ไม่ควรให้ความสำคัญกับ ‘การเงิน’ เท่านั้น
องค์กรและบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “การบริหารการเงิน” เป็นหลัก (มากกว่าเรื่องอื่นๆ) ทั้งๆ ที่ความอยู่รอดขององค์กรไม่ได้ขึ้นกับ “การเงิน” เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับ “การบริหารการตลาด” “การบริหารการผลิต” “การบริหารทรัพยากรมนุษย์” และอื่นๆ อีกมากมาย
เรื่องนี้สังเกตได้จากระเบียบวาระในการประชุมของ “คณะกรรมการบริษัท” (Board of Directors) ของแทบทุกบริษัท (โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) มักจะเน้นเรื่องของ “การบริหารการเงิน” โดยเฉพาะเรื่องของกระแสเงินสดและกำไรขาดทุนมากกว่าเรื่องอื่นๆ โดยมี “ผู้ตรวจประเมินภายใน” (Internal Auditor) ให้ความเห็นก่อนแล้ว และใช้เวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นสัดส่วนที่นานมากกว่าเรื่องอื่นๆ
ในทัศนะของผมแล้ว ผมว่าไม่ผิดครับ แต่ “คณะกรรมการ” ก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดในกระบวนการผลิต เช่น ของเสียมาก ต้นทุนสูง ส่งของไม่ทันเวลา เป็นต้น
ว่าไปแล้ว “โรงงาน” คือ ภาคการผลิตที่การประกอบกิจการ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ของประเทศ (GDP) และคุณภาพชีวิตของเราทุกคน นักวิชาการหลายท่านจึงเรียก “ภาคการผลิต” ว่า “Real Sector”
การมองข้าม “ปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ใช่การเงิน” โดย “การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานแบบองค์รวม” ที่จำเป็นต่อการเสริมสร้าง (เพิ่ม) ขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมาก อันได้แก่ (1) การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (2) การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ และ (3) การพัฒนาคุณภาพและทักษะของแรงงาน ปัจจัยทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตสินค้าที่สามารถยืนหยัดในตลาดได้ เพื่อนำไปขายหรือส่งออกที่เป็นการสร้างรายได้ อันมีผลต่อ GDP ของประเทศ
ทุกวันนี้ ธุรกิจอุตสาหกรรมทุกประเภท ต่างก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งภายในและต่างประเทศ การที่กิจการจะยังคงยืนหยัดอยู่ได้ และสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ บริษัทจะต้องมีการวางรากฐานทาง “กลยุทธ์” เพื่อต่อสู้แข่งขันที่พร้อมสำหรับการบริหารงานในยุคดิจิทัล และ AI ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนและเปราะบางมาก
แต่เดิมนั้น “เทคโนโลยี” ถือเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลัง “การปฏิบัติทางอุตสาหกรรม” ในครั้งแรก แต่ในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงของการปฏิวัติ “อุตสาหกรรม 4.0” แล้ว ในครั้งนี้เทคโนโลยีจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเท่านั้น สิ่งที่เป็นแรงผลักดันเพิ่มมากขึ้น ก็คือ “นวัตกรรม” และ “การตลาด”
ตลาดและผู้ซื้อในปัจจุบัน มีความต้องการและความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาทั้งในด้านของ ต้นทุน (Cost) คุณภาพ (Quality) และการให้บริการ (Service) ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือลูกค้าได้ทันการณ์
ดังนั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมที่สามารถปรับตัวได้เร็วและสามารถก้าวเข้าข้าม “ความท้าทาย” ต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศเท่านั้น จึงจะอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงยั่งยืนในศตวรรษหน้าได้
ทุกวันนี้ เกือบทุกองค์กรธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรม ต่างคิดว่ากิจการของตนมีลักษณะ วิธีการปฏิบัติงาน และปัญหาที่เป็น “เอกลักษณ์” หรือมีเพียง “หนึ่งเดียว” ที่ไม่เหมือนใครอื่น แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าองค์กรจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทใด
กิจการส่วนใหญ่จะมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ “ความท้าทาย” ที่ต้องเผชิญและต้องเอาชนะให้ได้ด้วยการใช้วิธีการหรือเทคนิคที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และมีมาตรฐานหรือระเบียบวิธีในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งบ่อยครั้งต้องอาศัย “สามัญสำนึก” ของผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย
การก้าวข้าม “ความท้าทาย” ที่ว่านี้ ก็คือ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยพื้นฐานด้านต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องของ ต้นทุน (Cost) คุณภาพ (Quality) การบริการ (Service) และความรวดเร็ว (Speed) ของ “โรงงาน” หรือ ผู้ผลิต ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการทำงานเป็นทีมของผู้บริหารและพนักงานทุกคน ในลักษณะ “ร่วมด้วยช่วยกัน” เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมรวมเข้าไปด้วย
1.ต้นทุนการผลิต - ทำให้เราสามารถตั้งราคาขายที่แข่งขันในตลาดได้
2.คุณภาพ - ทำให้ลูกค้าประทับใจและเป็น “ผู้ซื้อซ้ำ” (ขาประจำ)
3.การบริการ - ทำให้ลูกค้าประทับใจ จะได้กลับมาใช้บริการเราอีก
4.ความรวดเร็ว - ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
การให้ความสำคัญกับการบริหารด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น (แทนที่จะเอาแต่การบริหารการเงินเป็นหลัก) จะทำให้เกิด “การบริหารแบบองค์รวม” ที่ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาด้านต่างๆ ได้พร้อมๆ กันด้วย ครับผม !