กระตุ้นเศรษฐกิจ โค้งสุดท้าย

กระตุ้นเศรษฐกิจ โค้งสุดท้าย

การหารือระหว่าง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

น่าติดตามต่อถึงผลลัพธ์การพูดคุยในแบบลงลึกถึงรายละเอียด และผลต่อเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นหลัก เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องเร่งด่วน คือ แก้ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน และหนี้เอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูง

ยกตัวอย่าง มาตรการแก้หนี้ จะครอบคลุมไปที่กลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มลูกหนี้ที่กู้เงินซื้อบ้านหลังแรก กลุ่มลูกหนี้ที่ใช้รถกระบะประกอบอาชีพ และทำมาหากิน กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก มาตรการนี้จะมีทั้งลดภาระเงินต้น ลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจะออกมาเป็นมาตรการคู่ขนาน ทั้งเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินที่จะเป็นสินเชื่อเพิ่มเติมเข้ามาในระบบมากขึ้น

เหลือเพียง 2 เดือนก่อนจะสิ้นปี 2567  เรามองว่าช่วงโค้งสุดท้าย รัฐบาลควรเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนฐานราก ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลดค่าครองชีพ การอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ยังได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุนในระบบ

หากสิ่งที่ยังต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ การรักษาวินัยทางการคลัง แม้จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องคำนึงถึงภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสถานการณ์เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง รวมถึงความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายๆ ภูมิภาค

ขณะที่ เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ดูจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 2568 แต่ประเทศไทยไม่ควรโยนความหวังไปที่ภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียว สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ คือ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง และสิ่งสำคัญ คือ การยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องความต้องการตลาดในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนระยะยาว

ส่วนความท้าทายสำคัญปี 2568 หนีไม่พ้นเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดโลก ความเคลื่อนไหวของภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนขั้วอำนาจ หรือการผนึกระหว่างขั้วอำนาจ รวมถึงการที่รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ทั้งต้องอย่าลืมให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในอนาคต