เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วย Gentrification

เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วย Gentrification

หนึ่งในประเด็นทางสังคมที่เป็นที่กล่าวถึงในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา คือประเด็นว่าด้วย Gentrification หรือที่ราชบัณฑิตให้นิยามว่า “การแปลงเปลี่ยนชนชั้น” ซึ่งในทางพฤตินัยถูกนำมาใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเก่าที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงซึมลึกลงไปถึงมิติเชิงสังคม เริ่มตั้งแต่ย่านเมืองเก่ารัตนโกสินทร์ เวิ้งนาครเกษม ชุมชนตลาดน้อย แม้กระทั่งพื้นที่หลัง “บ้านสามย่าน” เองอย่างย่านบรรทัดทองก็พบกับการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

สิ่งที่เรียกว่า Gentrification โผล่ขึ้นมาบนบรรณพิภพครั้งแรก ในงานศึกษาความเปลี่ยนแปลงของมหานครลอนดอนในช่วงหลังสงครามโลกโดย นักสังคมวิทยา Ruth Glass ในปี 2507 โดยนิยามว่าเป็น “การไหลบ่าของ ‘ผู้ดี’ (Gentry) สู่ชุมชนของผู้มีรายได้น้อยในเขตใจกลางเมือง” ความหมายดังกล่าวใกล้เคียงกับการแปลเป็นไทยโดยอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเป็น “การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี”

แม้ว่าโลกวิชาการปัจจุบันได้ขยายความ Gentrification ครอบคลุมไปถึง “เป้าหมาย กระบวนการ และผลสืบเนื่องของการ “ฟื้นฟู” (revitalization) ชุมชนเมืองที่เสื่อมสภาพ” อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของ Gentrification ยังคงเป็นความขัดแย้งระหว่าง “ผู้ดี” กับพวกที่ไม่ใช่ “ผู้ดี” โดยที่ “จุดปะทะ” มีศูนย์กลางอยู่ที่ชุมชนเก่าใจกลางเมือง

ที่กล่าวมาข้างต้นต่างเข้าล็อกกับนิยามของ “ความขัดแย้งทางชนชั้น” ในประเด็นว่าด้วยการครอบครองและสะสมทุน รากฐานสำคัญที่นำมาสู่ความขัดแย้งฯ ข้างต้นคือกระบวนการ “แปลงชุมชนให้เป็นทุน” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องการกระบวนการ “ธนาภิวัฒน์” (Financialization) ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่ทำให้ที่ดินรวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างให้กลายเป็น “สินทรัพย์ทางการเงิน” รูปแบบหนึ่ง

สินทรัพย์เหล่านี้สามารถนำไปใช้แสวงหากำไร (rent-seeking) ในรูปแบบของ “ค่าเช่า” ที่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งการได้มาซึ่งค่าเช่าในระดับอุดมคติเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อนำสินทรัพย์เหล่านี้ไปใช้ให้ “ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด” (highest and best use)

กระบวนการแปลงชุมชนให้เป็นทุนประสานไปกับวัฏจักรของการพัฒนาที่ดิน โดยในระยะเริ่มแรก ค่าเช่าที่แท้จริงและค่าเช่าที่เป็นไปได้นั้นต่างเริ่มต้นในระดับที่เท่ากัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้อจำกัดของสิ่งปลูกสร้าง (เช่น ทำเล และความเสื่อมสภาพของอาคาร) จะกดอัตราค่าเช่าที่แท้จริงไว้ ในขณะที่อัตราค่าเช่าที่เป็นไปได้เริ่มขยับตัวสูงขึ้น 

ค่าเช่าที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบจะดึงดูดกลุ่มที่มีรายได้น้อยเข้ามาเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน จนกระทั่งเมื่อส่วนต่างระหว่างค่าเช่าที่แท้จริงกับค่าเช่าที่เป็นไปได้ถ่างตัวสูงขึ้นจนถึง “จุดคุ้มทุน” กระบวนการ Gentrification จึงเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเป้าประสงค์ในการดึงดูดการลงทุนและปรับโฉมเพื่อได้มาซึ่งค่าเช่าสูงสุดอย่างที่เจ้าของพื้นที่ต้องการ

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการ Gentrification จึงนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าของที่ดินผู้ต้องการค่าเช่าในระดับอุดมคติ กับผู้ใช้ที่ดินที่ค่าเช่าในระดับที่ว่านั้นช่างห่างไกลจากอุดมคติเสียคณานับ

ในที่นี้ เราจึงมักไม่กล่าวถึง Gentrification เมื่อทั้งสองฝ่ายเป็นตัวแสดงเดียวกัน เช่น การที่ “ผู้ดี” กรุงเทพฯ โดนบีบบังคับให้พวกเขาต้องขายที่ดินสมบัติของตระกูลไป หลังจากที่กายภาพของ “เมือง” เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นเมื่อสี่สิบห้าสิบปีที่แล้ว แม้ว่ามุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นการเบียดขับของทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีต่อเศรษฐีเก่า ที่นับวันเริ่มที่จะรวยน้อยลงโดยเปรียบเทียบก็ตาม

กระบวนการ Gentrification มักจะถูกกล่าวถึงในกรณีที่เจ้าของที่ดินและผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน และส่วนมากทั้งสองฝ่ายต่างมาจากคนละ “ชนชั้น” ทางสังคมเศรษฐกิจ ความขัดแย้งที่เป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนการ Gentrification ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างคนจนเมือง ผู้ใช้พื้นที่เมืองเก่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน กับเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ ผู้ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาและค่าเช่าที่ดินที่สูงขึ้นหากนำ “สินทรัพย์” ที่มีอยู่ไป “พัฒนา” เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

ในทางหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือตัวเร่งให้ Gentrification รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อผลตอบแทนจากที่ดินทวีค่าสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม คนจนเมืองต่างเริ่มที่จะจนลงมากกว่าเดิม จนรายได้ไม่สามารถไล่ตามค่าเช่าได้ทัน ทั้งยังแขวนอยู่บนความไม่มั่นคงที่สัญญาเช่าอาจถูกบอกเลิกได้ทุกเมื่อ

ดูเหมือนว่ากลไกตลาดจะเป็นกลจักรหลักในการบีบบังคับให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของการใช้ประโยชน์ที่ดิน อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญที่เข้ามามีส่วนกับกระบวนการ Gentrification ก็คือภาครัฐ ที่ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเพื่อ คืนสภาพเมือง” (urban redevelopment) ที่มีอยู่เดิม หรือความต้องการในการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป 

สืบเนื่องจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน หรือสถานศึกษาขนาดใหญ่ อันนำมาสู่การไหลบ่าของตัวแสดงทางเศรษฐกิจๆ ใหม่ ที่มีอำนาจในการ “จ่าย” มากกว่าผู้ใช้ประโยชน์เดิม ต่างเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากนโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุล ของรัฐ

ในทางหนึ่ง รัฐสามารถกระทำการเลือก “ผู้ชนะ” (pick the winners) ที่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ผ่านการเลือกใช้นโยบาย ในอีกทางหนึ่ง รัฐก็เป็นตัวแสดงที่สำคัญในการ “เกลี่ย” ให้ดอกผลของการ “พัฒนา” กระจายสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง บทบาทดังกล่าวทำให้ความซับซ้อนของกระบวนการ Gentrification มีมิติของอำนาจรัฐซ้อนทับไปกับมิติของกลไกตลาดอีกทางหนึ่ง

ย้อนกลับมาที่กระบวนการ Gentrification ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่มักเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าของที่ดินรายใหญ่ กับผู้เช่าเดิมที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินมาอย่างยาวนาน และส่วนใหญ่ยุติลงด้วยการแทนที่ ขับไล่ รื้อถอน และเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจนไม่เหลือเค้าเดิม จนเป็นประเด็นที่ว่า “ทุน” และ “ชุมชน” ดั้งเดิม กลายเป็นเส้นขนานที่ไม่สามารถบรรจบกันได้อีกต่อไป

สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องยอมรับก็คือ ตราบใดที่ความเป็น “เมือง” ถูกตีกรอบด้วยปัจจัยทางกายภาพบางประการ กระบวนการ Gentrification จึงยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น ข้อถกเถียงสำคัญที่ควรขบคิดกันต่อ คือการหา “สมดุล” ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกของ “เมือง” ยังคงมี “สิทธิ” ในการเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และเป็นผู้รับ “ดอกผล” จากการ “พัฒนา” เมืองต่อไป