จุดจบของรัฐ-สังคมแบบองคาพยพในสังคมการเมืองไทย
สังคมไทยยอมรับและอยู่ในกรอบการอธิบายรัฐและสังคมด้วยทฤษฎีองคาพยพมาเนิ่นนาน แต่ในปัจจุบันนี้ ความเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจได้ทำให้จินตนาการ
ทางการเมืองไทยได้ก้าวข้ามทฤษฎีการเมืองแบบองคาพยพไปแล้ว หากแต่คนบางกลุ่มในสังคมไทยมองไม่เห็นการสูญสลายของพลังทางความคิดดังกล่าว และยังพยายามยืนยันความถูกต้องของกรอบความคิดดังกล่าว จึงทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
ทฤษฎีองคาพยพ (Organic Theory) เกิดขึ้นในสังคมจารีตที่มีโครงสร้างทางชนชั้นที่แข็งแรงและตายตัว การเลื่อนชนชั้นเป็นไปได้ยาก การที่จะทำให้คนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่มีโอกาสเลื่อนชนชั้นได้ยอมรับในความแตกต่างก็ต้องสร้างกรอบความคิดหลักที่ทำให้คนต้องสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจของชั้นนำ ดังนั้น การสร้างจินตนาการให้ผู้คนในสังคมมองเห็นและยอมรับความแตกต่างของกลุ่มคนจากสถานะและบทบาท/หน้าที่ที่แต่ละกลุ่มพึงมีต่อสังคม โดยสร้างความเปรียบกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่ร่วมกันประกอบเป็นมนุษย์ และกลายเป็นหลักสัจจะที่ทุกคนต้องยอมรับ
ทฤษฎีองคาพยพของสังคมการเมืองไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อชนชั้นนำได้สร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมา โดยได้เปลี่ยนจากที่ประชาชน/พลเมืองไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรในรัฐ ดังปรากฏในวรรณกรรมรามเกียรติ์ที่พลเมืองถูกเปรียบให้เป็น “อาวุธ” เท่านั้น (ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์ คือ ศาสตราวุธทั้งหลาย) กลายมาสู่การเป็นส่วนหนึ่งของรัฐแต่เป็นส่วนที่ไม่สำคัญนัก ได้แก่ เป็น “เส้นผม” ซึ่งชนชั้นนำได้เปรียบเอาไว้ทำนองว่า "ผม, ขน เปรียบด้วยราษฎร เมื่อขาดไปเส้นหนึ่ง ก็ไม่สู้กระไรนัก แต่เมื่อขาดไปหลายๆ เส้น ก็ดูโหรง" (สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
ต่อมาเมื่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2470 ถึง 2490 ได้ทำให้เกิดโอกาสในการเลื่อนชนชั้นได้กว้างขวางขึ้น แต่เนื่องจากว่าชนชั้นนำของไทยมีความสืบเนื่องสูงกว่า ดังนั้น จึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกรอบหลักในการอธิบายรัฐและสังคม ยังคงยึดมั่นอยู่กับทฤษฎีองคาพยพต่อเนื่องต่อมา เปลี่ยนแปลงแต่เพียงให้ “ท่านผู้นำ” เป็นส่วนนำขององคาพยพร่างกายแทน
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทฤษฎีองคาพยพเริ่มอ่อนพลังลงมาก เพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของชนชั้นนำเดิม การปรับตัวเพื่อรักษาทฤษฎีองคาพยพจึงได้เกิดขึ้น และได้สร้างการให้ความหมายแก่ “คนดี” ขึ้นมาทำหน้าที่ส่วนนำในองคาพยพ
กล่าวได้ว่าแม้ความพยายามจะรักษาทฤษฎีองคาพยพไว้ด้วยการแทนที่ส่วนหัวของร่างกายด้วย “คนดี” จะสามารถจรรโลงกรอบความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองได้ระยะหนึ่ง แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษหลังนี้ได้ทำให้เกิดความอึดอัดทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ภายใต้กรอบความคิดองคาพยพแบบเดิมหรือแบบแก้ไขใหม่ที่ให้ “คนดี” เป็นผู้นำ
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Mobility) ในทุกมิติ โอกาสการขึ้นเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเปิดกว้างมากกว่าเดิมอย่างมาก พร้อมกันนั้นรูปแบบการปกครองระบบประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้งก็ทำให้การเลื่อนขึ้นมาเป็นชนชั้นนำทางการเมืองก็ง่ายมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าก็ทำให้เกิดชนชั้นนำทางวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมาโดยไม่ต้องพะวงกับมรดกทางวัฒนธรรมเดิมของชนชั้นนำเก่า
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายบรรดามีที่เกิดขึ้นได้ทำให้พลังของทฤษฎีองคาพยพที่เน้นให้คนแต่ละกลุ่มทำงานเฉพาะหน้าที่ตนเอง และปล่อยให้หน้าที่ในการปกครองอยู่ในมือของคนบางกลุ่มที่ถูกเลือกสรรแล้วนั้นเริ่มสลายไปเรื่อยๆ และภายใต้เงื่อนไขของการเสื่อมสลายพลังของกรอบหลักในการอธิบายรัฐและสังคมเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมามากขึ้น
หากพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหากรอบความคิดหรือทฤษฎีใหม่ที่จะเป็นการอธิบายรัฐและสังคมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและที่สำคัญต้องทำให้คนทุกกลุ่มสามารถที่จะมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมอย่างเหมาะสม
หากลองมองจากทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ ก็อาจจะใช้ความรู้เรื่องระบบนิเวศวิทยา ที่มีองค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลาย และทุกสิ่งในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อกันและต่อส่วนร่วม หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปก็อาจจะเกิดหายนะขึ้นทั้งระบบ แต่อย่างไรก็ตาม การมองแบบนี้ก็คล้ายๆ กับความพยายามจะต่อชีวิตให้แก่ทฤษฎีองคาพยพในรูปแบบที่ใหม่ขึ้น
ผมเองก็ยังคิดไม่ออกนะครับ ว่าต้องสร้างกรอบการอธิบายรัฐและสังคมใหม่อย่างไร ที่ไม่ใช่การอธิบายแบบองคาพยพเดิมและจะต้องพ้นจากกรอบความคิดโครงสร้างหน้าที่มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ลองเสนอว่ารัฐและสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความหลากหลายที่เท่าเทียมกัน และผู้นำเป็นผู้ถูกคัดเลือกให้ทำหน้าที่รักษาความหลากหลายที่เท่าเทียมกันซึ่งขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา รัฐทำหน้าที่ให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างสงบและสันติ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อกรอบความคิดเดิมที่ครั้งหนึ่งเคยยึดโยงเราทั้งหมดให้อยู่ร่วมกันไม่มีพลังเพียงพออีกแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกันคิดว่าเราจะสร้างกรอบความคิดใหม่ที่จะช่วยทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและมองเห็นสายใยยึดโยงทางสังคมชุดใหม่ที่จะเอื้ออำนวยให้เราอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องขัดแย้งกันครับ