โครงการแจกเงิน 10,000 บาท | พงศ์นคร โภชากรณ์

โครงการแจกเงิน 10,000 บาท | พงศ์นคร โภชากรณ์

วันที่ 17 ก.ย.2567 รัฐบาลออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 10,000 บาทต่อคน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “โครงการแจกเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบาง” หรือ “แจกเงินหมื่นเฟส 1” มีกลุ่มเป้าหมาย 14.5 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 1.45 แสนล้านบาท

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ 10,000 บาทต่อคน หรือ “โครงการแจกเงินหมื่นให้ผู้สูงอายุ” หรือ “แจกเงินหมื่นเฟส 2” คาดว่ามีจำนวนไม่เกิน 4 ล้านคน ซึ่งต้องไม่เคยรับในเฟส 1 คิดเป็นวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท

ผมลองนำหลักการ “วงจรนโยบายสาธารณะ (Public Policy Cycle) หรือหลัก 5P” ซึ่งเป็นทฤษฎีสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ที่เรียนกันโดยทั่วไป มาวิเคราะห์ว่าโครงการนี้ดำเนินการอย่างมีเหตุมีผลและครบถ้วนหรือไม่ ดังนี้

1.การก่อตัวของนโยบาย (Policy Formation) : จุดประสงค์สำคัญของโครงการนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำมานาน ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และต่ำกว่าระดับการเติบโตเต็มศักยภาพ

หลายคนอาจจะบอกว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นจะกระตุ้นทำไม ถ้าไปดูตัวเลขจะพบว่า สาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจฟื้นตัว มาจากการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งชาวบ้านกลุ่มเปราะบางแทบไม่ได้อานิสงส์ใดๆ เลย แถมยังมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก อย่างที่เราทราบกัน ถ้าเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลเร็ว เรียกความเชื่อมั่น การแจกถือว่าได้ผลเร็วที่สุด

2.การกำหนดนโยบาย (Policy Formulation) : สูตรในการแจกเงินจะทำอย่างไร มีหลายวิธีมาก เช่น แจกเงินสด เข้าบัญชีเงินฝาก หรือเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือสร้าง Digital Wallet ขึ้นมารองรับ

สิ่งที่ผมเห็นด้วยคือการใส่เข้าไปในบัญชีเงินฝากเลย ถึงมือแน่นอน ไม่รั่วไปไหน ส่วนชาวบ้านจะเอาไปใช้จ่ายอะไร ใช้หนี้ เก็บออม ก็แล้วแต่เขา เพราะทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง 

ส่วนอีกประเด็นที่เห็นด้วย คือ ยังไม่ต้องกำหนดพื้นที่ในการใช้เงิน เพราะยังทำระบบได้ยากและซับซ้อน แต่ในอนาคต ถ้าออกแบบระบบดีๆ ควรกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ในร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าชุมชน ร้าน OTOP และร้าน SMEs เท่านั้น เพื่อให้เงินหมุนจากเศรษฐกิจจุลภาคขึ้นมาเศรษฐกิจมหภาค 

3.การตัดสินนโยบาย (Policy Decision) : ขั้นตอนนี้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะช่วยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางรายได้เป็นหลัก ได้แก่

กลุ่มที่ 1 คือผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน

กลุ่มที่ 2 คนพิการ 2 ล้านคน แต่มีคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ด้วยประมาณ 1 ล้านคน จึงเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน 14.5 ล้านคนเศษ คนกลุ่มนี้ คือ เฟส 1 

กลุ่มที่ 3 คือผู้สูงอายุที่เหลือที่ยังไม่ได้เงิน อันนี้ คือ เฟส 2 มีข้อแม้ว่าต้องเป็นคนที่ลงทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น

กลุ่มนี้คาดไว้ไม่เกิน 4 ล้านคน รวมแล้วก็ 17-18 ล้านคน เท่ากับการมีเครื่องยนต์พร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

4.การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation) : รัฐบาลใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากโดยตรง ใช้ระบบที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน

ชาวบ้านไปถอนออกมาใช้ได้เลย และไม่เสียเวลาไปสร้างใหม่ ซึ่งต้องเสียเวลาทดสอบระบบอีก อาจไม่ทันต่อจังหวะเวลาที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการใช้จ่าย ซึ่งเฟส 1 ต้องการให้เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้จ่ายมากเพราะตรงกับช่วงท่องเที่ยว คริสต์มาส และปีใหม่

ส่วนเฟสที่ 2 จะมารับช่วงต่อจากปีใหม่ไปถึงตรุษจีนปลายเดือน ม.ค.2568 ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง 

5.การประเมินผลของนโยบาย (Policy Evaluation) : ขณะนี้มีการลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อสำรวจผลว่าโครงการนี้ มีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ชาวบ้านใช้เงินซื้ออะไร ใช้หมดหรือไม่ หรือเอาไปใช้หนี้หรือเก็บออมในสัดส่วนเท่าใด เศรษฐกิจในจังหวัดต่างๆ มีความคึกคักเพียงใด

ดังนั้น ผลลัพธ์จากภาคสนามที่จะกลับมาในอีกไม่นาน จะตอบคำถามได้ชัดเจนว่า โครงการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ อย่างไร?  

อย่างไรก็ตาม มีข้อวิจารณ์ต่อโครงการนี้ 2 ประเด็นใหญ่คือ ประเด็นที่ 1 แจกแล้วหมดไป กระตุ้นได้ครั้งเดียว ไม่ก่อประโยชน์โภชผลอันใดและประเด็นที่ 2 นำเงินไปทำอย่างอื่นยังจะดีกว่า เช่น นำไปลงทุนได้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า 

ผมเลยเอา 2 ประเด็นนี้ มาวิเคราะห์ดูว่า แท้จริงแล้วมันแย่อย่างที่เขาว่าขนาดนั้นเลยหรือ ?

ในประเด็นที่ 1 ผมว่าการแจกเงิน 10,000 บาททั้ง 2 เฟส รวม 17-18 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงิน 1.7-1.8 แสนล้านบาท มีความคุ้มค่าแน่นอน 

ผมมีเหตุผล ดังนี้ 1) เครื่องชี้เศรษฐกิจดีขึ้นทันตา โดยในเดือน ต.ค.2567 ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดกลาง ย่อมและย่อย และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ล้วนปรับตัวดีขึ้นหมด ทั้ง 3 ดัชนีระบุว่าการปรับตัวดีขึ้นเป็นผลของโครงการแจกเงิน 10,000 บาท 

2) เศรษฐกิจขยายตัว0.4% - 0.5% จากการใส่เม็ดเงิน 1.7-1.8 แสนล้านบาทของทั้งสองเฟส 3) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะกลับคืนมาจากการบริโภคเพิ่มขึ้น เงินที่ได้มาจะผันไปเป็นการใช้จ่าย

การใช้จ่ายก็จะผันไปเป็นรายได้หรือยอดขายของร้านค้า ยิ่งมีการหมุนเวียนของเงินหลายทอดมากขึ้น รัฐบาลก็เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการนี้ 

4) การนำเงินไปใช้หนี้ หลายคนทักท้วงว่า ถ้าเขาเอาไปใช้หนี้ เงินก็รั่วออกจากระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้กระตุ้นจริง ซึ่งอันนี้ผิด เพราะถ้าเขาใช้หนี้ได้บางส่วน ภาระเขาก็เบาลง คล่องตัวขึ้น เงินเหลือมากขึ้น สามารถซื้อสินค้าจำเป็นเข้าบ้านได้ ช่วยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 5) สถานการณ์น้ำท่วมยิ่งจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อซื้อสินค้าจำเป็น ซ่อมแซมบ้านเรือน ยานพาหนะ อุปกรณ์ทำมาหากิน การแจกเงิน 10,000 บาท จึงมาได้ถูกที่ถูกเวลา ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า แจกแล้วหมดไป กระตุ้นได้ครั้งเดียว ไม่ก่อประโยชน์โภชผลอันใด ส่วนตัวคิดว่าไม่จริง

ในประเด็นที่ 2 นั้น ผมมองว่าเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องหวังผลเร็ว ช้าไม่ได้ เพราะมีคนเดือนร้อนจำนวนมาก ต้องอัดยาโด๊ปเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นจากภาวะโตต่ำ ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น 

ส่วนการลงทุนเป็นเรื่องการวางรากฐานระยะยาว ให้เกิดดอกออกผลในอนาคต เป็นปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง การสร้างสนามบิน เป็นต้น และมีงบประมาณรายจ่ายลงทุนปี 2568 อยู่แล้วกว่า 9.6 แสนล้านบาท 

ดังนั้น ถ้านำไปลงทุนทั้งหมดจะนำงบประมาณจากไหนช่วยประคับประคองกลุ่มคนเปราะบาง 

โดยสรุป โครงการแจกเงิน 10,000 บาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มความเชื่อมั่น สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน และช่วยบรรเทาภาระหนี้สินได้ 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด