"นิธิ เอียวศรีวงศ์" มุมมองของนักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองคนหนึ่ง

"นิธิ เอียวศรีวงศ์" มุมมองของนักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองคนหนึ่ง

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่เคยรู้จักกับท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นการส่วนตัว หากแต่ในฐานะนักเรียนสังคมศาสตร์ที่สนใจการบ้านการเมือง ก็ได้ติดตามอ่านงานเขียนของอาจารย์เป็นระยะๆ ทั้งในคอลัมน์หนังสือพิมพ์หรือในงานเขียนเชิงวิชาการ

ดวงสุริยาลาลับ ไปกับขอบฟ้า

ท้องนภายามราตรีรายรอบด้วยแสงจันทร์ และหมู่ดาว

ชาวไทยพึงตระหนักถึงศักดิ์ศรี ที่ถูกกดขี่

หนึ่งปณิธานได้ดับมอด สืบทอดต่อมาอีก นับล้านดวง

.....................

ในยุคสมัยที่อับจนซึ่งหนทาง มองไปใดก็มีแต่ความมืดบอดทางปัญญา ในยามที่วัดและโบสถ์ไม่เคยให้แรงบันดาลใจในทางศีลธรรมกับผู้คน การอ่านงานเขียนของอาจารย์ในหมู่คนรุ่นผมได้เป็นเหมือนคบไฟให้กับเด็กหัวขบถที่พร้อมจะปะทะ เป็นดังอาวุธทางปัญญาที่มีไว้ต่อสู้กับเผด็จการ

หากทหารมีปืนและรถถังไว้กักขังเสรีภาพของประชาชน ปัญญาชนและรากหญ้าสามัญอย่างพวกเรามีเพียงหนังสือและด้ามปากกาไว้คานงัดกับอำนาจที่คอยปิดปากของพวกเราเอาไว้ 

ผมรู้จักท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ครั้งแรกสมัยช่วงกำลังเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์พลุ่งพล่านและจิตใจที่โหยหาความยุติธรรม พอทราบมาว่าอาจารย์เป็นรุ่นพี่โรงเรียนมัธยม ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจในทันที 

 

เนื่องด้วยความที่โรงเรียนของผมนั้นเป็นโรงเรียนประจำชายล้วนที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย ให้ความสำคัญกับกีฬา แต่ว่าไม่ค่อยสนใจในด้านการศึกษาเท่าใดนัก นักเรียนจำนวนมากเป็นหางกะทิ มีเป็นจำนวนน้อยมากๆ ที่จะไปเป็นขุนนางวิชาการหรือศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย

พอทราบมาว่าอาจารย์เป็นรุ่นพี่ ทำให้สมัยนั้นที่ยังเป็นนักเรียนที่มีพฤติกรรมเกเร เริ่มค่อยๆ หางานทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์มาอ่าน และตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในสายสังคมศาสตร์

การอ่านข้อเขียนของอาจารย์นิธิเรียกได้ว่าเป็นการ “เบิกเนตร” ของคนรุ่นที่ยังไม่มีการตื่นรู้ในกระแสการเมือง ผมตื่นตาตื่นใจมากเมื่อพบว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่แบบเดียว คือแบบที่กระทรวงการศึกษามุ่งย้ำให้นักเรียนท่องกันเป็นตำราบทอาขยาน ไล่มาตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ 

ในทางตรงกันข้าม งานประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย และไม่มีทีท่าว่าจะยุติการศึกษากันง่ายๆ หัวข้อเก่าๆเมื่อเวลาผ่านพ้นไปหากหลักฐานใหม่ได้ปรากฏ ข้อค้นพบใหม่ๆ ย่อมส่งผลให้ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตเปลี่ยนแปลงไป

อาจารย์นิธิทำให้ผมตระหนักได้ว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เส้นตรงเชื่อม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต หากแต่อัดแน่นไปด้วยความไม่ต่อเนื่องและพลวัตมากมาย 

หน้าที่ของนักศึกษาประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่การชำระประวัติศาสตร์ในมุมของรัฐประชาชาติ หากแต่เป็นการรื้อฟื้นข้อค้นพบที่เราคิดตกแล้วมาปัดฝุ่นแล้วหาอธิบายใหม่ๆ ในขณะเดียวกันต้องเพียรพยายามหาสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ โดยอิงอยู่กับบริบทเวลา

ผมกลับมาเจออาจารย์อีกครั้งเมื่อเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในช่วงการค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ด้วยความที่เป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ คำอธิบายเศรษฐกิจไทยในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริงอยู่ในกรอบใหญ่ 2 กรอบ คือ

แนวทางนีโอคลาสสิก ที่มองว่าช่วงจังหวะแห่งสนธิสัญญาเป็นแรงผลักดันจากภายนอก (exogenous force) ที่ช่วยทำให้เกิดการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่ม เพราะเมื่อเกิดการค้าขายมากขึ้น ย่อมต้องขยายระบบแบ่งงานกันทำและแรงงานมีผลิตภาพเพิ่ม ธุรกิจมีการลงทุนและการออมมากขึ้น

\"นิธิ เอียวศรีวงศ์\" มุมมองของนักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองคนหนึ่ง

 ส่วนอีกคำอธิบาย คือ แนวทางสำนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ซึ่งมองผ่านแนวคิดการขูดรีดทางชนชั้นในกรอบคิดแบบมาร์กซิสต์ กล่าวคือหลังจากการลงสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้วเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนวิธีการขูดรีดจากระบบทาส-นายทาส ไปสู่นายทุน-แรงงาน

หากแต่ทุนนิยมในไทยนั้นยังไม่ได้เข้าสู่วิถีของทุนแบบเต็มตัว เพราะเป็นทุนนิยมแบบนายหน้าที่พ่อค้าชาวจีนในฐานะคนนอกต้องพึ่งอำนาจรัฐในการทำการค้า อันเป็นปัญหาของความล่าช้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะถัดมา

แต่งานของอาจารย์นิธิใน “ปากไก่และใบเรือ” ได้ฉีกมุมมองที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ท่านได้ใช้วรรณกรรมในยุคนั้นเป็นตัว “อ่าน” ความเป็นไปของสังคม โดยการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงหาได้เป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ชี้เป็นชี้ตายถึงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสยามไม่

เพราะตั้งแต่ก่อนช่วงเวลาสนธิสัญญา สังคมไทยค่อยๆ มีพลวัตของการค้าของชนชั้นกระฎุมพีน้อยที่เป็นชาวจีนเกิดขึ้นอย่างช้าๆ การค้าในยุคนั้นเป็นการค้าที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาของระบบศักดินา ซึ่งต้องจ่ายส่วยให้ชนชั้นปกครองเพื่อให้การคุ้มครองทางการค้า 

ขณะที่กลไกทางภาครัฐเองก็ได้ปรับตัวเพื่อรองรับการปฏิรูปเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งในยุคนี้เองที่ความสำคัญของการเมืองในความหมายใหม่ในฐานะศูนย์ทางการค้าได้เริ่มต้นขึ้น จากเดิมที่เป็นแค่ศูนย์รวมทางอำนาจในระบบแบบเก่า

เนื่องจากชนชั้นกระฎุมพีจำเป็นต้องพึ่งพาศักดินาในการทำการค้า เมืองจึงได้ขยับบทบาทจากศูนย์ไปสู่ศูนย์กลางการค้า การค้าขายภายในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ก่อให้เกิดชุดวิธีคิดแบบใหม่ๆ ซึ่งสะท้อนผ่านวรรณกรรมของชนชั้นกลางในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดทางสัจนิยม (Realism) 

ในโลกวรรณกรรมที่มีลักษณะมนุษยนิยม เริ่มให้น้ำหนักกับโลกที่เป็นจริง ซึ่งไม่เหมือนกับก่อนหน้าที่เน้นโลกทางศาสนาและไสยเวท นับได้ว่าข้อเสนอของอาจารย์นิธิล้ำหน้าและแตกต่างในทางญาณวิทยา 

กล่าวคือแทนที่จะเน้นการศึกษาข้อมูลทางสถิติแบบสำนักนีโอคลาสสิก หรือใช้เอกสารราชการและข้อมูลจากหอจดหมายเหตุอย่างสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ท่านอาจารย์ได้ค้นพบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ จากการตีความวรรณกรรมในยุคนั้น

“โชเป็นฮาวเวอร์” กล่าวว่า มนุษย์นั้นดำรงอยู่ผ่านการสืบสันดานในตัวลูกหลานของเรา แต่ผมคิดว่าไม่จริงเสมอไป สรรพสัตว์ดำรงตนผ่านลูกหลาน แต่มนุษย์เราสามารถดำรงอยู่ผ่านความทรงจำของผู้คน 

อาจารย์ได้จารึกรอยประทับของความทรงจำไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย คงไม่มีการระลึกถึงคนที่จากไปได้ดีกว่าการจดจำเขาในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ และในฐานะนักคิด การระลึกถึงคุณูปการของนักคิดที่มีต่อสังคมคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการหยิบงานชิ้นสำคัญของเขาขึ้นมาอ่านใหม่ 

ในฐานะผู้สืบทอดเจตจำนงของยุคสมัย คงไม่มีอะไรน่าภูมิใจไปมากกว่าการเขียนงานใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อท้าทายแนวคิดแบบเก่าๆ ที่สืบต่อกันมาโดยไม่ได้ตั้งถาม และผมยังเชื่อเสมอว่าถ้ามีใครสักคนทำแบบนั้นสืบต่อไป อาจารย์ที่อยู่บนฟ้าคงได้ยิ้มแป้นแบบเจ๊กๆ (ปนลาว) เป็นแน่แท้.