คุณภาพคน-คุณภาพทีม
“ปัจจัยแห่งความสำเร็จ” (Key Success Factors : KSF) ของทุกองค์กรไม่ว่าจะขนาด Macro หรือ Micro ขนาดเล็กใหญ่ใดๆ ก็คือ “คน” ซึ่งมักข้องเกี่ยวกับ “คุณภาพคน” และ “คุณภาพทีมงาน” เป็นสำคัญ โดยเฉพาะประเภท “ทีมข้ามสายงาน” (Cross Functional Teams)
เมื่อเราย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ “วิวัฒนาการด้านการบริหารจัดการ” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยยึดเอา “ผลิตภาพของคน” (Human Productivity) เป็นที่ตั้งแล้ว ก็จะแบ่งได้เป็น 3 ยุคสมัย คือ
1.ยุคของ “การบริหารเชิงวิทยาศาสตร์” (Scientific Management) ซึ่งมี Fredrick Winslow Taylor เป็นต้นคิด
2.ยุคของ “มนุษย์สัมพันธ์” (Human Relation Approach) ซึ่งมี Elton Mayo เป็นต้นคิด
3.ยุคของ “การบริหารด้วยทีมงาน” (Team-based Management) ซึ่งมีทีมข้ามสายงาน เป็นหัวหอก (โดยไม่ชัดเจนว่า ใครเป็นต้นคิด)
ในยุคที่ 1 และ 2 นั้น การบริหารจัดการจะมุ่งเน้นที่ “การจูงใจเพื่อเพิ่มผลิตภาพของพนักงานแต่ละคน” (Productivity of Individual Workers) เป็นหลัก โดย Taylor เน้นที่ “การศึกษางาน” (Work Study) ส่วน Mayo เน้นที่มนุษย์สัมพันธ์ (Human Relation)
ยุคที่ 3 ในปัจจุบันนั้น จะมุ่งเน้นที่การเพิ่มผลิตภาพของทีมงาน โดยเฉพาะทีมงานประเภททีมข้ามสายงาน ซึ่งเกิดจากสมาชิกมาจากหน่วยงานต่างๆ รวมตัวกันเป็นทีมงาน เพื่อทำงานหนึ่งๆ (โครงการ) ให้สัมฤทธิ์ผล
ในทางวิชาการแล้ว ความหมายของ “ทีมข้ามสายงาน” มีหลากหลาย แต่ที่สำคัญๆ จะหมายถึง
(1) กลุ่มของพนักงานจากหน่วยงานต่างๆ ขององค์กร เช่น หน่วยงานวิจัย วิศวกรรม การตลาด การเงิน ทรัพยากรบุคคล และหน่วยงานด้านการปฏิบัติการ สมาชิกทุกคนจะทำงานโดยมีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงร่วมกัน มีความรับผิดชอบในการทำงานเป็นทีม เพื่อการประสานงานและร่วมมือกันทำงานให้ดีขึ้น มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของหน่วยงานต่างๆ ร่วมกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันได้
(2) กลุ่มของพนักงานที่มีความสามารถแตกต่างกัน มาร่วมกันทำงาน เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องที่มีผลกระทบต่อหน่วยงานต่างๆ ขององค์กร หรือมาทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
(3) กลุ่มของบุคลากรที่มาจากหลากหลายหน่วยงานภายในองค์กร ซึ่งมีความรู้และทักษะหลากหลายมารวมตัวกันทำงาน เพื่อวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สัมฤทธิ์ผล
ดังนั้น “ทีมข้ามสายงาน” จึงมักเกี่ยวข้องกับ “การบริหารโครงการ” (Project Management) ขององค์กร ปัจจุบันลักษณะของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรจะมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องอาศัยความรู้ที่หลากหลาย และการมองต่างมุมของคนต่างระดับกัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหามากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องมีการรวมตัวกันของ “ทีมข้ามสายงาน” เพื่อแก้ปัญหาหรือโจทย์ในลักษณะองค์รวมหรือต้องบูรณาการกัน
เหตุปัจจัยที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง “ทีมข้ามสายงาน” ในปัจจุบันนั้น ก็เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอด เพื่อการแข่งขันในตลาดธุรกิจอุตสาหกรรม เนื่องจาก “วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์” (Product Life Circle) มีอายุสั้นมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีต่างๆ ในขณะที่ตลาดส่วนใหญ่ยังคงต้องการสินค้าราคาถูกแต่มีคุณภาพยอดเยี่ยมด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่สามารถทำได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ต้องร่วมมือร่วมใจทำกันเป็น “ทีม”
“ทีมข้ามสายงาน” จึงเป็นการรวมตัวกันของพนักงานจากต่างหน่วยงาน หรือ ต่างแผนกกันและต่างระดับกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาที่ต้องการแก้ไขหรือเรื่องที่ต้องการปรับปรุง เช่น ทีมข้ามสายงานเพื่อการประหยัดพลังงาน อาจประกอบด้วยวิศวกร หัวหน้างาน พนักงาน แม่บ้าน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและดำเนินการประหยัดพลังงานของโรงงาน เป็นต้น
แม้ว่าทีมข้ามสายงานดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มีความแตกต่างจากกิจกรรม “กลุ่มสร้างเสริมคุณภาพ” (QC Circle) เป็นอย่างมาก เพราะ QCC เป็นการรวมกลุ่มคนในหน่วยงานเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาหน้างานเป็นหลัก แต่ทีมข้ามสายงานจะแก้ปัญหาแบบบูรณาการของหลายหน่วยงานขององค์กรเป็นหลัก
ทุกวันนี้ แม้เราจะคุ้นเคยกับ “ทีมข้ามสายงาน” ในหลายประการ หลายรูปแบบ เช่น คณะทำงาน คณะกรรมการ หรือ โครงการต่างๆ ก็ตาม แต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติจริง ซึ่งต้องใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการแตกต่างกันด้วย
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของ “ทีมข้ามสายงาน” ก็คือ การแก้ปัญหาที่มีความเกี่ยวพันกันของหลายแผนกหลายหน่วยงานในองค์กร โดยเฉพาะการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่สำหรับทั้งองค์กร การปรับปรุงกระบวนการให้บริการครบวงจร การควบคุมต้นทุนการผลิต เป็นต้น
การสร้างเสริมเขี้ยวเล็บและเพิ่มศักยภาพแก่ “ทีมข้ามสายงาน” จึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่สร้างผลงานรวมขององค์กรเป็นหลักแล้ว ยังมีผลต่อการสร้างความรักความสามัคคีของพนักงานทั้งองค์กรด้วย
ดังนั้น “การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง” เพื่อสร้าง “คุณภาพคน” และ “คุณภาพทีมงาน” (ทีมข้ามสายงาน) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กรหนึ่งๆ
โชคดีปีใหม่ พ.ศ.2568 ครับผม!