“She Trades Outlook” ของWTO เป้าหมายที่5 ความเสมอภาคทางเพศ
องค์การการค้าโลก [World Trade Organization (WTO)] และองค์การสหประชาชาติ [United Nations (UN)) ได้เล็งเห็นว่า ผู้ประกอบการสตรียังไม่ได้รับโอกาสด้านการค้า จึงได้จัดทำโครงการสตรีและการค้า (ITC SheTrades Initiative) ในปี 2558
เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสตรีในการค้าขายระหว่างประเทศผ่านกิจกรรมและข้อริเริ่มต่าง ๆ โดยให้ความรู้ สร้างเครือข่าย และสนับสนุนด้านนโยบาย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ [Sustainable Development Goals (SDGS)] โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
ศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ [International Trade Center (ITC)] ในฐานะหน่วยงานของ WTO และ UN เมื่อ ปี 2563 ITC ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร จึงได้จัดทำข้อริเริ่มSheTrades Outlookเพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับผู้กำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการค้าของสตรีและเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมของสตรีในการค้าระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มดังกล่าวประมาณ 50 ประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ITC อยู่ระหว่างขยายจำนวนประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่ม SheTrades Outlook ดังนั้น เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ เข้าร่วมข้อริเริ่ม SheTrades Outlook ของประเทศไทย (ไทย)
สำหรับการเข้าร่วมข้อริเริ่มSheTrades Outlook มีสาระสำคัญเป็นการพัฒนาเครื่องมือนโยบายเชิงนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้จัดทำนโยบายให้สามารถประเมินติดตาม และพัฒนาระบบนิเวศในการทำงาน (ecosystem) ของการมีส่วนร่วมของสตรีในด้านการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการจัดทำนโยบายตามกลุ่มตัวชี้วัดด้านการค้าและความเท่าเทียมทางเพศ 6 ประเด็น ได้แก่ 1. นโยบายการค้า 2. กรอบกฎหมายและระเบียบ 3. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ 4. การเข้าถึงทักษะ 5. การเข้าถึงด้านการเงิน และ 6. การทำงานและสังคม
มอบหมายให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ โดย อก. และ สศช. มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ควรวางเป้าหมายในกลุ่มสตรีของเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบ
ในขณะเดียวกัน ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่5 (5thAMMW Meeting) (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ พม. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
โดยร่างถ้อยแถลงร่วมฯมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การเสริมพลังให้แก่สตรีและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการมุมมองที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะในการดำเนินการ ต่าง ๆเช่น ส่งเสริมการนำแนวทางที่สร้างสรรค์มาใช้ในการแก้ไขอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ การมีส่วนร่วมของสตรีในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การเลือกปฏิบัติต่อสตรีในสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์
สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานด้านเพศภาวะหรือหน่วยงานประสานงานเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรการด้านเพศภาวะอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมภาวะผู้นำและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสตรีในทุกภาคส่วนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
ความร่วมมือระดับองค์กรระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติเพื่อให้มั่นใจว่าเสียงและมุมมองของสตรีได้รับการรับฟังและสะท้อนในกระบวนการตัดสินใจได้เกิดขึ้นจริง