เปิดบันทึก 'กฤษฎีกา' วินิจฉัยผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง 'กิตติรัตน์' ไม่ขาดคุณสมบัติประธาน ธปท.
เปิดบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบความเห็นสำนักนายกฯกรณีสอบถามขอบเขตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องมีอำนาจ อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการ แผ่นดิน เทียบเคียงการดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของ "กิตติรัตน์" ไม่ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ด ธปท.
กรณีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และคณะกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้มีมติคัดเลือกให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.
โดยเตรียมจะส่งชื่อให้กับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในวันที่ 19 พ.ย.นี้เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโดยในส่วนของตำแหน่งของประธานคณะกรรมการ ธปท.เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วสำนักเลขาธิการ ครม.จะนำชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯเพื่อโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งตามขั้นตอนต่อไป
ในเรื่องคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ที่ผ่านมาอยู่ในประเด็นที่สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดโดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตามกฎหมาย ธปท.ระบุว่าประธานและกรรมการ ธปท.ต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาอย่างน้อย 1 ปี โดยก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์มีตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี สมัยที่นายเศรษฐา ทวีสิน ยังเป็นนายกรัฐมนตรี
เรื่องนี้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งรับผิดชอบโดย ธปท.รวมทั้งคณะกรรมการคัดเลือกก็มีการพิจารณาข้อกฎหมายในเรื่องนี้อย่างละเอียดซึ่งได้รับการยืนยันจากฝ่ายกฎหมายว่าการดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี” นั้นไม่ได้เป็นตำแหน่งทางการเมือง
โดยแตกต่างจากตำแหน่ง “เลขานุการนายกรัฐมนตรี” ที่เป็นตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีหน้าที่สั่งการควบคุม รับเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายที่กำหนด และมีอำนาจในการ “อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการ แผ่นดิน” ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ต่างจากตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีอำนาจควบคุม แต่ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษานายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายงานที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เท่านั้น
บันทึกคกก.กฤษฎีกาเคลียร์ปมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการวินิจฉัยคำร้องที่เทียบเคียงไว้ ปรากฏในหนังสือเรื่องเสร็จที่ 481/2552 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าเรื่อง “ฐานะการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งขณะนั้นมีการขอให้วินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยตอบกลับถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีหนังสือที่ นร 1401.2/938 ลงวันที่ 6 ก.พ. 25662 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับ "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ตามบันทึก เรื่อง การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ว่าหมายความถึง “ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการ แผ่นดิน และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด
โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น
เนื่องด้วยข้อ 4 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งตั้งผู้แทนการค้าไทยจำนวนไม่เกิน 5 คน ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจากับต่างประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุน เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรี และอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงขอหารือว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ (สำนักงานปลัดกระทรวง) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า
ภายหลังจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือขอหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 แก้ไขเพิ่มเติมความในข้อ 4 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย
โดยกำหนดให้ให้ในการดำเนินนโยบายด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีอาจอาศัยอำนาจตาม มาตรา 11 (6)" แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แต่งตั้งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย จำนวนไม่เกิน 5คน โดยให้แต่งตั้งคนหนึ่งเป็นประธานผู้แทนการค้าไทยทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทย
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย)
ได้เคยวินิจฉัยไว้ในบันทึก เรื่อง "การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ" ว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "ข้าราชการการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535
ดังนั้น คำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" จึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และหากพิจารณาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทยไว้
ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ การเป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจากับต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับมอบหมาย จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทยมีลักษณะเป็นงานทางการเมือง คือการอำนวยการบริหารประเทศหรือการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในเชิงนโยบาย ดังนั้น ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยจึงอยู่ในความหมายของคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) ได้เคยวินิจฉัยไว้
เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของนายกิตติรัตน์ที่เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จึงไม่เข้าข่ายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและไม่ได้มีอำนาจในการอำนวยการ บริหารงานราชการแผ่นดิน ตามที่กฎหมายได้มีการแยกแยะออกมาให้เห็นชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งการเมือง กับผู้ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร
ดังนั้นกรณีที่มี ทนายความ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เรื่อง "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จึงต้องกลับไปดูข้อกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งมีการวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเอาไว้แล้ว เพราะเมื่อยึดตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการจัดทำบันทึกชี้แจงในเรื่องนี้ไว้คำร้องในเรื่องนี้ของทนายความผู้นี้ก็เป็นอันตกไปท้ายที่สุด และเป็นไปตามที่คณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นนี้มาจนสิ้นข้อสงสัยแล้ว