ปรับกฎหมาย “สร้างพื้นที่สร้างสรรค์” ส่งเสริมโรงหนังขนาดเล็ก

ปรับกฎหมาย “สร้างพื้นที่สร้างสรรค์” ส่งเสริมโรงหนังขนาดเล็ก

ประเด็นเรื่องโรงหนังขนาดเล็ก (micro cinema) หรือโรงหนังอิสระได้กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง หลังจากที่มีข่าวว่า Doc. Club & Pub ประกาศยุติการฉายหนัง เพราะข้อจำกัดเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 หรือ ใบอนุญาตโรงหนัง...ข่าวนี้กำลังบอกอะไรกับสังคมไทยบ้าง?

ในมุมของผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้กำลังบอกเราอยู่ 2 เรื่อง 1.การเลิกฉายหนังของ Doc. Club & Pub สะท้อนว่าสังคมกำลังสูญเสียโรงหนังขนาดเล็กที่มีเปิดอยู่เพียงไม่กี่แห่งในไทย การสูญเสียนี้มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการส่งเสริมวัฒนธรรมของไทย

ที่ผ่านมาโรงหนังขนาดเล็ก มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการแลกเปลี่ยนไอเดีย ความคิดทางศิลปะ และวัฒนธรรม โดยเป็นพื้นที่สำหรับแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการทดลองนำเสนองาน และเป็นเวทีให้นักเรียนนักศึกษาทดลองนำผลงานสร้างสรรค์มานำเสนอต่อสังคม

ในขณะเดียวกันพื้นที่ของโรงหนังขนาดเล็ก ยังเป็นพื้นที่สำหรับการฉายหนังนอกกระแสหรือหนังอินดี้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบอย่างดีในการเรียนรู้งานภาพยนตร์ แต่หนังในลักษณะนี้ ไม่ค่อยมีพื้นที่มากพอในโรงหนังขนาดใหญ่

2.การยุติฉายหนังนี้เกิดมาจากปัญหาการไม่มีใบอนุญาตฯ แม้ทางโรงหนังจะพยายามขอใบอนุญาตแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สำเร็จ เพราะในการขอใบอนุญาตโรงหนัง อาคารที่จะใช้เป็นโรงหนังจะต้องได้รับใบอนุญาตอีกใบหนึ่งที่เรียกว่า ใบอนุญาตในการเป็นอาคารมหรสพตามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งอาคารดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่โรงมหรสพต้องมี

หากพิจารณาเงื่อนไขของอาคารที่จะใช้เป็นโรงมหรสพแล้ว พบว่าการนำอาคารเก่ามาใช้ทำเป็นโรงหนังขนาดเล็กแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากตามกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ได้กำหนดเงื่อนไขอาคารที่จะนำมาใช้เป็นโรงหนัง จะต้องมีเงื่อนไขด้านความมั่นคงปลอดภัยที่สูง อาทิ ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ต้องมีระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ หรือต้องมีทางหนีไฟที่กันเปลวไฟและควันไม่ให้เข้าไปได้ รวมทั้งสามารถทนไฟได้นาน 2 ชั่วโมง

ความจำเป็นของการมีใบอนุญาตดังกล่าว มีขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร โดยเฉพาะการป้องกันอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี สังคมอาจตั้งคำถามได้ว่า เงื่อนไขดังกล่าวยังจำเป็นหรือไม่ในยุคสมัยนี้ เนื่องจากในอดีตมีเพียงโรงหนังขนาดใหญ่ที่เป็นอาคารสาธารณะรองรับคนจำนวนมาก เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการฉายหนัง แต่ยังไม่มีธุรกิจโรงหนังขนาดเล็กที่รองรับผู้เข้าชมจำนวนไม่มาก 

ดังนั้น ภาพของโรงหนังที่อยู่ในกฎหมายจึงเป็นภาพของโรงหนังขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ที่เป็นวัตถุไวไฟ การให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในปัจจุบันโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่เน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่ต้องการเสพหนังนอกกระแส หรือหนังอินดี้ต่าง ๆ มีให้เห็นมากขึ้น อีกทั้งปัจจุบันโรงหนังฉายจากไฟล์ดิจิทัลแทน ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้แบบเดิมน่าจะลดลง

ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้าสมัยของเงื่อนไขในกฎหมายไทย ที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม และเลือกใช้มาตรฐานแบบเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Doc. Club & Pub หรือโรงหนังขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเดียวกัน

โดยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย และส่งเสริมให้ตลาดภาพยนตร์มีผู้เล่นเพียงผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น ทั้งที่ในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจโรงหนังรายใหญ่ที่สุดของไทยเพียงรายเดียวได้ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมดแล้ว

ทั้งนี้ ในมุมของผู้เขียน ความจำเป็นของมาตรการป้องกันอัคคีภัย และความมั่นคงแข็งแรงของอาคารตามเจตนารมณ์ของกฎหมายยังเป็นเรื่องจำเป็นและต้องใส่ใจ แต่มาตรฐานที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน อาจไม่ได้จำเป็นสำหรับโรงหนังขนาดเล็กที่รองรับคนเพียง 50 ที่นั่งเท่านั้น

ดังนี้ ทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุดคือ การสร้างมาตรฐานที่เหมาะสมตามขนาด และความเสี่ยงของกิจกรรม ซึ่งประเด็นนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักในระบบกฎหมายไทย ทั้ง ๆ ที่การกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจควรระลึกเสมอว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ละขนาดส่งผลกระทบได้ไม่เท่ากัน

รัฐบาลควรสนับสนุนให้กรมโยธาธิการและผังเมืองแก้ไขหรือออกกฎกระทรวงฉบับใหม่สำหรับอาคารที่ใช้ทำโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก โดยอาจเน้นไปที่สภาพความมั่นคงแข็งแรงของอาคารตามแบบแปลนที่เสนอมาให้พิจารณา และกำหนดมาตรฐานป้องกันอัคคีภัยที่เหมาะสม อาทิ การจัดให้มีถังดับเพลิงที่สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าใช้อาคาร การมีเส้นทางและป้ายสัญญาณบอกทางหนีไฟ หรือการใช้มาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับอาคาร

การออกหรือแก้ไขกฎกระทรวงในครั้งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะจะทำให้เจตนาที่ดีในการคุ้มครองความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดเป็นผลร้ายที่กลายเป็นข้อจำกัด และการทำลายพื้นที่สร้างสรรค์ ตัวอย่างของบทเรียนหนึ่งที่ประเทศไทยอาจจะเรียนรู้ได้คือ กรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่โรงหนังขนาดเล็กในญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญต่อการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมวัฒนธรรม

ในญี่ปุ่นมีโรงหนังขนาดเล็กมากว่า 100 แห่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือโรงหนังในเครือธุรกิจขนาดใหญ่ โรงหนังแต่ละแห่งจะฉายหนังประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากโรงหนังขนาดใหญ่ โดยเน้นฉายหนังในเชิงศิลปะ และสารคดีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น โรงหนังเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการหล่อเลี้ยงความหลากหลายในวัฒนธรรมภาพยนตร์ของญี่ปุ่น

ดังนั้น ประเทศไทย ที่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลประกาศว่าจะมุ่งมั่นส่งออกวัฒนธรรม และเปลี่ยนประเทศไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรม สื่อสร้างสรรค์ และภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวไม่ต้องใช้งบประมาณแต่อย่างใด และถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การเดินไปสู่สิ่งที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาสำเร็จได้