เศรษฐกิจโลกป่วน ‘ไทย’อย่าประมาท

เศรษฐกิจโลกป่วน ‘ไทย’อย่าประมาท

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน กำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางหลักทั่วโลก

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ตลาดการเงินยังคงผันผวน กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก รัฐบาลแต่ละประเทศเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหายุทธศาสตร์รับมือ ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับประเทศตัวเอง

สิ่งสำคัญ คือ รัฐบาลต้องหันมาสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจผ่านการกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออก ไม่ควรพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป ขณะเดียวกันต้องเร่งพัฒนาตลาดภายในประเทศให้เข้มแข็ง ผ่านการกระตุ้นการ บริโภคและลงทุนภายในประเทศ ลดพึ่งพาส่งออก รักษาเสถียรภาพการคลัง บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างระมัดระวัง แม้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรเคร่งครัดวินัยทางการคลังในระยะยาวด้วย การใช้จ่ายภาครัฐต้องมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

อีกเรื่องที่ลืมไม่ได้ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” ได้แล้ว โลกกำลังถูกคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่วันนี้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งจากมนุษย์ต่อไป นั่นแปลว่า AI กำลังฉลาดเหนือมนุษย์ ดังนั้น เราต้องยกระดับทักษะมนุษย์ให้เหนือกว่า AI ให้ได้ ยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องความต้องการตลาด พัฒนาระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ในระยะยาว หลักสูตรการเรียนการสอนที่เรียนกันวันนี้ต้องเปลี่ยนได้แล้ว ต้องยืดหยุ่นรับกับสถานการณ์โลก ช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงานและความสามารถในการแข่งขันประเทศ

ยังไม่นับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลต้องอย่าประมาท การแสวงหาพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ต้องทำ รวมถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมีนัยสำคัญ เห็นตัวอย่างแล้วจากไฟป่าที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐ ที่วันนี้ยังไม่สามารถดับลงได้

เรื่องเหล่านี้ต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้า การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศไทย สำคัญที่สุด คือ การสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การสื่อสารของภาครัฐในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่สื่อสารออกไปจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน