‘เงินบาท’ แข็งค่า ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย?
การแข็งค่าของเงินบาทกำลังสร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ภาคส่วนนี้ถือเป็น “พระเอก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย...
เมื่อสองเครื่องยนต์นี้กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่จาก “เงินบาท”ที่แข็งค่า จึงน่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยที่เติบโตเชื่องช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันอยู่แล้ว กำลังโดนแรงกดดันซ้ำซ้อนจากการแข็งค่าของค่าเงิน
มาดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้กันเล็กน้อย จริงอยู่ถ้านับจากต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอาจดูแข็งค่าเพียงราวๆ 4% แต่ถ้านับจากจุดที่เงินบาทเคยทำสถิติอ่อนค่าสุดในปีนี้ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่เคลื่อนไหวอยู่ราวๆ 32.90 บาทต่อดอลลาร์ นับว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 11-12% เป็นระดับการแข็งค่าซึ่งต้องถามผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินว่าทนกันไหวหรือไม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไว้ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 1% อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 0.5% ของ Nominal GDP แต่ผลกระทบที่ว่านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ย้ำว่า สะท้อนเฉพาะผลในขั้นแรกที่เกิดจากการแปลงรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกมาเป็นเงินบาทเท่านั้น
ขณะที่ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปัจจุบัน ทำให้รายได้ของกลุ่มเกษตรกร เกษตรแปรรูป หายไปแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และหากเงินบาทยังทำสถิติแข็งค่าต่อเนื่อง อาจทำให้รายได้ของการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้หายไปประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
ด้านสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าจากระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้รายได้จากการส่งออกไก่หายไปประมาณ 1 พันล้านบาท ถ้าเป็นเช่นนี้ไปจนถึงสิ้นปี รายได้ก็จะหายไปราวๆ 5-6 พันล้านบาท
อีกทั้งยังกระทบไปยังราคาไก่มีชีวิต ที่ร่วงลงเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท จากเดิม 44 บาท ในขณะที่ต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่กิโลกรัมละ 41-42 บาท เท่านี้เกษตรก็ขาดทุนแล้ว ที่สำคัญหากเทียบกับประเทศคู่แข่งขันอย่าง บราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่เบอร์หนึ่งของโลก ที่ค่าเงินเขาอ่อนลง 3-4% ทำให้การแข่งขันยิ่งยากลำบากมากขึ้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สะท้อนภาพชัดเจนว่า เงินบาทที่แข็งค่ามีความเสี่ยงซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยซึ่งเติบโตช้าอยู่แล้วให้หนักมากขึ้น โดยเรื่องนี้ “หอการค้าไทย” มีแผนที่จะนัดหารือร่วมกับทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณาช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยเผชิญกับภาวะหนี้สินที่ล้นตัวก็หนักหนาอยู่แล้ว ยังต้องมาเจอกับความเสี่ยงการค้าขายที่ยากลำบากมากขึ้น ถ้าไม่รีบแก้ไขเศรษฐกิจไทยคงมีแต่จะแย่ลง!