จับสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นประเด็นใหญ่สำหรับเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2565 ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ จนนำไปสู่คำถามที่ว่า “ธนาคารกลางสามารถที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายได้โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้หรือไม่”
เมื่อพิจารณาถึงโอกาสความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ คงต้องพิจารณาที่ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก ในปี 2564 มูลค่าทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ คิดเป็น 22,997.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 23.9% ของเศรษฐกิจโลก (อ้างอิงจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ เดือนเมษายน 2565) เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์พยายามที่จะใช้ชี้นำถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีดังนี้
Inverted Yield Curve คือ ปรากฎการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น โดยปกติอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าระยะสั้น เพราะการลงทุนในระยะยาวจะมีความเสี่ยงโดยรวมจากการถือครองพันธบัตรมากกว่าระยะสั้นจากความไม่แน่นอนของอัตราเงินเฟ้อและทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต
แต่หากขณะนั้นนักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวมาก และภาวะตลาดมีความผันผวนรุนแรง นักลงทุนจะเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากกว่าปกติจึงทำให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ข้อมูลปัจจุบัน ณ 17 มิถุนายน 2565 ส่วนต่างระห่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี กับ 2 ปี มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณภาวะ Inverted Yield Curve ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี กับ 3 เดือน ยังคงชันขึ้น ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะใกล้นี้ อย่างไรก็ตามต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
High Yield Credit Spread คือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) กับพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากตราสารหนี้ประเภทนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Below Investment Grade) หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated) พบได้มากในประเทศสหรัฐฯ
เมื่อส่วนต่างนี้กว้างขึ้น อาจจะสะท้อนถึงบริษัทเหล่านั้นยอมที่จะให้ผลตอบแทน (หรือ Coupon) แก่ผู้ถือตราสารหนี้ของบริษัทมากขึ้น ขณะที่บริษัทย่อมมีต้นทุนทางการเงินมากขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัทไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือมีความผันผวน อย่างไรก็ตามต้องพิจารณา High-Yield Credit Spread ควบคู่กับภาวะ Inverted Yield Curve เพราะในปี 2554
แม้ว่าส่วนต่างกว้างขึ้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งระดับในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้น จากข้อมูลในอดีตเมื่อส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) กับพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 5.00% และยังคงสูงต่อเนื่องจะนำไปสู่สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย ดัชนีนำเศรษฐกิจ (Leading Indicator) ในที่นี้จะพิจารณาถึง The Conference Board’s Leading Economic Indicators (LEI) ของสหรัฐฯ ที่ออกแบบมา เพื่อพิจารณาสัญญาณจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของวัฎจักรเศรษฐกิจซึ่งจะส่งสัญญาณล่วงหน้า 7 เดือน
ข้อมูลล่าสุดพบว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนีนำเศรษฐกิจกำลังลดลง แต่ค่าการเปลี่ยนแปลงยังอยู่เหนือ 0.0% ซึ่งอธิบายได้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ยังไม่ถึงกับเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าติดลบติดต่อเนื่องมากกว่า 5-10 เดือน จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ตลาดแรงงาน เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานจะลดลง อัตราการว่างงานจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาวะตลาดแรงงานโดยส่วนใหญ่จะเป็นดัชนีตามเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า เมื่อเศรษฐกิจถดถอยแล้วจึงจะเกิดอัตราการว่างงานสูง ดังนั้น จึงอาจเป็นเพียงสิ่งยืนยันว่าได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว หากพิจารณาถึงอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ จะพบว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำและยังไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
จากเครื่องชี้ภาวะดังกล่าวข้างต้น สะท้อนว่ายังไม่มีสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสั้น สอดคล้องกับที่ Bloomberg (วันที่ 20 มิถุนายน 2565) คำนวณโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ มี 31.5% อย่างไรก็ตามหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอาจจะนำไปสู่ภาวะ Inverted Yield Curve และทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และอาจนำไปสู่การลดต้นทุนโดยการเลิกจ้างงานในที่สุด ดังนั้นการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด รับรู้ข่าวสารและข้อมูลให้ถี่ถ้วน เพื่อที่จะวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน และเตือนให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น