วันที่ 20 ม.ค.สหรัฐไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนประธานาธิบดี

วันที่ 20 ม.ค.สหรัฐไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนประธานาธิบดี

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2568 นโยบายของสหรัฐจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพียงแต่ไม่ทราบว่า จะมากมายเพียงใด ซึ่งผมเป็นห่วงว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ในส่วนของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเลยทีเดียว จึงต้องมาเริ่มต้นว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐนั้น ปัจจุบันคืออะไร และกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น จะมีสาระสำคัญอะไรบ้าง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐได้รับ “บทเรียน” ว่า การปล่อยให้การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินไป โดยพยายามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวนั้น ไม่ตอบโจทย์ของสหรัฐ กล่าวคือ ในที่สุดสหรัฐก็ต้องถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้อง และต้องส่งทหารเข้าไปสู้รบให้กับฝ่ายพันธมิตร ทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่สหรัฐมีมหาสมุทรเป็น “กันชน” ไม่ทำให้สามารถปลีกตัวออกไปจากปัญหาของโลกได้

ดังนั้น สหรัฐจึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการ “ออกแบบ” ระเบียบโลกใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสหรัฐเรียกว่า “rules based international order” ในทางปฏิบัติคือ การที่สหรัฐเป็นแกนนำในการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อรักษาความสงบของโลก ซึ่งสามารถตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐพร้อมกันไปด้วย โดยมีกลไกและโครงสร้าง ดังนี้

1.สหรัฐร่วมจัดตั้งสหประชาชาติ ซึ่งให้ประเทศขนาดใหญ่มีอำนาจพิเศษ และสหรัฐได้สนับสนุนสหประชาชาติ “รักษาระเบียบโลก” เช่น การเข้าไปช่วยรบในสงครามเกาหลี 

2.สหรัฐมีบทบาทสำคัญในการปล่อยกู้เงินเพื่อฟื้นฟูสหภาพยุโรป (Marshall Plan) และสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ญี่ปุ่น 

3.สหรัฐเป็นเจ้าภาพเพื่อจัดตั้งแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade) ซึ่งต่อมา คือองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่ส่งเสริมการค้าเสรี โดยการเป็นเจ้าภาพการเจรจาพหุภาคีเพื่อลดภาษีศุลกากร และการลดทอนมาตรการกีดกันการค้าอื่นๆ

4.สหรัฐยังขับเคลื่อนการจัดตั้งธนาคารโลก (World Bank) เพื่อให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อจัดระเบียบการเงินระหว่างประเทศและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

5.สหรัฐสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางทหารโดยการ “ลงทุน” ให้มีฐานทัพสหรัฐ 750 แห่งใน 80 ประเทศ ใช้เงินอย่างน้อย 80,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และมีทหารและเจ้าหน้าที่สหรัฐประจำการในต่างประเทศอย่างน้อย 230,000 คน โดยประมาณ 1 ใน 3 อยู่ในเอเชีย (ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นหลัก)

การที่สหรัฐเป็นแกนนำในการกำหนดระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกเจริญขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการขับเคลื่อนของกลไกตลาดเสรีและโลกาภิวัตน์

เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว สหรัฐสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐใหญ่มาก จีดีพีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจีดีพีโลกในปี 2503 และหากรวมกันภายใต้กลุ่ม G7 (สหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แคนาดา อังกฤษและอิตาลี) จีดีพีของกลุ่ม G7 จะเท่ากับ 2/3 ของจีดีพีโลกในครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้ว

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาความมั่นคงสถานะทางทหารและระเบียบโลกที่สหรัฐได้สร้างขึ้นมา  ตลอดจนส่งเสริมระบบการค้าเสรีและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในบางกรณีรัฐบาลสหรัฐจะยินยอมให้ผลประโยชน์เชิงแคบทางเศรษฐกิจของตน เป็นรองผลประโยชน์ของส่วนรวมในเชิงของความมั่นคงของโลก (global security) และระบบเศรษฐกิจเปิด (free and open global economy)

กล่าวคือ สหรัฐจะยอมผ่อนปรนให้กับประเทศคู่ค้าในด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าสหรัฐอาจจะรู้สึกว่าตัวเอง “เสียเปรียบ” บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อพยายาม “เอาใจ” และ “ชนะใจ” ประเทศที่สามารถ “เลือกข้าง” ได้ ระหว่างระบบทุนนิยม- ประชาธิปไตย กับระบบคอมมิวนิสต์ ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม รวมทั้งการเปิดตลาดให้กับสินค้าจีน จะเป็นแนวทางในการนำพาให้การเมืองของจีน พัฒนาไปในทางที่มีเสรีประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นมิตรกับสหรัฐ คล้ายกับที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

แต่ปรากฏว่า การเปิดตลาดโลกให้จีนโดยการนำพาให้จีนเข้ามาเป็นภาคีขององค์การการค้าโลก ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จนกระทั่งเศรษฐกิจจีนปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของจีดีพีสหรัฐ (และสูงกว่าจีดีพีสหรัฐ หากคำนวณกำลังซื้อเสมอภาค หรือ PPP) ที่สำคัญคือ จีนพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญๆ ของโลกรุดหน้าไปไกลกว่าสหรัฐ เช่น แผงโซลาร์เซลล์และรถไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมที่หลากหลายและแข็งแรงกว่าสหรัฐ 

จีนส่งออกสินค้าไปในตลาดโลกในปี 2566 เท่ากับ 3.38 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐส่งออกเพียง 3.05 ล้านล้านดอลลาร์ (การส่งออกเป็นตัวชี้วัดอำนาจและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ)

แนวคิดสหรัฐปัจจุบันจึงเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการเป็น “เจ้าภาพ” ในการดูแลระเบียบโลก และรับภาระการรักษาความมั่นคงของโลก โดยยอมให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสหรัฐเป็นเรื่องรอง มาเป็นแนวคิดที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้หาเสียงคือ America First และ Make America Great Again (MAGA)

การจี้ประเทศพันธมิตรให้ใช้จ่ายด้านความมั่นคงมากขึ้น การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวสหรัฐออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส การเตรียมจะถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก และการข่มขู่ตลอดมาว่า จะปรับขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้า ทั้งกับประเทศพันธมิตรและกับจีน เป็นการสะท้อนกระบวนทัศน์ใหม่ดังกล่าว

ผมมองว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ผิดพลาด และจะไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐหรือเศรษฐกิจโลกในระยะยาว แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกประเทศ จะต้องรับมือไปอย่างน้อยอีก 4 ปีครับ