เกมสกัด “พท.” แลนด์สไลด์ ที่มองไม่เห็นหัวประชาชน?

เกมสกัด “พท.” แลนด์สไลด์ ที่มองไม่เห็นหัวประชาชน?

ดูเหมือนพรรคการเมือง “ส.ส.” ในสภาฯ คงโทษใครไม่ได้อีกแล้ว หากประชาธิปไตยไม่พัฒนา นอกจากตัวเอง ที่ไม่ยอมพัฒนา แล้วก็ทำให้ประชาธิปไตยอยู่ใน “วังวน” ของการแสวงหาอำนาจตามไปด้วย

นี่ไม่ใช่คิดเอง เออเอง และไม่ให้เกียรติผู้ทรงเกียรติแห่งสภาไทยแต่อย่างใด หากแต่นักวิชาการ และคนที่ติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด ก็เริ่มออกมาส่งสัญญาณให้เห็นแล้ว  

เริ่มจาก เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ โดยเฉพาะการต่อสู้เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.ในการเลือกตั้ง รวมถึงประเด็นการใช้บัตรเลือกตั้ง ระบุว่า

“ความอลหม่านจนทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐสภาตกต่ำลงในยามนี้ มาจากการเปลี่ยนกลับไปกลับมาของระบบเลือกตั้ง ทำไม สมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ จึงกล้าทำตรงข้ามกับหลักการที่ตนเองรับรองไปก่อนหน้านั้น อันเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือของความเป็นตัวแทนปวงชนยิ่งนัก

การกระทำเยี่ยงนั้น นอกจากนำความอับอายและอัปยศมาสู่ผู้กระทำแล้ว ยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐสภา และประชาธิปไตยโดยรวมด้วย คาดว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ก็ตระหนักอยู่บ้างว่า การทำเช่นนั้น หาใช่การที่ควรทำ แต่อาจจำใจต้องทำ ใครหรืออำนาจใด ที่กดดันให้ สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยอมจำนน ละทิ้งศักดิ์ศรี ละทิ้งหลักการ ในลักษณะที่ทำลายตนเองเช่นนี้

คนผู้นั้นคงมีอำนาจยิ่งใหญ่ ผู้คิดว่าระบบเลือกตั้งที่เรียกว่าหาร 500 จะก่อประโยชน์แก่ตนเองอย่างประมาณไม่ได้ นั่งดีดลูกคิดในรางแก้ว ฝันเพลิดแพร้วถึงการสืบต่ออำนาจไปอย่างไม่สิ้นสุด สั่งการตามอำเภอใจ ไม่ใยดีว่า ความกระหายอำนาจของตนเอง จะส่งผลกระทบต่อหลักการอันชอบธรรมของสังคมอย่างไร

 

แต่ดูเหมือนว่า การหาร 500 ภายใต้การมีบัตร 2 ใบ อาจจะยังไม่อาจสร้างความมั่นใจแก่การสืบทอดอำนาจในอนาคตได้ ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐบางคน จึงพยายามเสนอให้ กลับไปใช้ระบบหาร 500 ภายใต้การใช้บัตร 1 ใบ ดังการเลือกตั้งปี 2562 หากความพยายามนี้บรรลุผล รัฐสภาไทยก็คงกลายเป็นสภาโจ๊กอย่างเต็มรูปแบบ จึงขอส่งข้อความเตือนสติแก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนว่า

ท่านเป็นตัวแทนของปวงชน ไม่ใช่เป็นลูกน้องของผู้มีอำนาจคนใด การรักษาหลักการชอบธรรมและการสร้างความน่าเชื่อถือของสภาผู้แทนราษฎรเป็นพันธกิจร่วมที่สำคัญยิ่งของ ส.ส.ทุกคน เพราะหากสภาผู้แทนราษฎรกระทำบนพื้นฐานของหลักการอันชอบธรรมแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือต่อรัฐสภา ทั้งยังส่งผลดีและสร้างความเข้มแข็งแก่ระบอบประชาธิปไตยด้วย

 บรรดา ส.ส.ทั้งหลาย พึงตระหนักเถิดว่า นักรัฐประหารนั้นสนใจแต่การสืบทอดอำนาจ และสั่งการให้กระทำเพื่อสนองความต้องการรักษาอำนาจของตนเองเป็นหลัก เขาย่อมไม่สนใจใยดีใดๆ ต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด การรับคำสั่งและสนองความต้องการอันไม่ชอบธรรมของนักรัฐประหาร จึงเท่ากับเป็นการทำลายความเป็นตัวแทนของปวงชน และกัดกร่อนสถาบันประชาธิปไตยให้เสื่อมลง”

เช่นเดียวกับ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ให้สัมภาษณ์กรณีจะมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ว่า

ในส่วนของ ส.ว.ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าใครจะให้กลับ ทั้งพรรคการเมืองหรือผู้มีอำนาจคนใดก็ตาม จะเสียผู้เสียคนมากกว่า เหมือนอย่างกรณีสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จากเดิมหาร 100 ก็มีการกลับไปเป็นหาร 500 แล้วจากหารด้วย 500 ก็จะกลับมาเป็นหารด้วย 100 อีก และยังจะกลับไปแก้รัฐธรรมนูญก็จะทำให้ยิ่งเสียคนมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องที่จะมองแค่ความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองมากกว่าดำเนินการให้เป็นไปด้วยความตรงไปตรงมา ขาดความถูกต้อง ขาดความมีจริยธรรมทางการเมือง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ

ส่วนมีโอกาสที่จะกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า ตนคิดว่าใครที่คิดแต่เรื่องอำนาจอย่างเดียว คิดแต่จะเอาเปรียบอย่างเดียวแล้วรวมหัวกัน ก็มีสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากเกิดขึ้นได้ก็จะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจ ที่หวังอำนาจและหวังได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น แต่หากพรรคการเมืองไม่เล่นด้วย ส.ส.ไม่เล่นด้วย ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ลำพัง ส.ว.เพียวๆ ไม่มีทางที่จะทำได้เลย

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปให้เป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะตนเห็นด้วยกับการหารด้วย 100 ตั้งแต่ต้น และหากจะกลับไปกลับมา ตนมองว่ามันเป็นการกะล่อนกันทางการเมืองมากกว่าที่จะทำเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง”

รวมถึง นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสข่าวอาจมีการเสนอแก้ รธน. เพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียวว่า

น่าจะเป็นการโยนหินถามทางหรือความคิดที่โยนในวงสนทนา แต่ถ้าผลักดันจริง คงสำเร็จยาก ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ฟังเสียงนักการเมืองหลายพรรคไม่เห็นด้วย และส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก 1.เป็นการกลับไปกลับมา เพราะพึ่งจะแก้ รธน.มาใช้บัตร 2 ใบ ยังไม่ได้ใช้ แต่จะแก้กลับไปใช้บัตรใบเดียวได้อย่างไร ไร้เหตุผล 2. เสียงส่วนใหญ่ในสังคมทราบแล้วว่า การเลือกตั้งบัตรใบเดียวมีปัญหา ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และเกิดการต่อรองทางการเมืองอย่างที่เห็น 3. บัตรใบเดียวบีบให้ประชาชนเลือก ทั้งคนและพรรค 4.การคำนวณผลการเลือกตั้งยุ่งยาก และ 5. ทำให้ไม่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ประชาชนเสียประโยชน์

“แนวคิดการกลับไปใช้บัตรใบเดียว แม้คิดได้ แต่ทำยาก เป็นความคิดที่ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ละเลยความต้องการของประชาชน ละเลงปัญหาการเมืองเพิ่ม ดังนั้นควรลด ละ เลิก แนวคิดที่จะเอาเปรียบทางการเมืองได้แล้ว ประเทศนี้มีเรื่องที่เป็นสาระต้องทำอีกมาก”

ทั้งหมดสะท้อนไปในแนวทางเดียวกันว่า เป็น “เกม” ของผู้มีอำนาจบางคนที่ต้องการสืบทอดอำนาจหรือไม่ โดยใช้ส.ส.ในสังกัดเคลื่อนไหว เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง โดยไม่สนใจความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นความเข้มแข็งของรัฐสภา ที่เป็นที่พึ่งของประชาชนแต่อย่างใด

ประเด็นที่น่าทำความเข้าใจอย่างยิ่ง ก็คือ สูตรคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 กับหาร 500 มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ อย่างไร

เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่การเลือกตั้งทั่วไปส.ส.สมัยหน้า จะใช้การคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วยสูตรหาร 500 เพราะสูตรนี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 3 ของการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ(ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง)ไปแล้ว

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำลังพิจารณาว่า สูตรหาร 500 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาจมีการชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับสูตรหาร 500 ยื่นให้ตีความ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และได้ใช้สูตรไหนในการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ มาดูกันว่าสูตรหาร 100 และสูตรหาร 500 แตกต่างกันอย่างไร และส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่

โดยตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป มี ส.ส.รวมทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็นส.ส.เขต 400 คน จากเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยจะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต กับบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือเรียกอีกอย่างว่า บัตรเลือกพรรค

ในส่วนของ ส.ส.เขต 400 คน ไม่ได้เป็นปัญหาต่อความเข้าใจในการลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะจะเป็นแบบดั้งเดิมที่คุ้นชินกันมาคือ การเลือกผู้สมัครที่ตนเองชื่นชอบได้เลย แต่ที่มีปัญหาต่อความเข้าใจคือ แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดย เฉพาะวิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้จากสูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500 จะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้สูตรหาร 100 หมายถึงการนำคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดจากบัตรเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ มาหารด้วยจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน แล้วจึงคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้ตามสัดส่วนคะแนน

ยกตัวอย่างเช่น คะแนนเสียงของทุกพรรครวมกัน 40 ล้านคะแนน คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน เท่ากับ 40 ล้าน หารด้วย 100 = 400,000 คะแนน

ถ้าพรรค Z ได้คะแนนเสียงจำนวน 10 ล้านคะแนน พรรค Z จะมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เท่ากับ 10 ล้าน หารด้วย 400,000 = 25 คน นั่นหมายถึงพรรค Z ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 25 คน

ถ้าพรรค Z ได้จำนวน ส.ส.เขตมาแล้ว 200 คน เท่ากับว่า พรรค Z จะได้ ส.ส.ทั้งหมด 200+25 = 225 คน

สูตรหาร 100 คล้ายกับการเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างมาก โดยเฉพาะวิธีการหาส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ ต่างกันเพียงการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบต่างเบอร์ หมายถึง หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จะตรงหรือไม่ตรงกับหมายเลขของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดก็ได้ ส่วนของรัฐธรรมนูญ 2540 บัตรเลือก ส.ส.เขตกับบัตรเลือกพรรค เป็นเบอร์เดียวกัน

สูตรหาร 100 มีจุดเด่นทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่แข็งแกร่ง เพราะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นส่วนเสริมมากขึ้น โดยไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมี มาเป็นข้อจำกัดการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

สำหรับสูตรหาร 500 หมายถึงการนำคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยส.ส.ทั้งหมดคือ 500 คน แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาคำนวณหาจำนวนส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค

ยกตัวอย่างเช่น คะแนนเสียงของทุกพรรคที่ได้จากบัตรเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกัน 40 ล้านคะแนน คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.หนึ่งคน เท่ากับ 40 ล้าน หาร 500 = 80,000 คะแนน ถ้าพรรค Z ได้คะแนนเสียงจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 10 ล้านคะแนน พรรค Z จะมีส.ส.พึงมี เท่ากับ 10 ล้าน หารด้วย 80,000 = 125 คน จากนั้นนำเอาจำนวน ส.ส.พึงมี 125 คน ไปลบกับจำนวน ส.ส.เขต จะได้ ส.ส.ทั้งหมดของพรรค Z เช่น พรรค Z ได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 100 คน เท่ากับว่า พรรค Z จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 25 ทำให้พรรค Z มี ส.ส.รวมทั้งหมด 125 คน (เท่ากับจำนวน ส.ส.พึงมี)

ถ้าพรรค Z ได้ ส.ส.เขต มาแล้ว 200 คน เท่ากับว่า พรรค Z จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เพราะส.ส.เขต เกินจำนวน ส.ส.พึงมี(125 คน)ไปแล้ว พรรค Z จึงมีได้เพียง ส.ส.เขต 200 เท่านั้น(ส.ส.เขตที่เกินจากจำนวน ส.ส.พึงมี จะไม่ถูกหักออก ให้ยึดคงจำนวน ส.ส.เขตเป็นหลัก)

ถ้าพรรค Z ได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 125 คน พอดีกับจำนวน ส.ส.พึงมี พรรค Z จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเช่นกัน

ถ้าพรรค Z ไม่ได้ ส.ส.เขตมาเลย แต่มีคะแนนพรรคที่สามารถนำมาคำนวณได้ ส.ส.พึงมีจำนวนหนึ่ง พรรค Z ก็จะได้ ส.ส.ทั้งหมดที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามจำนวน ส.ส.พึงมี ที่คำนวณได้

สูตรหาร 500 มีความคล้ายกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยเฉพาะการนำ ส.ส.พึงมี มาคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ก็มีความต่างกันที่ปี 2562 เป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวนำคะแนนมานับและคำนวณหา ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่ใกล้มาถึง จะเป็นแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต่างเบอร์ และรายละเอียดเรื่องการปัดเศษคะแนนที่ต้องรอติดตามจาก กกต.ต่อไปว่าจะออกกฎ ระเบียบ วิธีการนับคะแนนปัดเศษอย่างไร หากต้องใช้สูตรหาร 500 นี้

จุดเด่นของสูตรหาร 500 อยู่ที่การทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กได้ประโยชน์มากกว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะพรรคเล็กมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามจำนวนที่ได้จาก ส.ส.พึงมี แม้บางพรรคอาจไม่มี ส.ส.เขตเลยก็ตาม ขณะที่พรรคใหญ่ มีโอกาสได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง หรือถึงขั้นอาจไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากมี ส.ส.เขตเกินจำนวนส.ส.พึงมีไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ถือได้ว่าสูตรนี้ จะเป็นการกระจายจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อมาสู่พรรคการเมืองขนาดเล็กถึงขนาดกลางมากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะพรรคใหญ่และถือเป็นการกระจายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้แก่ตัวแทนของประชาชนในทุกระดับครอบคลุมขึ้นด้วย

ส่วนว่า การหาร 100 กับ หาร 500 มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งหรือไม่

ประเด็นอยู่ที่ผลกระทบของพรรคการเมืองจากทั้ง 2 สูตร จะเป็นผลกระทบในเชิงบวก หรือเชิงลบ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าขึ้นอยู่กับการตีความและโครงสร้างของแต่ละพรรคการเมือง กล่าวคือ พรรคการเมืองขนาดใหญ่บางพรรคอาจเห็นว่าสูตรหนึ่งเหมาะกับพรรคตนเองมากกว่า เพราะมีโอกาสได้ส.ส.จากทั้งสองแบบมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่พรรคการเมืองอื่นอาจเห็นว่า อีกสูตรจะเป็นผลดีทำให้ยังมีส.ส.หรือมีจำนวนส.ส.เพิ่มขึ้นก็ได้

ทั้งสองสูตรดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละพรรคการเมือง ทว่าในส่วนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อเข้าใจแต่ละสูตรแล้ว เชื่อว่า จะไม่มีผลมากนักต่อการตัดสิน ไม่ว่าจะใช้สูตรไหนก็ลงคะแนนเลือกตั้ง ตามกฎกติกาและสิทธิที่จะเลือกคนที่ชอบ พรรคที่ใช่ ได้อยู่แล้ว(จากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์/20 ก.ค.65)

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ ถ้ายึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และต้องการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ระบบการเลือกตั้งก็จะต้องเอื้อต่อประชาชนมากที่สุด และง่ายต่อการออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชน สามารถแสดง “เจตจำนง” เลือก “ผู้แทนราษฎร” ได้อย่างตรงไปตรงมา  

คำถามคือ สิ่งที่พรรคการเมืองบางพรรคและส.ส.บางส่วนเคลื่อนไหวเล่นเกมกันอยู่ในเวลานี้ ยึด “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” หรือไม่ คำตอบน่าจะเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ไม่เกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนแต่อย่างใด

เพราะไม่ว่าสูตรใด ถ้ามีความชัดเจนให้กับประชาชน การลงคะแนนเลือกตั้งไม่ใช่ปัญหาอยู่แล้ว

ประเด็นสำคัญอาจอยู่ที่ว่า เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยถูกคาดหมายเอาไว้แล้วว่า การแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้สูตรหาร 100 คำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ จะได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นอย่างชัดเจน เพราะมีโอกาสได้ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อรวมกันจำนวนมาก  

ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง บัตรเลือกตั้งยังเป็น 2 ใบ ต่างเบอร์(ไม่น่ามีผลมากนัก) และยังคงยึดสูตรหาร 100  คำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย มีความเป็นไปได้สูง เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล (ยกเว้นพรรคภูมิใจไทย) ต่างก็ระส่ำระสาย ขัดแย้งแตกแยกภายในพรรค รวมทั้งกระแสพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็อยู่ในช่วง “ขาลง” อีกด้วย ทุกอย่างจึงถือว่า เข้าทางพรรคเพื่อไทยอย่างมาก โอกาสที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตย หรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล จะมีคะแนนนิยมแบบ “สวิง” มีความเป็นไปได้สูง

จึงไม่แปลกที่จะมีการเคลื่อนไหว ของบางพรรคและส.ส.บางส่วน ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวเหมือนเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสูตรหาร 500 ซึ่งไม่ต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มากนัก(เลือกตั้งปี 62พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ)

และก็ชัดเจนว่า ถ้าแก้ไขแบบที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ พรรคเพื่อไทยจะลดความได้เปรียบลงทันที โอกาสชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ก็ยากจะเกิดขึ้นได้ เป็นโอกาสดีที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะมีโอกาสจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เพราะลำพังพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ไม่น่าจะมีที่นั่งส.ส.มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ต่อให้มีพรรคเล็กเข้าร่วม ก็ตาม?

กระนั้นก็ยังถือว่าเป็นเพียงความคาดหมายเท่านั้น ไม่แน่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งจริง สิ่งที่คาดหมายอาจไม่เป็นจริงก็เป็นได้  

แต่ที่แทบ “ฟันธง” ได้เลยก็คือ “เกม” การเคลื่อนไหวของส.ส.ที่เป็นอยู่ ก็เพื่อหมายมั่นที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ให้ได้และขณะเดียวกัน ก็เพื่อสกัด “พรรคเพื่อไทย” ไม่ให้ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” อย่างง่ายดาย นั่นเอง หรือไม่จริง!?