มรสุม 5 ลูกกระหน่ำซัดหลังโควิด! ส่งผลค้าปลีกครึ่งปีหลัง 2565 อย่างไร?
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เริ่มเห็นว่าการระบาดของไวรัสโอมิครอนเริ่มชะลอลง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งเราอาจพูดได้ว่า เราผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว
อย่างไรก็ดีในมุมเศรษฐกิจ ความท้าทายกำลังเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้น มรสุมเศรษฐกิจอย่างน้อย 5 ลูก กำลังเริ่มโถมเข้าหาไทย ประกอบด้วย
1.อัตราดอกเบี้ย-ตัวฉุดการลงทุน 2.ภาวะหนี้-ตัวฉุดการบริโภคและการเติบโต 3.น้ำมันแพง-ตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ 4.โควิดและสงคราม-ซ้ำเติม ดิสรัป ซัพพลายเชน 5.ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น กำลังซื้อยังไม่มาซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อัตราดอกเบี้ย-ตัวฉุดการลงทุน
หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ว่าขึ้นหรือลง โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้จะมีทิศทางขึ้นลงตามไปด้วย ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีผลต่อเราในแง่แรงจูงใจต่อการฝากเงินกับธนาคารที่มากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจากการฝากสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลให้เรามีแรงจูงใจต่อการลงทุนต่ำลง เพราะต้นทุนหรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีจำนวนสูงขึ้น และแน่นอนว่าสำหรับคนมีหนี้ ดอกเบี้ยขาขึ้นย่อมส่งผลให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
ภาวะหนี้-ตัวฉุดการบริโภคและการเติบโต ก่อนโควิด หนี้ครัวเรือนในประเทศก็สูงอยู่แล้ว การระบาดโควิดก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง จะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของผู้ที่มาลงทะเบียนผู้ว่างงานที่สูงขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งการว่างงานกระทบรายได้และความสามารถชำระหนี้ จะกดดันให้ครัวเรือนจำนวนมากลดการบริโภคลง และมีความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียที่มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะภาคการค้าและบริการก็ประสบกับปัญหาการชำระหนี้ จะเห็นได้จากธุรกิจจำนวนมากประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องเนื่องจากธุรกิจจำเป็นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเช่า ค่าพนักงาน แม้ว่า ทั้งภาครัฐ และธนาคารเอกชนจะมีการออกมาตรการพักชำระหนี้การให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้กิจการยังดำเนินอยู่ได้ แต่หากการบริโภคของครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว ย่อมทำให้ธุรกิจไม่มีรายได้มากอย่างที่เคย
น้ำมันแพง-ตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ
สาเหตุหลักของการเกิดปัญหาเงินเฟ้อ แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุ สาเหตุแรก Demand-Pull Inflation ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น แต่สินค้าและบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น และสาเหตุที่สอง Cost- Push Inflation ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หากผู้ผลิตไม่สามารถ แบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญของสาเหตุ Cost-Push Inflation เพราะเป็นต้นทุนหลักของสินค้าทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของวัตถุดิบในการผลิต การขนส่ง ตลอดจนในส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เท่านั้นไม่พอ ค่าขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ค่าระวางเรือ ที่แม้จะมีราคาเพิ่มขึ้นก่อนสงครามก็จริง แต่พอมีสงคราม “ผู้ส่งออก” เลยต้องจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลกลับมาที่ต้นทุนและลงเอยที่ราคาสินค้าส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เลยทำให้เกิด ‘เงินเฟ้อ’ เป็นการเร่งภาวะเงินเฟ้อที่มาจากด้านต้นทุน (Cost Push Inflation)
โควิดและสงคราม-ตัวซ้ำเติม ดิสรัป ซัพพลายเชน
ทั่วโลกกำลังฟื้นจากโควิด มีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้นแบบถาโถม เรียกว่าพอฟื้นไข้แล้วก็พร้อมจะออกวิ่งกันทันที ทำให้ Demand ในตลาดสูงขึ้น แต่ Supply หรือฝั่ง “ผู้ผลิต” ผลิตไม่ทันเกิดภาวะที่เรียกว่า “Supply Chain Disruption” ที่ลุกลาม ตั้งแต่การชะงักของการขนส่งสินค้า ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น
บทวิเคราะห์ของ “Euler Hermes” บริษัทประกันภัยสินเชื่อทางการค้าระดับโลก ระบุว่า...การหดตัวของปริมาณการค้าโลก ปี 2022 มีปัจจัยสำคัญ 25% มาจากปัญหาเรื่องคอขวดด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งรายงานจากเวิลด์แบงก์ ประเมินว่า การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง 8.5% ในขณะนี้ เนื่องจากท่าเรือบางแห่งยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้มีสินค้าตกค้างอยู่ที่ท่าเรือเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ นโยบาย “Zero-COVID” จากจีนนำไปสู่การล็อกดาวน์ในหลาย ๆ เมือง โดยเฉพาะเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งเพิ่มผลกระทบ “ซัพพลายเชน”ให้วิกฤติมากขึ้น สินค้าที่ติดอยู่ในจีน กำลังจะกลายเป็น “ปัญหาใหญ่” ของธุรกิจในไทย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ชิปเล็ก ๆ ในอุปกรณ์มือถือจนถึงเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่
กล่าวโดยสรุป ปัญหาคอขวดในซัพพลายวัตถุดิบ ตู้คอนเทนเนอร์ และแรงงาน จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะเป็นตัวเร่ง Demand-Pull Inflation ต่อจากนี้
ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น กำลังซื้อยังไม่มา
สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะมีการประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. แล้วก็ตาม แต่เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาทันที ทั้งนี้ ข้อมูลจากนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ประมาณการว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยน่าจะมีราว 16% ของช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 (นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน) สาเหตุมาจากยังคงมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน การจำกัดการเดินทางของจีน และสงครามยูเครน-รัสเซีย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น กำลังซื้อของประชาชนและสภาพคล่องของภาคธุรกิจก็ยังคงมีปัญหาอยู่ ตลอดจนถูกซ้ำเติมจากปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มสูง และราคาสินค้าที่ปรับขึ้น ดัชนี RSI ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมายอดขายของค้าปลีกค้าส่งผ่านโครงการคนละครึ่งมีสัดส่วนมากถึง 20-30% ของยอดขายทั้งหมด แต่พอมาตรการนี้สิ้นสุดลงก็เท่ากับว่าเม็ดเงินก็จะหายไปจากระบบ 20-30% เช่นกัน
สะท้อนว่าการมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในแต่ละครั้งแต่ละเฟสช่วยปลุกกำลังซื้อและทำให้มีเม็ดเงินสะพัดได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจยังมีปัญหาโดยเฉพาะค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้มีเท่าเดิมหรือลดลง รวมทั้งปัจจัยภายนอก ปัญหาสงคราม ราคาน้ำมัน ฯลฯ ที่จะส่งผลต่อภาพรวมกำลังซื้อ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อปลุกกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง
ครึ่งปีแรกส่งสัญญาณบวก แต่การฟื้นตัวไม่ชัดเจน
ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ภาคค้าปลีกและบริการยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอน และจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 รายต่อวัน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการอุดหนุนสวัสดิการ โครงการ “คนละครึ่ง” และ “ช้อปดีมีคืน” ที่สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2564 และต้นปี 2565 ทำให้กำลังซื้อฐานรากหายไป ส่งผลให้การเติบโตในไตรมาสแรกของปี ไม่สดใสเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2564
สำหรับไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ภาคค้าปลีกและบริการโดยรวมเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และอานิสงส์จากการเปิดประเทศ 1 พ.ค. นักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมาราว 400,000 คน รวมถึงนักท่องเที่ยวคนไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวกันก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งสัญญาณบวกในการฟื้นตัวของภาคการค้าและบริการ
ครึ่งปีหลังปี 2565 มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ครึ่งปีหลังของปี 2565 เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟู แต่ยังคงมีความเปราะบาง เนื่องจากยังเผชิญกับสภาวะ “พายุเศรษฐกิจ 5 ลูกซัดกระหน่ำ” ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระดับโลกที่ทำให้ราคาพลังงานซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังส่งผลโดยตรงทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
โดยสองปัจจัยนี้ ถือเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ไทยมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 4.71% และอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาสะสมมานานส่งผลกระทบต่อเนื่อง คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท ในปี 2564
ทั้งนี้ พายุเศรษฐกิจทั้ง 5 ลูก ที่มาเยือนเศรษฐกิจไทยนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์จนอาจก่อตัวขึ้นเป็น “ทอร์นาโด” ทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยต้องตั้งรับและเตรียมความพร้อมให้ดี
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคค้าปลีกและบริการ พบว่า เป็นการฟื้นตัวแบบกราฟรูปตัว K หรือที่เรียกว่า “K-Shaped” ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุล คือมีส่วนที่ฟื้นตัวชัดเจนและอีกส่วนหนึ่งไม่ฟื้นตัวหรือทรงตัว ห้างสรรพสินค้า-แฟชั่นความงาม-ไลฟ์สไตล์ และภัตตาคารร้านอาหาร “โต” ตามกระแสของการเปิดประเทศ การท่องเที่ยว และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค
ส่วนไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มฐานล่าง กำลังซื้อยังอ่อนแอ บางกลุ่มมีหนี้ครัวเรือน และยังคงต้องพึ่งมาตรการการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐเป็นหลัก