“สมคิด” แคนดิเดต “นายกฯ” ดับฝัน “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง”?

“สมคิด” แคนดิเดต “นายกฯ” ดับฝัน “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง”?

จับประเด็นร้อน “สมคิด” แคนดิเดต “นายกฯ” ดับฝัน “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง”?

เอาล่ะสิ จากทางเลือกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่หลายคนกลัวว่า จะมีคู่ชิงแค่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่ “ยอดคุณพ่อ” ทักษิณ ชินวัตร ส่งเข้าประกวด กับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ก็ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ไม่ยอมให้ลงจากหลังเสือ แต่พอพรรคสร้างอนาคตไทย ประกาศหนุน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นเต็ง 1 ในบัญชีรายชื่อ “นายกฯ” อีกคน ทางเลือกของคนไทยก็เปิดกว้างทันที

ความจริง ชื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือ “เฮียกวง” ของคนใกล้ชิด วนเวียน “เข้า-ออก” ในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย และอยู่ในตำแหน่งสำคัญด้วย จนคนไทยคุ้นชื่อเป็นอย่างดี แม้แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรก ก็ยังเป็นตัวเลือกให้มาช่วยกุมบังเหียนด้านเศรษฐกิจ

แต่สิ่งที่ทุกคนน่าจะจำได้ดีที่สุด ก็คือ เขาเคยเป็น “กุนซือ” ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฐานะที่เชี่ยวชาญเศรษฐกิจฐานราก หรือ “รากหญ้า” ที่เรียกกันสมัยนั้น ให้กับ “อดีตนายกฯแม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร สมัยก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมาก่อน ทั้งยังเป็นคนที่ปลุกกระแสนิยม “ทักษิณ” จากนโยบาย “ประชานิยม” หลายอย่าง จนชนะเลือกตั้งแบบ ถล่มทลาย

เรื่องนี้แม้ว่า พรรคเพื่อไทย รวมถึง “ทักษิณ” จะออกมาเย้ยหยัน ทำนองว่า นโยบายสมัยไทยรักไทย กับปัจจุบันมันใช้ไม่ได้แล้ว ก็ตาม แต่ที่ต้องไม่ลืมก็คือ เขาได้แสดงฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์ต่อ เพื่อนร่วมพรรค ส.ส.ของพรรค รวมถึงทุกคนที่ได้ร่วมงานกับเขา ก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาคือ คนเก่ง คนดี คนที่มีความสามารถอย่างแท้จริง

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ เขาคือผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย 1ใน 23 คน ร่วมกับ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2541

และด้วยความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับความเก่งด้าน “การตลาด” ทำให้การคิดค้นนโยบายแปลกใหม่ของพรรคไทยรักไทย สร้างจุดขายให้กับ “คนรากหญ้า” ได้เป็นอย่างดี จนทำให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนถึง 11 ล้านเสียง และกวาดที่นั่งส.ส.เข้าสภาถึง 248 คน

ไม่เพียงเท่านั้น ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2548 พรรคไทยรักไทย คว้าที่นั่งในสภาฯถึง 377 ที่นั่ง(จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง) คิดเป็นร้อยละ 60.48 ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เพียง 96 ที่นั่ง

จริงอยู่, ชัยชนะครั้งนี้อาจเนื่องมาจากหลายปัจจัย ที่ไม่แต่เฉพาะนโยบายประชานิยม ที่ส่วนใหญ่ออกแบบโดย ดร.สมคิด ออกดอกออกผลก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการดำเนินตามนโยบายอย่างได้ผล

 

ขณะนั้น แม้ว่า “ทักษิณ” จะเป็นที่รักของ “คนรากหญ้า” อย่างชนิดที่หลายคนยังจดจำมาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางบางส่วน จนมีการพูดกันเล่นๆว่า ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ถ้ามีรูป “ทักษิณ” แปะติดการันตี “เสาไฟฟ้า” ก็ชนะ ซึ่งอาจดูเกินจริงไปหน่อย แต่ก็เปรียบเทียบได้ดี 

ยิ่งกว่านั้น ความนิยม “ทักษิณ” และ “พรรคไทยรักไทย” ยังสร้างปรากฏการณ์พรรค “คัดเลือกคนลงสมัคร” ไม่ใช่ผู้สมัครเลือกพรรคเหมือนแต่ก่อน จนพบว่า มี “ส.ส.นกแล” หรือ ผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ใช่ “เกรด เอ บี” ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เข้าสภาเป็นจำนวนมากด้วย

ด้วยผลงานด้านนโยบาย และการตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ในยุค “ไทยรักไทย” นี่เอง

ทำให้ไม่เพียง “ทักษิณ” เท่านั้น ที่ถูกพูดถึง หรือ ให้เครดิต หากแต่ “ขุนพลเศรษฐกิจ” ตัวจริงเสียงจริง อย่าง ดร.สมคิด ก็พลอยโดดเด่นตามไปด้วย ยิ่งในเวทีการเมือง ไม่ว่าระดับประเทศ หรือระดับโลก ภาพที่ดูเหมือนทับซ้อนกันระหว่าง “ทักษิณ” กับ ดร.สมคิด จึงมักเกิดขึ้นเสมอในช่วงหลัง จนแทบพูดได้ว่า เป็น “นายกฯเงา” ได้เลย

ทั้งยังมีคำพูดจากคนวงใน ว่า ครั้งหนึ่ง “ทักษิณ” เคยออกปากถาม “สมคิด” ว่า “วัดรอยเท้าผมหรือ”

นัยว่า นับแต่นั้น “ทักษิณ” ก็เริ่มระแวง ดร.สมคิด จะขึ้นมาทาบรัศมี?

แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า สำหรับ ดร.สมคิด “ทักษิณ” กลัวเกรงไม่ใช่เล่น ในด้านฝีไม้ลายมือ เพราะรู้ไม้รู้มือกันมานาน 

สำหรับ นโยบายประชานิยม ที่ถือว่า ดร.สมคิด มีบทบาทอย่างสูง ในการขับเคลื่อนในยุคนั้น

อาจกล่าวได้ว่า หลังตั้งพรรคไทยรักไทย ดร.สมคิด ก็ได้ร่วมกับ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ช่วยกันนำเอานโยบายประชานิยม ของ บุญชู โรจนเสถียร ที่เคยเสนอต่อ พล.ต.ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ใช้เป็นนโยบายของพรรคกิจสังคมในอดีต มาปัดฝุ่นอีกครั้ง

ครั้งนั้น พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช เคยท้วงติงว่านโยบายหลายอย่างอาจจะถูกใจประชาชน แต่จะเป็นปัญหาเรื่องวินัยทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว มาดัดแปลงให้เป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย

เช่น นโยบายช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่างๆ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายค่าโดยสารฟรี นโยบายการรักษาพยาบาลฟรี แต่ปรับแนวนโยบายให้เป็นไปตามแนวคิด 30 บาทรักษาทุกโรคของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วใช้กลยุทธ์ทางการตลาดทำการหาเสียง จนประสบความสำเร็จ

ส่วนฝีไม้ลายมือที่ “ทักษิณ” รู้จักดี เริ่มจากในขณะที่ “ทักษิณ” ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้ตั้ง ดร.สมคิด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

จากนั้น มีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็ดันดร.สมคิด เป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รวมทั้งการปรับครม.อีกหลายครั้ง แต่ยังคง มีดร.สมคิด อยู่ในตำแหน่งสำคัญเรื่อยมา กระทั่งตำแหน่งสุดท้ายในรัฐบาลทักษิณ คือรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์

อย่างนี้แล้ว ก็แทบไม่ต้องพูดถึง ความเหมาะสมที่จะก้าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี”

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถือว่า ดร.สมคิด มาถูกที่ถูกเวลา ถูกจังหวะโอกาสที่พรรคการเมืองหลายพรรคมีปัญหาความขัดแย้งภายใน รวมทั้งปัญหาอดีตส.ส.ย้ายพรรค นั่นเท่ากับว่า ความได้เปรียบของพรรคการเมืองใหญ่ แทบไม่มีให้เห็นมากนัก ทั้งยังไม่แน่ว่า อดีตส.ส.พรรคใหญ่จะมีการย้ายพรรคอีกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าไหลเข้าพรรคใหม่ อย่าง สร้างอนาคตไทย ดร.สมคิด ก็ถือว่า ได้ลุ้นเลยทีเดียว

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ สถานการณ์ของแต่ละพรรค โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่และกลาง สุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร

เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล สถานการณ์ที่ถือว่า สั่นสะเทือนพรรคมากที่สุดก็คือ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.65 พรรคมีมติขับส.ส.ออกจากพรรคถึง 21 คน ประกอบด้วย

1.ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรค 2.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 4.นายจีรเดช ศรีวิลาส ส.ส.พะเยา 5.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 6.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 8.นายภาคภูมิ บุญประมุข ส.ส.ตาก 9.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร

10.นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 12.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 13.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา

14.นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 15.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา 16.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 17.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 18.น.ส. จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 19.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

20.พล.ต.ต. ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 21.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

โดย นายบุญสิงห์ วรรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรค พปชร. เผยว่า มติดังกล่าว เกิดขึ้นหลังพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เรียกมาพูดคุยที่มูลนิธิป่ารอยต่อ โดยกรรมการบริหารเห็นว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีเหตุแห่งความร้ายแรงของพรรค ที่เกิดจากคนทั้ง 21 คน

ทั้งนี้การให้สมาชิกพรรคพ้นตำแหน่งมี 3 สาเหตุ คือ ตัวบุคคลผิดวินัยและผิดจรรยาบรรณร้ายแรง ทำให้พรรคบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ และเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ดีที่สุด

พรรคเพื่อไทย ความสูญเสียใหญ่หลวงก็เห็นจะเป็น การลาออกของ กลุ่ม “คุณหญิงหน่อย”-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย หลังมีความขัดแย้งภายในพรรค แล้วมาตั้งพรรคใหม่ในนาม “ไทยสร้างไทย”

เท่านั้นไม่พอ ยังดูดเอาอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทยออกมาร่วมพรรคใหม่หลายคน

ทำเอา “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ต้องรีบออกมา “ห้ามเลือด” ที่ทำท่าว่าจะไหลไม่หยุด ด้วยการเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ในเวลาต่อมา

 

นั่นแสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย ยังมี “ทักษิณ” และ “ครอบครัวชินวัตร” เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ และจริงจังกับการขับเคลื่อนพรรคในอนาคต ซึ่งทำให้น่าจับตามองทันทีว่า “อุ๊งอิ๊ง” นี่เอง จะเข้ามาบัญชาพรรคในฐานะนอมินี(ตัวแทน) “นายใหญ่” จากแดนไกล

กระนั้น สิ่งที่ “ทักษิณ” ไม่พอใจอย่างมากก็คือ การที่บางพรรคยังไม่เลิกดูดส.ส.ของพรรค แถมยังเล่นเกมอ้างว่า พรรคใหม่ เป็นสาขาของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากจะมีอดีตส.ส.และแกนนำพรรคลาออกเป็นระยะ ยังมีปัญหาภายใน ทำให้แกนนำคนสำคัญ อย่าง นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ลาออกมาตั้งพรรคใหม่ พร้อมกับ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

ยิ่งกว่านั้น กรณีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ถูกแจ้งความ กรณีลวนลามผู้หญิงที่ไม่ยินยอม และร้องเรียนกับ ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด จนสั่นสะเทือนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในเวลานี้ ก็ยิ่งไปกันใหญ่

แถมล่าสุด นายวิทยา แก้วภราดัย นักต่อสู้ในเหตุการณ์ “6 ตุลา” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค เพื่อกดดันให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบด้วยการลาออกยกชุด เพื่อรักษาพรรคเอาไว้ กรณีตั้ง “ปริญญ์” เป็นรองหัวหน้าพรรค ทั้งยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะจบอย่างไร

นี่คือ สถานการณ์ของ 3 พรรคใหญ่ ที่แต่ละพรรคล้วนมีปัญหาภายใน และบางพรรคอาจกลายเป็น “พรรคขนาดกลาง” หรือไม่

ส่วน “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” หรือ ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อนายกฯของแต่ละพรรคนั้น ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น

นับแต่ พรรคเพื่อไทย หลังจาก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร เปิดตัวเป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือว่า ใหญ่กว่าหัวหน้าพรรค ก็แทบไม่ต้องสงสัยว่า “ทักษิณ” หมายมั่นปั้นมือที่จะให้เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค

ยิ่งกว่านั้น ความเป็นครอบครัวเพื่อไทยในความหมายทางการเมือง ยังหมายถึงการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับสมาชิกมาตั้งแต่ ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน ก่อนจะเป็นเพื่อไทยในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงคาดหวังอย่างสูงว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย

และแน่นอน ถ้าผลเลือกตั้งออกมาเช่นนั้นจริง “อุ๊งอิ๊ง” ก็มีโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ถ้าไม่เป็นไปตามคาด หรือ ที่นั่งส.ส.สูสีคู่คี่กับพรรคอื่น ก็อยู่ที่การจับขั้วทางการเมือง ว่า ฝ่ายไหนจะมีพรรคเข้าร่วมรัฐบาลมากกว่ากัน และใครจะถูกเสนอชื่อเป็น “นายกฯ”

พรรคพลังประชารัฐ ถือว่า ยังไม่ชัดเจนมากนักว่า แคนดิเดตนายกฯ ยังคงเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่ เพราะหลังจากมีการขึ้นป้าย “บิ๊กป้อม” สวัสดีปีใหม่ไทย ทั่วประเทศ เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายคนมองว่า อาจเป็น “บิ๊กป้อม” หรือไม่?

แต่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมากล่าวถึงการติดป้ายข้อความและภาพดังกล่าวแล้วว่า “ไม่ได้หาเสียง สวัสดีปีใหม่” ซึ่งคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า จะเป็นใคร

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่มี “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าพรรค ก็ประกาศชัดเจนแล้วว่า “แคนดิเดตนายกฯ” ก็คือ หัวหน้าพรรค

รวมทั้งยังน่าจับตามอง พรรคภูมิใจไทยไม่น้อย ว่า อาจเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่ ในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า เพราะอย่าลืมว่า การผลักดันนโยบายกัญชาเสรี เพื่อใช้ในเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจได้ ถือว่ามีความเป็นไปได้สูง และประชาชนขานรับเป็นอย่างดี ความจริงขานรับมาตั้งแต่การเลือกตั้งสมัยที่แล้ว ที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยได้ส.ส.เข้าสภาฯจำนวนไม่น้อย จนเป็นตัวแปรจัดตั้งรัฐบาลได้เลยทีเดียว

 

ดังนั้นสมัยหน้า ถ้าพรรคภูมิใจไทยได้อดีตผู้สมัครส.ส.เกรด เอ หลายคนเข้าพรรค ก็ไม่แน่ว่า พรรคภูมิใจไทย อาจกลายเป็นพรรคที่มีที่นั่งส.ส.ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 3 พรรคใหญ่ก็เป็นได้ แล้วทำไม “เสี่ยหนู” จะไม่หวังตำแหน่งนายกฯ ถ้า “อุ๊งอิ๊ง” ยังเป็นได้?

 

ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ที่เปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ โดยมี นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรค นายนิทัศน์ ประทักษ์ใจ นายทะเบียนพรรค รองหัวหน้าพรรค ได้แก่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายสุพล ฟองงาม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นายวิเชียร ชวลิต ควบเก้าอี้ ผอ.พรรค นายนริศ เชยกลิ่น นายวัชระ กรรณิการ์ รองเลขาธิการพรรค

โดยนายอุตตม เปิดเผยชัดเจนว่า “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรค ก็คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่นเอง

สำหรับพรรคสร้างอนาคตไทย แม้ชื่อชั้น ยังถือว่า เป็นพรรคใหม่ แต่ถ้าอดีตส.ส.จากหลายพรรคการเมืองเข้ามาร่วมจำนวนมาก ก็จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง และใหญ่ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ หากพรรคสร้างอนาคตไทย จำเป็นต้องจับขั้วทางการเมือง อย่าลืมว่า “สมคิด” นอกจากความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

ส่วนตัวยังถือว่า มี “คอนเนคชั่น” เป็นอย่างดี กับแกนนำหลายพรรคการเมือง เพราะถ้ายังจำกันได้ เขาเคยเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่มส.ส.มาตั้งแต่สมัยอยู่พรรคไทยรักไทยมาแล้ว

 

อย่างกลุ่ม “8ส.+ส.พิเศษ” ที่ประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สุวิทย์ คุณกิตติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สนธยา คุณปลื้ม และสรอรรถ กลิ่นประทุม ส่วน “ส.พิเศษ” คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ไม่นับว่า เคยเป็นผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย(ที่กลายมาเป็นเพื่อไทยปัจจุบัน) และได้เข้ามาเป็น “รองนายกรัฐมนตรี”ด้านเศรษฐกิจ ของ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถือว่า ทำงานร่วมกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ได้ด้วย

ยิ่งกว่านั้น การที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่พรรคสร้างอนาคตไทย พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า “คอนเนคชั่น” ที่มีอยู่ “จับขั้ว”การเมืองได้ไม่ยาก

มาถึงตรงนี้ คนที่หนาวกลางเดือนเมษาฯ ก็เห็นจะเป็น “โทนี่ วู้ดซัม” หรือ “ทักษิณ” นั่นเอง ที่ฝันหวานได้ไม่นาน ดันมี “สมคิด” ตามมาหลอกมาหลอนอีกจนได้

งานนี้อาจถึงขั้นดับฝัน “อุ๊งอิ๊ง” จน “เสียมวย” ไปก่อนเวลาอันควรก็เป็นได้ ใครจะรู้!?