กฎหมายจำกัด การสูบบุหรี่

ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ในการรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ได้ดีพอสมควร แม้ปัจจุบันจะพบเห็นคนไทยสูบอยู่บ้าง
แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีจำนวนลดน้อยลงจากอดีตมาก ซึ่งช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพคนไทยโดยรวมได้บ้าง
อย่างไรก็ดี ยังคงมีชาวต่างชาติที่มาเที่ยวในประเทศไทยที่สูบบุหรี่กันจำนวนไม่น้อย และบ้างก็สูบในที่ห้ามสูบตามกฎหมายไทย
ทำให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า การบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษปรับแก่ผู้สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบยังคงไม่มีประสิทธิภาพ จึงได้แต่หวังว่า จะมีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ให้จริงจังยิ่งขึ้น
สหราชอาณาจักร เป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหากับจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศ จึงมีความพยายามที่จะลดปัญหาลง โดยในปัจจุบัน ได้มีความผลักดันกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งที่เป็นบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า
โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ จะห้ามไม่ให้ขาย จัดหา หรือครอบครองเพื่อขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use vapes หรือ disposable vapes) ไม่ว่าจะมีสารนิโคตินหรือไม่ก็ตาม
ด้วยมองว่าบุหรี่แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนี้ เป็นอันตรายอย่างมากต่อระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้น หมายความรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าแบบที่ชาร์จได้แต่ไม่สามารถเติมได้ หรือสามารถเติมได้แต่ไม่สามารถชาร์จได้ หรือไม่สามารถเปลี่ยนคอยล์หรืออุปกรณ์บรรจุน้ำยาได้
นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะไม่ให้มีผู้สูบบุหรี่อีกเลยคือ การไม่อนุญาตให้เยาวชนซื้อบุหรี่
โดยในร่างกฎหมายบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2570 เป็นต้นไปนั้น จะค่อยๆ จำกัดการขายบุหรี่ในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงกำหนดห้ามไม่ให้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ แก่คนที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2552 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จะห้ามไม่ให้มีการโฆษณาหรือเป็นผู้สนับสนุนใดๆ สำหรับบุหรี่ทุกประเภท รวมถึงการพยายามอุดช่องโหว่ต่าง ๆ และการขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงการแจกฟรี และการห้ามขายจากตู้ขายอัตโนมัติด้วย
ทั้งยังให้อำนาจรัฐมนตรีในการกำหนดรส หีบห่อ รวมถึงการจัดวางบุหรี่ทั้งหลายด้วย อีกทั้งยังจะขยายขอบเขตการห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคาร
โดยจะให้ครอบคลุมไปถึงการสูบบุหรี่นอกอาคารในบางพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น สนามเด็กเล่น โรงพยาบาล และโรงเรียน ด้วยจุดประสงค์หลักคือเพื่อป้องกันไม่ให้บุหรี่เข้าถึงเด็ก ๆ ได้
นอกเหนือจากสหราชอาณาจักรแล้ว ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ต่างก็มีความเคลื่อนไหวในการที่จะออกกฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
โดย ธ.ค.ที่ผ่านมา 16 ประเทศใน EUได้ร่วมกันขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission- EC) เสนอกฎหมายใหม่โดยการเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้าในรายการที่ต้องเก็บภาษียาสูบด้วย
เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายของ EU ยังไม่สามารถครอบคลุมไปถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ ทำให้แต่ละประเทศออกกฎหมายรวมถึงการกำหนดในเรื่องภาษีแตกต่างกันไป
อาทิ ออสเตรียและฝรั่งเศสไม่มีการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการเฉพาะ มีเพียงแค่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 20% เยอรมนีเก็บ 0.2 ยูโรต่อมิลลิลิตรและจะเพิ่มเป็น 0.32 ยูโรต่อมิลลิลิตรในปี 2569
และสวีเดนเก็บ ประมาณ 184 ยูโรต่อลิตรในกรณีที่มีปริมาณนิโคตินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 15 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 367 ยูโรต่อลิตรในกรณีที่มีปริมาณนิโคติน 15 -120 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ความแตกต่างดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นตลาดเดียวของ EU และเหล่าประเทศที่สนับสนุนเรื่องนี้มองว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรรีบดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายให้เสร็จ
ปัจจุบัน EC ได้กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าไว้ระดับหนึ่งแล้ว เช่น การจำกัดจำนวนนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า และผู้ผลิตจะต้องจดทะเบียนกับรัฐบาลก่อนที่จะดำเนินการขายได้
แต่รายละเอียดอื่นๆ นั้นยังคงแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น เกณฑ์อายุ หรือ สถานที่ที่สามารถสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้
หรือ บางประเทศก็ห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวโดยเด็ดขาด แต่บางประเทศอนุญาตให้ใช้ได้ ซึ่งก็มีประเทศที่สนับสนุนให้ EU ห้ามการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งให้ทั่วทั้งยุโรป เพราะเป็นปัญหาทั้งในด้านสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น ด้วยตระหนักถึงภัยของบุหรี่ไฟฟ้า จึงมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ หากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
นอกจากนี้ ผู้ใดขายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาเติม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งยังกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า
กรณีผู้ใดครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร จะมีความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด
ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เรายังพบเห็นข่าวการขายและสูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน
จึงควรมีมาตรการเพิ่มขึ้นในการให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงให้รู้จักโทษในทางกฎหมาย ทั้งยังต้องมีการกวดขัน เอาจริงเอาจังกับการผลิตและลักลอบนำเข้า หรือขายต่อไป และอาจพิจารณาปรับเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น.