กรีนเอสเอ็มอี-เอสเอ็มอีสีเขียว
กรีน เอสเอ็มอี (Green SMEs) หมายถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจเริ่มใหม่หรือสตาร์ทอัพ ที่พยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากที่ว่าในตลาดด้วยวิสัยทัศน์ทางการตลาดที่เน้นเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
มีความเชื่อกันว่า กรีน เอสเอ็มอี จะมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่จะช่วยผลักดันความพยายามให้โลกเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในทุกประเทศในโลกก็ว่าได้ จะมีจำนวนมากมาย และกระจายกันอยู่ทั่วพื้นที่ของประเทศ
หากบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้ จะหันมาเริ่มต้น หรือพัฒนาธุรกิจเดิมของตน ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในภาคของผลิตหรือการให้บริการ
การผนวกแนวคิดกรีนเข้าไปกับธุรกิจ สามารถทำได้ตลอดขั้นตอนในห่วงโซ่อุปทานหรือห่วงโซ่คุณค่าของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในบางขั้นตอน หรือการบูรณาการเข้าไปในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่ธุรกิจ
เริ่มตั้งแต่ การจัดหาวัตถุดิบ หรือวัสดุตั้งต้นให้กับธุรกิจที่ไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง การแปรสภาพวัตถุดิบ หรือวัสดุประกอบการให้บริการ ด้วยการคำนึงถึงหลักการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือก หรือการลดใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการปลอดปล่อยมลพิษหรือของเสียเป็นพิษสู่สิ่งแวดล้อม
การจัดเก็บและขนส่งสินค้าที่มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเวลาและพลังงานที่ไม่จำเป็น
ตลอดจนการทำการตลาด การสื่อสารการตลาด ด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยชักจูงผู้บริโภคให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ปัจจัยหนุนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดกรีนเอสเอ็มอีขึ้นได้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจถึงเทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ และการใช้ความคิดสรรค์ ความคิดริเริ่ม ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น มาใช้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในตลาดมาก่อนหน้า
เพื่อนำเสนอธุรกิจที่ถูกใจ ตรงกับความต้องการของลูกค้า มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และในขณะเดียวกันยังส่งเสริมในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และไม่เป็นพิษเป็นภัยของสังคม ไปพร้อม ๆ กัน อีกด้วย
ไอเดียธุรกิจของกรีนเอสเอ็มอี สามารถแบ่งออกได้มากมายหลายประเภท เช่น
ธุรกิจที่ปรึกษาหรือธุรกิจให้บริการด้านการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การจัดการน้ำ การจัดการขยะอุตสาหกรรม การจัดการมลพิษและไอเสียทางอากาศ การจัดการพลังงาน พลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน
ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ การจัดการป่าไม้ การจัดการฟาร์ม ซึ่งรวมถึง การนำเสนอผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในการ ตรวจจับ เฝ้าตาม วิเคราะห์ คำนวณ และพยากรณ์ ผลผลิต สภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยธรรมชาติ
ธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ หุ่นยนต์อัตโนมัติ ระบบอัตโนมัติ สำหรับกระบวนการทางธุรกิจที่จะช่วยให้เกิดการอนุรักษ์และความปลอดภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจหลักและธุรกิจย่อยที่ร่วมอยู่ใน ห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม การก่อสร้างสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย
ธุรกิจบริการ เช่น การท่องเที่ยว การบริหารบุคคล แม้กระทั่งธุรกิจการจัดหาแรงงาน ก็ยังมีโอกาสและช่องว่างในการนำแนวคิดสีเขียวเข้ามาสร้างความแตกต่างให้กับการบริการที่มีอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ
ถึงแม้ว่า คำว่า “กรีน” หรือ “สีเขียว” จะเริ่มได้รับความนิยมนำมาใช้จนกลายเป็น “ศัพท์ใหม่” ทางธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจ หรือจะเป็นเจตนารมณ์ที่มุ่งมันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของโลกในอนาคตที่จะมาถึง
แต่ก็เป็นที่แน่ใจว่า หากปราศจากความร่วมมือของบรรดาธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก ช่วยกันสร้างวิสัยทัศน์และแสดงความมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจของตนให้เปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น กรีนเอสเอ็มอี อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
การพัฒนาโลกให้ก้าวไปสู่การเป็นโลกที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ก็อาจทำได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของประชาคมโลกที่คาดหวังไว้เป็นแน่ !!??!!