรัฐบาลโดยเฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือหน้าที่ พูดไว้แล้วต้องทำ จะได้ใช้จริงเมื่อใด จะช้าหรือเร็วก็ต้องทำให้ได้ ทำแล้วดีหรือไม่ดีประชาชนจะตัดสินเอง