ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทแจกเงินแค่เครื่องมือ หมุดหมายสำคัญคือข้อมูล
โครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านแอป “ทางรัฐ” ที่ตั้งโครงการไว้ว่า จะเป็นพายุหมุน 4-5 ลูกกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและเข้าสู่ยุคดิจิทัล
แม้ว่าจะไปไม่ถึงอย่างที่ตั้งใจ แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะยังคงเดินหน้าต่อไป และมีการปรับเงื่อนไขไปบ้าง เบื้องต้นจะเป็นการแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนไว้ก่อนเป็นอันดับแรกจำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่งจะเป็นการแจกเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครั้งเดียวเลย 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และข้อมูลการลงทะเบียนในผ่านแอป “ทางรัฐ” ข้อมูล หรือ ดาต้า ที่กำลังพูดถึงนี้แหละ เป็นมูลค่าหลักของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตผ่านแอป “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องรู้ การเก็บข้อมูลหรือดาต้าที่โครงการจะดำเนินการจะเป็นพื้นฐานการวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้าหมาย ตรงความต้องการ ตามพฤติกรรม
ข้อมูลที่มีอยู่ก็มัวมัวมั่วมั่วกระจัดกระจาย
ข้อมูลปี 2566 ที่ประชาชนยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11.3 ล้านคน โดยมีผู้ที่เสียภาษี 4.17 ล้านคน เมื่อคิดจากประชากรไทยจำนวน 66 ล้านคน จะได้อัตราส่วนคนไทยที่เสียภาษี 6.31% ของประชาชนทั้งหมด สรุป ถ้าบอกว่ามีคนไทยแค่ 6 ใน 100 คนเท่านั้น ที่เข้าระบบภาษีบุคคลธรรมดานั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแบบมัวๆ แล้วคนอีก 94 ใน 100 ทำไมไม่เข้าระบบภาษี ภาคราชการก็น่าจะรู้บ้างแต่ก็กระจัดกระจายไปตามกระทรวงทบวงกรมหลากหลาย
ปัจจุบันมีจํานวน SMEs อยู่ราว 3.2 ล้านราย แต่เป็นนิติบุคคลเพียง 8.4 แสนราย หรือคิดเป็น 26% หมายความว่า มี SMEs จำนวนมากถึงเกือบ 2.4 ล้านราย หรือ 74% ที่ไม่มีข้อมูลงบการเงินในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ
แรงงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า มีแรงงานนอกระบบอยู่ราว 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 51% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด การจัดเก็บภาษีของภาครัฐอ่อนแอ เพราะไม่สามารถเก็บจากคนที่ไม่รายงานรายได้ ทำให้รัฐไม่สามารถหารายได้ได้มากพอไปใช้ดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ เช่น สวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ
ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 90.7% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 76% เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 3.97 ล้านล้านบาท จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งแปลว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงถึง 110% แต่หากดูตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ เปิดเผย จะพบว่าหนี้นอกระบบอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท ซึ่งต่างกันมากกับตัวเลขผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ข้อมูลหรือดาต้าที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตคาดหวังจะได้
เดิมทีรัฐบาลยุคนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา” โฆษณาหาเสียงว่าจะแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะต้องลงทะเบียนก่อน ซึ่งมีคนได้รับราว 55-56 ล้านคนทั่วประเทศ และถ้าการลงทะเบียนคัดกรองนี้มีลักษณะจริงจังไม่ “ขอไปที” แอป “ทางรัฐ” ก็จะมีข้อมูลอย่างน้อยข้อมูลพื้นฐาน เพศ อายุ ภูมิลำเนา ภูมิการงาน เมื่อเชื่อมโยงกับข้อมูลสรรพากร ก็จะรับรู้รายได้ต่อปี รายจ่ายต่อปี เป็นผู้เปราะบางยากจนมากน้อยอย่างไร
ฝั่งร้านค้าเองก็ถูกคัดกรองด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่จะรับเงินจากประชาชนได้จะต้องดูเป็นร้านค้า “ขนาดเล็ก” ตามที่กระทรวงพาณิชย์มีอยู่กว่า2 ล้านราย เป็นร้านค้าที่มีหน้าร้านและจดทะเบียนการค้าชำระภาษีถูกต้องราว 8 แสนราย ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 3 แสนราย หาบเร่แผงลอยกว่า 9 แสนราย ซึ่งหากร้านค้าเหล่านี้มีลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ แอป “ทางรัฐ” ก็จะมีข้อมูล ใครเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน อย่างถูกต้อง
นอกจากประชาชนและร้านค้าจะได้เงินมาใช้แล้ว โครงการดิจิทัลวอลเล็ต “ทางรัฐ” โดยความร่วมมือของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็จะได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย และ แอป “ทางรัฐ” ได้มีเป้าหมายใหญ่ที่จะเป็นซูเปอร์แอป (Super app) ซึ่งหมายถึงการเป็นจุดครบวงจรสำหรับผู้ใช้งาน ทำได้หลายอย่างในที่เดียว และ จะให้มีลักษณะเป็น open loop ซึ่งแปลว่าเชื่อมต่อเข้ากับธนาคารหรือระบบการชำระเงินของแอปต่างๆ รวมถึงการเชื่อมโยงกับ “โครงการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือที่เรียกกันว่า “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” เชื่อมโยงการครอบครองรถยนต์และทรัพย์สินอื่นๆ
ภาครัฐก็จะทราบถึงสถานะของครัวเรือนและพฤติกรรมการใช้จ่ายการหารายได้ และวางแผนในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนจากภัยต่างๆ ได้ตรงเป้าและทันกาล ดิจิทัล วอลเล็ต ก็จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการคัดสรรผู้มีรายได้ต่ำที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช่ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ หนี้ครัวเรือนที่เป็นภาระและกังวลกันก็จะได้ช่องทางความช่วยเหลือผ่อนผันอย่างถูกฝาถูกตัว
อย่าเพียงแค่แจกเงิน แต่ข้อมูลต้องได้ด้วย
แม้ว่าการดำเนินต่อจากนี้จะเป็นไปในรูปแบบ “คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟสแรก มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก เพื่อเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ บรรเทาภาระค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยจะจ่ายเป็นเงินสดคนละ 10,000 บาทในเดือน ก.ย.2567 แต่ก็ยืนยันว่า เงินหมื่นเฟสสอง จะยังคงเดินหน้าต่อไปกับกลุ่มประชาชนทั่วไปทีลงทะเบียน (หักกลุ่มแรกไป 14 ล้านคน) ที่เหลือกว่า 22 ล้านคน
มูลค่าของโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านแอป “ทางรัฐ จึงไม่ได้อยู่แค่แจกเงิน การแจกเงินเป็นเพียงกุศโลบาย ไม่ใช่แค่ “ได้ใช้เงิน” แต่เพื่อให้ได้ข้อมูล ดังนั้น ก็อย่าทำแบบขอไปที เสียของไปเปล่าๆ ทำทั้งที ต้องให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน